ความลับราชตระกูลตุตันคามุน ๔

 

เผยความลับราชตระกูลตุตันคามุน
(ตอนที่ 4)

การทำซีทีสแกนรอบใหม่ยังช่วยลบล้างข้อสันนิษฐานที่ว่า ขัตติยตระกูลนี้มีความผิดปกติมาแต่กำเนิด เช่น กลุ่มอาการมาร์แฟนที่อาจอธิบายถึงใบหน้าเรียวยาวผิดปกติ และลักษณะกึ่งชายกึ่งหญิงที่เห็นในศิลปกรรมยุคอมาร์นา เราไม่พบพยาธิสภาพดังกล่าว ดังนั้นภาพวาดที่แสดงรูปลักษณ์กึ่งชายกึ่งหญิงของอเคนาเตน น่าจะเป็นการสะท้อนอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับเทพอเตน ผู้เป็นทั้งชายและหญิงในร่างเดียว สมกับเป็นผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิต


[ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับอเคนาเตน จะมีลักษณะรูปหน้ายาว และค่อนไปทางกึ่งหญิงกึ่งชาย จึงมีผู้สันนิษฐานว่าเกิดจากกลุ่มอาการมาร์แฟน ซึ่งผลจากการตรวจวิจัย ไม่พบว่าพระองค์มีความผิดปกติของกลุ่มอาการดังกล่าว]


[ความผิดปกติของกลุ่มอาการมาร์แฟนคือ มีรูปร่างสูง ผอม ใบหน้า นิ้ว แขน ขา ยาวผิดส่วน]

แล้วใครคือพระมารดาของตุตันคามุนกันเล่า ผลวิสัยสร้างความประหลาดใจไม่น้อยที่พบว่า ดีเอ็นเอของหญิงสาวผู้อ่อนเยาว์ (เควี35วายแอล) ที่พบเคียงข้างพระศพของพระนางไทยีในสุสานย่อยภายในสุสานของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม (เควี35) ตรงกับของยุวกษัตริย์ ที่น่าประหลาดใจขึ้นไปอีกคือ ดีเอ็นเอของมัมมี่ดังกล่าวยังชี้ว่า พระนางเป็นพระธิดาในอเมนโฮเทปที่สามกับพระนางไทยี ผู้เป็นพระราชบุพการีของอเคนาเตนเช่นกัน นั่นหมายความว่า อเคนาเตนมีพระโอรสกับพระภคินีร่วมสายพระโลหิต และโอรสพระองค์นั้นคือก็ตุตันคามุน


[KV35YL หรือ หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์ คือพระมารดาของตุตันคามุน และพระนางยังเป็นภคินี(พี่น้องแท้ๆ) ในฟาโรห์อเคนาเตน ผู้เป็นพระราชบิดาของตุตันคามุนอีกด้วย แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าพระนางคือใครกันแน่ในหมู่พระธิดาทั้งห้าของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม และพระมเหสีไทยี]

การค้นพบดังกล่าวทำให้เราทราบว่า ทั้งพระมเหสีเนเฟอร์ตีติและพระราชาและพระชายาคิยาในฟาโรห์อเคนาเตน ไม่น่าจะเป็นพระมารดาของตุตันคามุน เพราะไม่มีหลักฐานจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า ทั้งสองพระองค์เป็นพระภคินีร่วมสายพระโรหิตกับอเคนาเตน เราทราบชื่อพระธิดาทั้งห้าของอเมนโฮเทปที่สามกับพระนางไทยี แต่อาจไม่มีวันรู้ได้ว่าองค์ไหนเป็นผู้ให้กำเนิดหน่อเนื้อเชื้อไขของพระองค์กับอเคนาเตน แม้การสมสู่ร่วมสายโลหิต(incest) จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในหมู่สมาชิกราชวงศ์อียิปต์โบราณ แต่เชื่อว่าในกรณีนี้ ส่งผลต่อการสิ้นพระชนม์แต่วัยเยาว์ของพระโอรสผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของทั้งสองพระองค์

[ฟาโรห์ตุตันคามุนทรงประทับนั่ง โดยมีพระมเหสีอังเคเซนามุนอยู่เคียงข้าง]

ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอซึ่งได้รับการดีพิมพ์ในวารสารของแพทยสมาคมแห่งอเมริกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์(2010) ยิ่งทำให้มั่นใจว่า พันธุศาสตร์น่าจะเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อียิปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้ร่วมกับการศึกษาทางรังสีวิทยาของมัมมี่ และความรู้ที่ได้จากบันทึกทางโบราณคดี


[พระบาทของตุตันคามุน ซึ่งการทำซีทีสแกนเผยให้เห็นว่ามีความผิดปกติของโรคเท้าปุก]

ความจริงข้อนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดในความพยายามสืบเสาะสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของตุตันคามุน ตอนที่เราเริ่มการศึกษาครั้งใหม่นี้ อัชรอฟ เซลิม และทีมงาน ค้นพบสิ่งที่ไม่มีใครสังเกตเห็นในภาพทีซีสแกนก่อนหน้าที่ของพระองค์ นั่นคือ พระบาทซ้ายของตุตันคามุนเป็นโรคเท้าปุก(clubfoot) นิ้วพระบาทหนึ่งมีข้อพระอัฐิหายไป และพระะอัฐิบางส่วนของพระบาทข้างนั้นถูกทำลายจากภาวะการตายเฉพาะส่วน (necrosis) ก่อนหน้านี้นักวิชาการเคยค้นพบธารพระกร(ไม้เท้า) กว่า 130 องค์ ทั้งที่มีสภาพสมบูรณ์ หรือเป็นเพียงชิ้นส่วนในสุสานของตุตันคามุน บางอันมีร่องรอยการใช้งานอย่างชัดเจน


[ธารพระกรที่มีร่องรอยการใช้งานอย่างเห็นได้ชัด]

ทว่านักวิชาการบางกลุ่มแย้งว่า ธารพระกรเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจที่พบเห็นได้ทั่วไป และความเสียหายบริเวณพระบาทอาจเกิดจากกระบวนการทำมัมมี่ก็เป็นได้ แต่ผลการวิเคราะห์พบการงอกของกระดูกที่เกิดขึ้นตอบสนองต่อภาวะการตายเฉพาะส่วน ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่พระองค์ยังมีพระชมน์ชีพ และในบรรดาฟาโรห์ทั้งมวล มีเพียงตุตันคามุนเท่านั้นที่เราพบหลักฐานเป็นภาพจารึกของพระองค์ประทับขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทรงธนู หรือทรงขว้างไม้ซัด นี่ไม่ใช่ภาพของฟาโรห์ผู้ทรงธารพระกรเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ หากเป็นเพียงหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน


[ฟาโรห์ตุตันคามุนกษัตริย์ผู้ต้องทรงธารพระกรเพื่อช่วยเดิน]

โรคกระดูกน่าจะทำให้พระองค์ทรงทุพพลภาพ แต่คงไม่หนักหนาสาหัสถึงขนาดทำให้สิ้นพระชนม์ เพื่อศึกษาถึงสาเหตุที่น่าจะทำให้สิ้นพระชนม์ เราจึงทดสอบมัมมี่ของพระองค์เพื่อหาร่องรอยทางพันธุกรรมของโรคติดเชื้อหลายชนิด เมื่ออ้างอิงถึงการพบร่องรอยดีเอ็นเอของปรสิตพลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม (Plasmodium falciparum) หลายสายพันธุ์ ทำให้เรารู้แน่ชัดว่าฟาโรห์ตุตันคามุนทรงติดเชื้อไข้มาลาเรีย และที่สำคัญคือทรงติดเชื้อชนิดร้ายแรงที่สุดหลายต่อหลายครั้งเสียด้วย…


[ข้าวของเครื่องใช้ในสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนเมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพ]

โปรดติดตามตอนต่อไป

 

คลิปด้านล่างและภาพด้านบนจาก http://channel.nationalgeographic.com/

 

ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~

Credit: National Geographic 110
13 ก.ย. 54 เวลา 20:46 3,086 1 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...