(ต่อจากตอนที่ 2)
นักสำรวจนามเบลโซนี (Belzoni) ขุดค้นพบชับติในสุสานของฟาโรห์เซติที่ 1 (Sety I) แห่งราชวงศ์ที่ 19 ในหุบผากษัตริย์ถึงกว่า 700 ชิ้น ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากกว่าชับติที่พบในสมัยก่อน ๆ มาก
หลังจากนั้น ชับติในช่วงปลายของราชอาณาจักรใหม่ก็เริ่มมีฝีมือการแกะสลักที่ด้อยลงอีกครั้ง และดูเหมือนว่าในช่วงนี้ชับติจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในหมู่ชาวอียิปต์ที่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิตหลังความตาย เพราะราคาของชับติแบบเรียบง่ายในยุคนี้ มีค่าเพียงประมาณ 0.02 ดีเบน (Deben) เท่านั้น เรียกได้ว่าหาซื้อมาเป็นเจ้าของกันได้ง่ายมาก ในขณะที่โลงศพไม้ราคาประมาณ 20-40 ดีเบน และคัมภีร์มรณะ มีราคาสูงถึง 100 ดีเบนทีเดียว
ในช่วงรอยต่อระยะที่ 3 (Third Intermediate Period) เริ่มด้วยราชวงศ์ที่ 21 พวกเขาเริ่มเรียกหุ่นรับใช้พวกนั้นว่า “อูชับติ” ซึ่งในยุคนี้เริ่มใช้เครื่องดินเผาสีฟ้าสดใส และตกแต่งด้วยอักษรสีดำ อูชับติในยุคนี้มีรูปร่างกลับไปเป็นมัมมี่ดังเดิมอีกแล้ว
จุดที่น่าสนใจของอูชับติในยุคนี้คือ ชาวอียิปต์โบราณเริ่มที่จะแยกอูชับติออกเป็น 2 ชุด ใหญ่ ๆ นั่นคือ ชุดของนายงาน และชุดของคนงาน โดยชุดนายงานจะมีลักษณะเฉพาะคือ แนบแขนข้างหนึ่งไว้ข้างลำตัว ในขณะที่แขนอีกข้างถือไม้นวดข้าวเอาไว้ รูปสลักชุดนายงานนนี้จะถูกจัดให้มี 36 ตัว ส่วนอูชับติที่เป็นคนงาน จะอยู่ในร่างมัมมี่โพกผ้าดำที่ศีรษะ มีจำนวน 365 ตัว (นั่นคือ 1 ตัว ต่อหนึ่งวัน ตามปฏิทินของชาวอียิปต์โบราณ) และนายงาน 1 คนจะดูแลคนงานประมาณ 10 คน ทำให้สุสานยุคนี้มีพวกอูชับติอยู่ถึง 401 ตัวเลยทีเดียว
หลังจากช่วงราชวงศ์ที่ 21 เป็นต้นไป อูชับติก็เริ่มมีความประณีตลดลงอีก คุณภาพของอูชับติก็ดูจะลดน้อยลงไป แต่นักวิชาการก็ได้ขุดค้นพบอูชับติที่วิจิตรกว่าเดิมในช่วงราชวงศ์ที่ 25-26 โดยเฉพาะในช่วงราชวงศ์ที่ 25 ซึ่งเป็นช่วงการปกครองของฟาโรห์จากนูเบีย (Nubia) จะพบว่าฝีมือการสลักอูชับติในช่วงนี้สวยงามมาก
ในยุคปลาย (Late Period) ชาวอียิปต์โบราณนิยมฝังศพพร้อมอูชับติที่ทำขึ้นอย่างหยาบ ๆ และนิยมทำจากเครื่องเคลือบดินเผาที่ลงสีเขียวอ่อนและสีฟ้าร่วมร้อยชิ้น แต่ไม่มีการพบอูชับตินายงานอีกต่อไปแล้ว
เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราช (Alexander the Great) เข้ายึดครองอียิปต์ได้เมื่อประมาณ 332 ปี ก่อนคริสตกาล อียิปต์โบราณก็เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ยุคกรีก-โรมัน (Greco-Roman) ซึ่งถือว่าเป็นช่วงการปกครองของราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemy) อูชับติที่พบในช่วงนี้มีความแตกต่างกันในด้านคุณภาพอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ บ้างก็สลักอย่างวิจิตร บ้างก็ทำขึ้นมาอย่างหยาบ ๆ
นอกจากนั้นจารึกที่สลักไว้บนตัวอูชับติในยุคนี้ บางครั้งยังเป็นการจารึกแบบหลอก ๆ ไม่ได้ใช้ภาษาอียิปต์โบราณอย่างแท้จริงในการจารึก ซึ่งอาจเนื่องมาจาก ไม่มีใครในช่วงนี้ที่จะเข้าใจระบบอักษรภาพอันซับซ้อนของอียิปต์โบราณได้เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว
และเมื่อราชวงศ์ปโตเลมีถึงกาลอวสาน อูชับติ หรือหุ่นรับใช้ของชาวไอยก็ถึงกาลอวสานลงไปด้วย…
—จบแล้วค่ะ—
เหมือนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปด้วยเลย
ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~