ความลับราชตระกูลตุตันคามุน ๒

เผยความลับราชตระกูลตุตันคามุน
(ตอนที่ 2)

การที่ตุตังค์อเตนหวนคืนสู่ทีบส์ และเปลี่ยนพระนามเป็นตุตันคามุน เท่ากับเป็นการประกาศตนไม่ยอมรับพฤติกรรมนอกรีตของฟาโรห์อเคนาเตน และหันกลับไปถวายสักการะแด่เทพอมุนดังเดิม


[รูปสลักของเทพอมุนหรืออเมนรา]

สิบปีหลังจากขึ้นครองราชย์ ตุตันคามุนก็สิ้นพระชนม์ลงโดยปราศจากผู้สืบสันตติวงศ์ พระศพถูกฝังอย่างเร่งรีบในหลุมศพขนาดเล็กที่ดูเหมือนจงใจทำขึ้นสำหรับสามัญชนมากกว่ากษัตริย์ (ทำให้สุสานของตุตันคามุนหลีกเรนจาดสายตาโจรปล้นสะดม ไม่ได้รับการแตะต้องจนกระทั่งมีการค้นพบในปี 1922) และเพื่อเป็นการตอบโต้การพระพฤตินอกรีตนอกรอยของอเคนาเตน ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ในยุคต่อ ๆ มาได้ทำลายร่องรอยเกือบทั้งหมดของเหล่ากษัตริย์แห่งอมาร์นา รวมทั้งตุตันคามุน ไปจากหน้าประวัติศาสตร์


[ยุวกษัตริย์ ฟาโรห์ตุตันคามุน (KV62) ผู้เป็นทายาทของการอภิเษกสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์ร่วมสายโลหิต และได้รับการศึกษามากที่สุดพระองค์หนึ่งนี้ ทรงทนทุกข์ทรมานจากพระอาการพระบาทปุก(เท้าผิดรูป) ตั้งแต่กำเนิด การสมรสกันเองระหว่างพี่น้องอาจเป็นสาเหตุของความพิกลพิการ และอาจถึงกับทำให้พระองค์ไม่สามารถให้กำเนิดรัชทายาทกับพระมเหสี ที่อาจเป็นพระภคินีต่างพระมารดา แต่ถึงแม้พระองค์จะทรงมีความผิดปกติอย่างไรในพระชนมชีพ มรดกที่ทรงฝากไว้ตราบชั่วนิรันดร์ คือ ภาพลักษณ์แห่งความสมบูรณ์แบบอันเจิดจรัส นั่นคือ หน้ากากครอบพระพักตร์ทองคำ อันเป็นสิ่งที่ชาวอียิปต์โบราณยึดถือประหนึ่งพระมังสาของเหล่าทวยเทพ]

ทว่าความพยายามที่จะลบร่องรอยความทรงจำเกี่ยวกับพระองค์ กลับเป็นการช่วยรักษาพระศพและสุสานของตุตันคามุนมาได้จนทุกวันนี้ ไม่ถึง 100 ปี หลังการสิ้นพระชนม์ ที่ตั้งของสุสานของพระองค์ก็เลือนหายไปจากความทรงจำ เร้นจากสายตาโจรปล้นสะดมด้วยสิ่งปลูกสร้างที่สร้าบทับเหนือสุสานพอดี ทำให้ไม่ได้รับการแตะต้องจนกระทั่งได้รับการค้นพบในปี 1922 กระนั้นหลักฐานและบันทึกทางโบราณคดี ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างเรื่องความสัมพันธ์อันใกล้ชิดภายในราชตระกูลของยุวกษัตริย์พระองค์นี้ได้


[พระอัยกา : อเมนโฮเทปที่สาม(KV35) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพระอัยกา(ปู่) ของตุตันคามุน ทรงปกครองบ้านเมืองในยุครุ่งโรจน์ เมื่อ 3,400 ปีก่อน มัมมี่ของพระองค์ได้รับการฝังพร้อมด้วยทรัพย์ศฤงคาร หลายร้อยปีต่อมา นักบวชที่ต้องการปกป้องพระศพของบุรพกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์จากพวกลักลอบขุดสุสาน ได้ห่อหุ้มร่างพระองค์ด้วยผ้าลินิน และนำมาฝังรวมกัน นักโบราณคดีพบพระศพของอเมนโฮเทปที่สามเมื่อปี 1898 พร้อมกับมัมมี่เชื้อพระวงศ์พระองค์อื่น ๆ อีกมากกว่าสิบร่างในสุสานเควี35 ซึ่งเป็นของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สอง พระอัยกาของพระองค์เอง]

นักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีจึงตัดสินใจที่จะวิเคราะห์ดีเอ็นเอของตุตันคามุน รวมทั้งดีเอ็นเอของมัมมี่อื่น ๆ อีก 10 ร่าง ที่สันนิษฐานว่าเป็นพระประยูรญาติใกล้ชิดที่สุด ในปี 2008 นักพันธุศาสตร์รับรองว่า ศาสตร์แขนงนี้ก้าวหน้ามากพอให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ จึงตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมขึ้นสองแห่ง แห่งแรกที่ชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์อียิปต์ แห่งที่สองที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร และได้ทำซีทีสแดนมัมมี่ทุกร่างภายใต้การดูแลของอัซรอฟ เซลิม และซาฮาร์ ซาลีม จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร

[พระอัยยิกา : พระนางไทยี(KV35EL) ในบรรดาพระศพที่พบในสุสานเควี35 มีมัมมี่นิรนามที่เคยเรียกขานกันแต่เพียงว่า "หญิงผู้สูงวัย" (Elder Lady) รวมอยู่ด้วย บัดนี้ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอระบุว่า สตรีสูงศักดิ์ผู้เลอโฉมพระองค์นี้คือพระนางไทยี มเหสีของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม พระธิดาในยูยาและยูทู คู่สามีภรรยาสามัญชนที่ถูกค้นพบเมื่อปี 1905 ในสุสานส่วนตัว(เควี46) พระศพของพระอัยยิกา(ย่า) แห่งฟาโรห์ตุตันคามุนมีพระกรซ้ายพาดทับพระอุระ ซึ่งตีความกันว่าเป็นท่วงท่าของราชีนีในการฝังพระศพ]

พวกเขารู้มาก่อนหน้านี้แล้วว่า มัมมี่ 4 ร่างจากทั้งหมดเป็นใครบ้าง หนึ่งคือฟาโรห์ตุตันคามุนซึ่งพระศพยังอยู่ในสุสานในหุบผากษัตริย์ ส่วนอีกสามร่างจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ ได้แก่ ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม ยูยาและยูทู ผู้เป็นบิดาและมารดาของพระนางไทยี ราชินีผู้ยิ่งใหญ่ในฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม ส่วนมัมมี่ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้นั้นประกอบด้วยชายที่พบในสุสานลึกลับแห่งหนึ่งในหุบผากษัตริย์ที่เรียกกันว่า เควี55(KV55) ทั้งนี้หลักฐานทางโบราณคดีและลายลักษณ์อักษรชี้ไปในทางที่ว่า มัมมี่ร่างนี้น่าจะเป็นอเคนาเตนหรือไม่ก็สเมงห์คาเร


[มัมมี่ที่พบในสุสาน KV35]

การสืบหาพระมารดาของฟาโรห์ตุตันคามุนในครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่มัมมี่หญิงนิรนาม 4 ร่าง สองร่างในจำนวนนี้เรียกกันว่า “สตรีผู้สูงวัย”(Elder Lady) และ “หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์”(Younger Lady) ถูกค้นพบในปี 1898 โดยผ้าพันพระวรกายถูกแกะออกและพระศพถูกวางไว้อย่างไม่มีพิธีรีตองในสุสานย่อย ภายในสุสานของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สอง(เควี35) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเหล่านักบวชเป็นผู้นำมาซุกซ่อนไว้หลังสิ้นสุดยุคราชอาณาจักรใหม่เมื่อราว 1000 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนอีกสองร่างเป็นมัมมี่เพศหญิงที่พบในสุสานขนาดเล็ก(เควี21) ในหุบผากษัตริย์ และท้ายที่สุดพวกเขาได้สกัดดีเอ็นเอจากซากทารกสองร่างที่พบในสุสานตุตันคามุน ซึ่งหากทำสำเร็จ เราอาจค้นพบชิ้นส่วนที่ขาดหายของปริศนาแห่งราชวงศ์ที่ยาวนานถึงห้าชั่วคน


[พระปัยกา และ พระปัยยิกา (ตาทวด-ยายทวด) : ยูยา(ซ้าย) และ ยูทู(ขวา) ของฟาโรห์ตุตันคามุน]

ในการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจำนวนมากพอเพื่อนำมาวิเคราะห์ นักพันธุศาสตร์ได้ทำการสกัดเนื้อเยื่อจากหลาย ๆ จุดทั่วร่างของมัมมี่ โดนมักเจาะลึกลงไปในกระดูก เพราะน่าจะเป็นตำแหน่งที่ตัวอย่างไม่มีโอกาสปนเปื้อนดีเอ็นเอของนักโบราณคดีรุ่นก่อน ๆ หรือของนักบวชผู้ประกอบพิธีทำมัมมี่ และนักวิจัยเองก็ต้องระวังอย่างมากไม่ให้ดีเอ็นเอของตนเองเปื้อนไปกับมัมมี่ด้วยเช่นกัน หลังจากสกัดตัวอย่างเสร็จแล้ว ดีเอ็นเอจะถูกนำไปสกัดแยกสารประกอบที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งขี้ผึ้งและยางไม้ที่นักบวชใช้ในการรักษาสภาพศพ


[พระมารดา : ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอชี้ว่า มัมมี่ที่รู้จักกันในนาม "หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์" (Younger Lady) ไม่เพียงเป็นพระภคินีร่วมสายพระโลหิตกับมัมมี่เควี55 ซึ่งอาจเป็นฟาโรห์อเคนาเตน แต่ยังเป็นพระมารดาของพระโอรสในองค์ฟาโรห์ ซึ่งก็คือตุตันคามุน (การสมรสกันเองในหมู่พี่น้องเป็นเรื่องปกติสำหรับราชวงศ์อียิปต์) บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า อเคนาเตนอภิเษกสมรสกับทั้งพระนางเนเฟอร์ตีติ ผู้เลื่องลือ และสตรีนามคิยา แต่ไม่มีหลักฐานระบุว่าสตรีทั้งสองนางเป็นพระภคินีร่วมสายพระโลหิต หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์อาจเป็นหนึ่งในพระธิดา 5 พระองค์ เท่าที่รู้จักกันของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามกับพระยางไทยี]

หัวใจของการศึกษาในครั้งนี้อยู่ที่ฟาโรห์ตุตันคามุน หากการสกัดและแยกดีเอ็นเอจากพระศพได้ผล จะได้ดีเอ็นเอในสารละลายของเหลวใสพร้อมสำหรับการวิเคราะห์ แต่สารละลายที่ได้ครั้งแรกกลับออกมาเป็นสีดำขุ่น พวกเขาจึงต้องใช้เวลาทำงานกันอย่างหนักอีกหกเดือนเพื่อหาวิธีกำจัดสิ่งปนเปื้อน และหาตัวอย่างดีเอ็นเอที่พร้อมสำหรับการเพิ่มจำนวนและจัดลำดับต่อไป

โปรดติดตามตอนต่อไป

 

คลิปด้านล่างและภาพด้านบนจาก http://channel.nationalgeographic.com/

 

ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~

Credit: National Geographic 110
13 ก.ย. 54 เวลา 20:19 3,101 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...