ความลับราชตระกูลตุตันคามุน ๓

เผยความลับราชตระกูลตุตันคามุน
(ตอนที่ 3)

หลังจากสกัดดีเอ็นเอจากมัมมี่เพศชายอีกสามร่าง ซึ่งได้แก่ ยูยา อเมนโฮเทปที่สาม และมัมมี่นิรนามเควี55 ก็เข้าสู่กระบวนการสืบหาพระบิดาของตุตันคามุน


[ทางเข้าสุสาน KV55]


[ภาพจำลองสุสาน KV55]

นักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่า พระบิดาของตุตันคามุนน่าจะเป็นฟาโรห์อเคนาเตน โดยมีหลักฐานสนับสนุน คือ ชิ้นส่วนแผ่นศิลาหินปูนที่พบใกล้เมืองอมาร์นา ซึ่งมีจารึกเรียกขานตุตังค์อเตนและอังค์เซนปาอเตนว่าเป็นปิโยรสและปิยธิดา หรือบุตรและธิดาผู้เป็นที่รักยิ่งของกษัตริย์ เนื่องจากเรารู้ว่าอังค์เซนปาอเตนเป็นพระธิดาของอเคนาเตน จึงน่าเชื่อได้ว่าตุตังค์อเตน(หรือตุตันคามุมในเวลาต่อมา) เป็นพระโอรสของอเคนาเตนด้วยเช่นกัน


[พระบิดา : ตัวตนของพระบิดาของตุตันคามุน เป็นปริศนามาช้านาน หนึ่งในผู้ที่เข้าข่ายคือ อเคนาเตน ฟาโรห์นอกรีดผู้หันหลังให้เหล่าทวยเทพแห่งนครา และหันมานับถืออเตนหรือสุริยเทพเพียงพระองค์เดียว เมื่อปี 1907 นักโบราณคดีค้นพบมัมมี่สภาพผุพังร่างหนึ่งในสุสานเควี55 ซึ่งเป็นสุสานขนาดเล็กในหุบผากษัตริย์ จารึกเหนือหีบพระศพที่พระพักตร์ถูกสกัดออกไปทำให้เชื่อว่า ร่างที่อยู่ภายในอาจจะเป็นอเคนาเตน บัดนี้ ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอยืนยันแล้วว่า ที่คือมัมมี่ของพระโอรสในฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามกับพระนางไทยี ซึ่งเป็นพระราชบุพการีของอเคนาเตน ผู้เป็นพระบิดาของตุตันคามุนอีกทอดหนึ่ง]

แต่ก็ใช่ว่านักวิชาการทุกคนจะเชื่อหลักฐานชิ้นนี้ บางคนแย้งว่า พระบิดาที่แท้จริงของตุตันคามุน น่าจะเป็นสเมงห์คาเรผู้ลึกลับมากกว่า


[ตัวอย่าง ลักษณะของลายพิมพ์ดีเอ็นเอ]

เมื่อแยกดีเอ็นเอจากมัมมี่ทั้งหมดได้ ก็เหลือเพียงกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนในการเปรียบเทียบโครโมโซมวายของอเมนโฮเทปที่สาม มัมมี่เควี55 กับตุตันคามุน เพื่อหาความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม (เพศชายที่มีความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติจะมีรูปแบบดีเอ็นเอในโครโมโซมวายเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะจีโนมหรือกลุ่มยีน ในเซลล์ของผู้ชายส่วนนี้ได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากพ่อ) แต่หากต้องการระบุความสัมพันธ์ที่แม่นยำ ต้องอาศัยกระบวนการตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (genetic fingerprinting) ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะนอกเหนือจากโครโมโซมในจีโนมแล้ว ยังมีตำแหน่งเฉพาะที่ของรูปแบบการเรียงตัวอักษรดีเอ็นเอ ได้แก่ตัว เอ ที จี และ ซี ที่รวมกันเป็นรหัสพันธุกรรม ซึ่งจะแปรผันแตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละบุคคล ความแปรผันนี้รวมกันเป็นการเรียงลำดับซ้ำ ๆ ของตัวอักษรที่เหมือนกันสองสามตัว


[จำลองรูปแบบของการเรียงตัวอักษรของ DNA]

ตัวอย่างเช่น คน ๆ หนึ่งอาจมีการเรียงลำดับของตัวอักษรเหล่านี้ซ้ำกันสัก 10 ครั้ง แต่อีกคนหนึ่งที่ไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดอาจมีการเรียงลำดับของตัวอักษรแบบเดียวกันสูงถึง 15 ครั้ง ส่วนคนที่สามอาจถึง 20 ครั้งก็ได้ ความเข้ากันได้ของการเรียงลำดับสักสิบครั้ง ก็เพียงพอที่จะให้เอฟบีไอสรุปว่า ดีเอ็นเอที่พบในที่เกิดเหตุ กับของผู้ต้องสงสัยอาจเป็นคนคนเดียวกัน

การนำสมาชิกในครอบครัวที่พลัดพรากจากกันเมื่อ 3,300 ปีก่อนมาพบกันอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องฉุกละหุกเหมือนการไขคดีปริศนาฆาตกรรม ด้วยการเปรียบเทียบตำแหน่งความแปรผันเพียงแปดตำแหน่ง ที่เพียงพอให้ทีมงานวิเคราะห์ความน่าจะเป็นที่มากกว่าร้อยละ 99.99 ว่า ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามเป็นพระบิดาของมัมมี่นิรนามที่พบในสุสานเควี55 ซึ่งเป็นพระบิดาของตุตันคามุนอีกทอดหนึ่ง

[ภาพสลักของฟาโรห์อเคนาเตน กับพระมเหสีเนเฟอร์ตีติ พร้อมด้วยพระโอรสและพระธิดา]

ตอนนี้เรารู้ว่าได้พบร่างพระบิดาของตุตันคามุนแล้ว แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นใคร บุคคลต้องสงสัยอันดับต้น ๆ คือ อเคนาเตน และสเมงห์คาเร ผลการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่สรุปว่า ร่างที่พบเป็นชายหนุ่มอายุไม่เกิน 25 ปี ซึ่งอ่อนเยาว์เกินกว่าจะเป็นอเคนาเตน ผู้ให้กำเนิดธิดามาแล้วถึงสองพระองค์ก่อนขึ้นครองราชอาณาจักร เป็นเวลา 17 ปี ทำให้นักวิชาการส่วนมากตั้งสมมติฐานว่า มัมมี่นิรนามดังกล่าวน่าจะเป็นฟาโรห์สเมงห์คาเรผู้ลึกลับ


[สเมงห์คาเรผู้ลึกลับ ถูกเชื่อว่าเป็นฟาโรห์ผู้มีพระศิริโฉมหล่อเหลากว่าฟาโรห์พระองค์อื่น ๆ]

ถึงตอนนี้ ได้เวลาเรียกพยานปากใหม่เข้ามาช่วยไขปริศนา มัมมี่ที่เรียกขานกันว่า “สตรีสูงวัย” (เควี35อีแอล) ผู้มีเรือนพระเกศาดีแดงยาวสลวยประพระอังสา(บ่า) เส้นพระเกศานี้ได้รับการเปรียบเทียบทางสัณฐานวิทยา กับปอยพระเกศาที่พบในหมู่หีบพระศพจำลองในสุสานตุตันคามุน พร้อมคำจารึกพระนามราชินีไทยี มเหสีของอเมโฮเทปที่สาม และพระมารดาของอเคนาเตน การเปรียบเทียบดีเอ็นเอของสตรีสูงวัยกับดีเอ็นเอที่ได้จากมัมมี่พระบิดา และพระมารดาของพระนางไทยีที่เรารู้จักกันแล้ว ซึ่งก็คือ ยูยา และ ทูยู ทำให้เรายืนยันได้ว่า สตรีสูงวัยผู้นี้คือพระนางไทยี และพระนางก็พร้อมแล้วที่จะช่วยพิสูจน์ว่า มัมมี่เควี55 คือพระโอรสของพระนางหรือไม่


[มัมมี่สตรีผู้สูงวัย ต่อมาได้รับการพิสูจน์ได้ว่า เป็นพระอัยยิกาของฟาโรห์ตุตันคามุน]

แล้วพระนางก็ไม่ทรงทำให้เราผิดหวัง ผลการเปรียบเทียบดีเอ็นเอระบุชัดเจนว่า ทั้งสองพระองค์ทรงเกี่ยวดองกันทางสายพระโลหิต ผลการทำทีซีสแกนล่าสุดของมัมมี่เควี55 ยังเผยให้เห็นภาวะการเสื่อมของพระปิฐิกัณฐกัฐิ(กระดูกสันหลัง) ตามอายุ และการอักเสบที่ข้อพระอัฐิที่พระชานุและพระเพลา(ข้อกระดูดที่หัวเข่าและขา) ดูเหมือนว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ในช่วงพระชันษาใกล้ 40 มากกว่า 25 ที่เคยเชื่อกัน

เมื่อความคลาดเคลื่อนเรื่องอายุเป็นที่กระจ่างชัดแล้ว เราจึงสามารถสรุปได้ว่า มัมมี่เควี55 ผู้เป็นโอรสของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามกับพระนางไทยี และพระบิดาของตุตันคามุน น่าจะเป็นฟาโรห์อเคนาเตนมากที่สุด แต่เนื่องจากเรามีข้อมูลเกี่ยวกับสเมงห์คาเรน้อยมาก จึงไม่อาจตัดพระองค์ทิ้งไปได้เสียทีเดียว

โปรดติดตามตอนต่อไป

 

คลิปด้านล่างและภาพด้านบนจาก http://channel.nationalgeographic.com/

 

ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~

Credit: National Geographic 110
13 ก.ย. 54 เวลา 20:30 4,159 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...