ความลับราชตระกูลตุตันคามุน ๑

 

เผยความลับราชตระกูลตุตันคามุน
(ตอนที่ 1)

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีจะให้เกียรติแด่เหล่ากษัตริย์ฟาโรห์ และต้องการให้พวกเขาเหล่านั้นได้พักผ่อนอย่างสงบเพียงใด แต่ก็ต้องยอมรับว่าความลับของเหล่าฟาโรห์จะถูกล่วงรู้ได้ด้วยการศึกษามัมมี่ของพระองค์เท่านั้น


[การทำทีซีสแกนมัมมี่ฟาโรห์ตุตันคามุน]

เมื่อปี 2005 การทำทีซีสแกนมัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคามุนทำให้เราทราบว่า พระองค์หาได้สิ้นพระชนม์จากการถูกตี หรือถูกของแข็งกระแทกที่พระเศียรอย่างที่หลายคนเชื่อกัน ผลการวิเคราะห์ทำให้เราทราบว่า รูที่กระโหลกด้านหลังของพระเศียรเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทำมัมมี่ นอกจากนี้ผลการศึกษายังชี้ชัดได้ว่า พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 19 พรรษา และอาจเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บจากพระเพลาข้างซ้ายหัก


[ภาพจำลองใบหน้าของฟาโรห์ตุตันคามุน ซึ่งวิเคราะห์จากโครงหน้าของมัมมี่ของพระองค์]

อย่างไรก็ตาม ยังมีปริศนาอีกมากมายเกี่ยวกับฟาโรห์ตุตันคามุนที่การทำทีซีสแกนไม่สามารถคลี่คลายได้ แต่การที่ได้ศึกษามัมมี่ของพระองค์อย่างละเอียดมากขึ้น ทำให้เราได้ค้นพบข้อเท็จจริงอันน่าทึ่งเกี่ยวกับพระประวัติ ราชตระกูล และวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ

ย้อนไปเมื่อราว 1390 ปีก่อนคริสตกาล หรือหลายสิบปีก่อนที่ฟาโรห์ตุตันคามุมจะลืมตาดูโลก (พระองค์ทรงประสูติเมื่อ 1341 ปีก่อนคริสตกาล) ขณะนั้น ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามผู้เกรียงไกรทรงครองบัลลังก์อียิปต์ ปกครองจักรวรรดิกว้างใหญ่ไพศาลกินอาณาเขตถึง 1,900 กิโลเมตรจากแม่น้ำยูเฟรทีสทางตอนเหนือไปถึงแก่งที่สี่ของแม่น้ำไนล์ทางตอนใต้ ทำให้ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่สิบแปดพระองค์นี้ทรงมั่งคั่งมาก


[ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่3 เคียงคู่กับราชีนีไทยี และพระธิดา]


[มัมมี่ของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ฟาโรห์ผู้เกรียงไกรและมั่งคั่ง]

อเมนโฮเทปที่สามและพระนางไทยีราชินีผู้เรืองอำนาจ ทรงครองบัลลังก์นานถึง 37 ปี และบูชาทวยเทพที่บรรพกษัตริย์เคารพสักการะ โดยนับถือเทพอมุนเป็นเทพสูงสุด ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต่างเสวยสุขกันถ้วนหน้า ความมั่งคั่งและทรัพย์ศฤงคารหลังไหลสู่ท้องพระคลังจากดินแดนประเทศราช และดินแดนในอาณัตินอกราชอาณาจักร


[ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่4 หรืออเคนาเตน ผู้นำความเชื่อแบบเอกเทวนิยมมาใช้]

เมื่ออเมนโฮเทปที่สามสิ้นพระชนม์ลง อเมนโฮเทปที่สี่ พระโอรสองค์ที่สอง ได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีหัวก้าวหน้าอย่างประหลาด ทรงหันหลังให้เทพอมุนและเหล่าทวยเทพแห่งวิหารศักดิ์สิทธิ์มาสู่การนับถือเทพเจ้าองค์เดียว (เอกเทวนิยม) อันได้แก่เทพอเตน หรือสุริยเทพที่ปรากฏพระองค์ในรูปดวงสุริยา


[ภาพสลักเกี่ยวกับอเตน สุริยเทพ]

ในปีที่ 5 ของรัชกาล พระองค์ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น อเคนาเตน ซึ่งแปลว่า “บุรุษผู้มีคุณูปการต่ออเตน” และทรงยกสถานะของพระองค์เองขึ้นเป็นดั่งสมมติเทพ ทรงละทิ้งทีบส์ เมืองหลวงทางศาสนาแต่ดั้งเดิม เพื่อสร้างนครทางศาสนพิธีอันยิ่งใหญ่แห่งใหม่ ห่างออกไปทางตอนเหนือ 290 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันรู้จักในนามอมาร์นา


[ราชินีเนเฟอร์ตีติผู้เลื่องลือว่ามีพระศิริโฉมงดงามยิ่งนัก และยังมีผู้สันนิษฐานว่า ทรงขึ้นครองบัลลังก์หลังจากฟาโรห์อเคนาเตนสิ้นพระชนม์]

ณ ที่นั้น อเคนาเตน ทรงมีราชินีเนเฟอร์ตีติผู้เลอโฉมอยู่เคียงข้าง ทั้งสองพระองค์ประพฤติตนประหนึ่งสังฆราชแห่งเทพอเตน ซึ่งเท่ากับปลดเปลื้องอำนาจและความมั่งคั่งจากคณะนักบวชแห่งอมุน และเสริมศักดาบารมีให้แก่เทพอเตนอย่างสมบูรณ์

แต่ทว่ารัชสมัยของฟาโรห์อเคนาเตนกลับจบลงอย่างคลุมเครือ กล่าวคือ มีกษัตริย์หนึ่งหรือสองพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองในช่วงสั้น ๆ โดยไม่แน่ชัดว่าทรงอยู่ในอำนาจเคียงคู่กับอเคนาเตน หรืออยู่ในอำนาจหลังจากอเคนาเตนสิ้นพระชนม์ หรือทั้งสองกรณี และมีนักไอยคุปต์วิทยาหลายคนลงความเห็นว่า “กษัตริย์” พระองค์แรกในสองพระองค์ที่ว่านี้คือราชินีเนเฟอร์ตีติ ส่วนพระองค์ที่สองคือสเมงห์คาเรผู้ลึกลับ และแทบจะไม่เป็นที่รู้จักเลย


[หน้ากากครอบพระพักตร์ทองคำของฟาโรห์ตุตันคามุน]

สิ่งที่รู้แน่ชัดคือ กษัตริย์พระองค์ที่สามถัดจากอเคนาเตน ผู้ที่ประทับเหนือบัลลังก์คือยุวกษัตริย์วัย 9 พรรษา พระนามว่า ตุตังค์อเตน ในช่วงสองปีแรกของรัชกาล พระองค์และพระนางอังค์เซนปาอเตน มเหสี (เป็นธิดาในฟาโรห์อเคนาเตนกับพระนางเนเฟอร์ตีติ) ทรงละทิ้งเมืองอมาร์นาและหวนคืนสู่ทีบส์ ทรงฟื้นฟูและคืนความมั่งคั่งให้แก่วัดวาอารามและคณะนักบวช ตลอดจนเปลี่ยนพระนามของพระองค์เองเป็น “ตุตันคามุน”

โปรดติดตามตอนต่อไป

 

คลิปด้านล่างและภาพด้านบนจาก http://channel.nationalgeographic.com/

 

ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~

Credit: National Geographic 110
13 ก.ย. 54 เวลา 20:09 4,192 1 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...