"ชับติ" หุ่นรับใช้ของไอยคุปต์ ตอนที่ ๒

(ต่อจากตอนที่1)

 

เรื่องราวทั้งหมดอาจจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นราชวงศ์ (Early Dynastic Period) จากสุสานหลวงของเหล่าฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่ 1 ที่อุม เอล-คาอับ (Umm el-Qa’ab) ในเมืองอไบดอส (Abydos) พบหลักฐานที่น่าจะเป็นการฝัง หรืออาจจะบูชายัญบรรดาทาสรับใช้เอาไว้ใกล้ ๆ กับสุสานของผู้ตายที่เคยเป็นเจ้าของทาสรับใช้เหล่านั้น โดยมักมีช่อง หรือห้อง สร้างไว้ข้าง ๆ สุสานของฟาโรห์ในยุคนี้อยู่เสมอ

อาจเป็นไปได้ว่า แนวคิดเรื่องการบูชายัญและฝังคนรับใช้ไปกับพระศพของฟาโรห์ เพื่อให้ไปช่วยพระองค์ในชีวิตหลังความตายนั้น ดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นและอาจสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิดจากแนวคิดเดิมๆ มาเป็นการใช้ “รูปแกะสลัก” เพื่อให้ไปทำงานแทนผู้ตายในที่สุด

ชับติในยุคแรกเลยนั้น พบในช่วงรอยต่อระยะที่ 1 (First Intermediate Period) เรามักจะพบรูปปั้นไม้แกะสลักเป็นรูปช่างฝีมือ ช่างทอผ้า รวมทั้งช่างหินต่าง ๆ บ้างก็สลักเป็นรูปสตรีฝังอยู่ในโลงศพหรือสุสานของคนในยุคนี้ มีความเป็นไปได้ว่า การที่รูปปั้นแต่ละรูปที่พบในช่วงนี้ กำลังทำหน้าที่ของตนอย่างขะมักเขม้นอยู่ในอีกโลกหนึ่ง พวกมันถือเป็นต้นกำเนิดของชับติ ถึงแม้ว่ารูปร่างหน้าตาของรูปสลักยุคนี้จะไม่เหมือนชับติที่คุ้นตากัน และยังไม่มีการสลักคาถาใด ๆ ลงไปบนตัวก็ตาม

ชับติแท้ ๆ ที่มีรูปร่างคุ้นตา เริ่มต้นในยุคต้นของราชอาณาจักรกลาง (Middle Kingdom) โดนที่แรก ๆ มีการแกะสลักอย่างหยาบ ๆ ไม่มีการจารึกข้อความใด ๆ ลงไป และใช้วัสดุหาง่ายหลากหลายชนิด เช่น ขึ้ผึ้ง หิน ดินเหนียว และไม้ ต่อมามีการทำชับติอย่างประณีตยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าในยุคนี้ชับติยังมีการห่อพันด้วยผ้าลินิน และวางในโลงศพขนาดเล็กที่สร้างไว้สำหรับหุ่นชับติโดยเฉพาะ

ชาวอียิปต์โบราณในยุคนี้สร้างชับติขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของผู้ตายเอง นั่นเลยทำให้เราพบชับติในสุสานสมัยนี้เพียงสุสานละตัว ซึ่งสื่อถึงการเป็นตัวแทนเจ้าของสุสานเพียงคนเดียวเท่านั้นนั่นเอง

บ่อยครั้งในยุคอาณาจักรกลาง ที่เราพบว่าคัมภีร์ที่เรียกว่า “จารึกโลงศพ” (Coffin Texts) ในสมัยนี้มีความเกี่ยวข้องกับชับติด้วย และชับติในช่วงปลายราชอาณาจักรกลางก็เริ่มมีการจารึกยศและนามของเจ้าของ และส่งผลให้เริ่มมีการจารึกคาถาลงไปบนตัวชับติเมื่อประมาณปลายราชอาราจักรกลางอีกด้วย

เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุครอยต่อระยะที่ 2 (Second Intermediate Period) เริ่มพบว่าฝีมือการทำชับติของชาวอียิปต์โบราณลดระดับลงจากเดิมมากพอสมควร มีลักษณะเหมือนแท่งไม้แกะสลักหยาบ ๆ มีการจารึกนามลงไปด้วยอักษรเฮียโรติก มากกว่าที่จะเป็นเฮียโรกลิฟฟิค

หลักจากที่ชับติในสมัยรอยต่อระยะที่ 2 สลักไว้ไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ ในยุคราชอาณาจักรใหม่จึงเหมือนเป็นการฟื้นฟูศิลปะและวิธีการสลักชับติขึ้นมาอีกครั้ง เพราะชับติในยุคนี้มีความวิจิตร งดงาม และมีคุณภาพดีกว่ายุคก่อน ๆ อย่างเห็นได้ชัด และยังแสดงให้เห็นว่าชับติ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในร่างมัมมี่เสมอไป เพราะมีการพบชับติที่แต่งองค์ทรงเครื่องด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์แบบคนธรรมดาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนชับติที่ฝังอยู่ในสุสานของราชอาณาจักรใหม่นี้มีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ความที่แต่เดิมชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า ชับติเป็นตัวแทนของผู้ตายทำให้พบชับติเพียงสุสานละตัว แต่ในราชอาราจักรใหม่ ชาวอียิปต์มองชับติเป็น “คนรับใช้” ที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าของสุสานในชีวิตหลังความตายมากกว่า

วัสดุที่ใช้ทำชับติในยุคนี้ก็หลากหลายขึ้นกว่าสมัยอาณาจักรกลาง โดยมีการใช้อลาบาสเตอร์ ดินเผา สัมฤทธิ์ แก้ม และไม้มะเกลือด้วย

ในช่วงราชอาณาจักรใหม่ เราพบว่าชับติจะสลักอยู่ในรูปของมัมมี่ แขนทั้งสองข้างไขว้กัน บ้างก็ถือเครื่องมือทำการเกษตร หรือสัญลักษณ์ทางพิธีศพ แต่หลังจากยุคของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 4 (Tuthmosis IV) แห่งราชวงศ์ที่ 18 เป็นต้นมา รูปร่างลักษณะของชับติก็เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น เริ่มมีชับติที่ถือเครื่องมือการทำงานหลายชนิดมากขึ้น และมีชับติที่สวมเสื้อผ้าแบบชุดคนธรรมดาด้วย

พอมาถึงในรัชสมัยของฟาโรห์นอกรีตอเคนาเตน (Akhenaten) ชับติในสมัยของพระองค์มีการจารึกถวายพรแด่เทพอเตน (Aten) ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์เดียวที่พระองค์นับถือ แท้จริงแล้วในช่วงราชอาณาจักรใหม่นี้ เหล่าชับติส่วนมากจะได้รับการจารึกพระนามของเจ้าของ และจารึกคาถาในการ “ปลุกชับติ” หรือที่เรียกเชิงวิชาการว่า “คัมภีร์มรณะบทที่ 6″ เอาไว้อีกด้วย

[คัมภีร์มรณะบทที่ 6 ที่ใช้ปลุกชับติ เป็นภาษาอียิปต์โบราณ]

คัมภีร์มรณะบทที่ 6 นี้ กล่าวไว้ว่า “โอ้ ชับติ ถ้าข้าเรียกขานเจ้าให้ทำงานใด ๆ ก็ตามในดินแดนแห่งความตายนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานหรืออุปสรรคที่ยากเย็นเพียงใด เจ้าควรเสนอตัวต่อข้าในทุก ๆ โอกาสที่ข้าต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการไถหว่าน ผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำ หรือขนย้ายทรายจากตะวันออกไปยังตะวันตก ขอให้เจ้าจงกล่าวว่า ‘ข้าอยู่นี่’” …

—โปรดติดตามตอนต่อไป—

ปล.คลิปด้านล่างขำๆนะคะ จะได้ผ่อนคลาย อิอิ

ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~

Credit: Indepencil.com
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...