"ชับติ" หุ่นรับใช้ของไอยคุปต์ ตอนที่ ๑

เมื่อกว่า 3,000 ปีก่อนคริสตกาล วิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณเริ่มต้นขึ้นจากการที่พวกเขาเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ล่าสัตว์ตามทะเลทราย จนรู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และอาศัยประโยชน์จากการขึ้นลงอย่างเป็นระบบของน้ำในแม่น้ำไนล์

พวกเขาเริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขยายขนาดของชุมชน เรียนรู้และคิดค้นศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ สร้างสิ่งก่อสร้างและอนุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่

แล้วพวกเขาก็สังเกตเห็นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ที่พวกเขานับถือเป็นสุริยเทพรา (Ra) ว่าทรงถือกำเนิดขึ้นใหม่ทุกวัน ดังนั้น พวกเขาจึงมีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย พวกเขาเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งหนึ่งได้ไม่จบสิ้น ดังเช่นเทพรา

ด้วยเหตุนี้ ชาวอียิปต์โบราณจึงมักสร้างสุสานและวิหารบูชาเทพเจ้าด้วยหินที่คงทนแข็งแรง เนื่องจากวิหารคือที่ประทับของเทพเจ้า และสุสานคือที่พำนักของผู้ตายไปชั่วนิรันดร์ จึงไม่น่าแปลกที่พีระมิดมาสตาบา(Mastaba) หรือสุสานในหุบผากษัตริย์จะถูกตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม สามารถอยู่ท้าแดดท้าลมได้หลายพันปี แต่บรรดาบ้านเรือนและพระราชวังของอียิปต์กลับถูกสร้างขึ้นด้วยอิฐโคลนตากแห้ง เมื่อถูกน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเล็กเพียงน้อยก็อาจพังทลายลง จนแทบไม่เหลือซากหรือหลักฐานเกี่ยวกับที่พักอาศัยของช่วอียยิปต์โบราณให้เราได้ศึกษามากนัก นั่นเป็นหลักฐานอย่างดีว่า ชาวอียิปต์โบราณให้ความสำคัญกับชีวิตหลังความตายมากกว่าชีวิตในโลกนี้มากมายนัก

ถึงแม้ว่าเราจะพอพบเห็นหลักฐานเกี่ยวกับบ้านเรือน และชุมชนของชาวอียิปต์โบราณในสมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ได้บ้างจากเมืองเดียร์ เอล-เมดินา (Deir el-Medina) ที่ช่วยให้เราเข้าใจวิธีชีวิตชุมชนของช่างขุดเจาะสุสานในหุบผากษัตริย์ที่เมืองธีบส์ (Thebes) ได้ดีขึ้น แต่ภาพวิธีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณที่เห็นได้ชัดเจนกว่า คือภาพจากสุสานของชนชั้นสูงในสมัยอาณาจักรใหม่

ในสุสานของบรรดาขุนนางในสมัยอาณาจักรใหม่ ทำให้เราเห็นภาพวิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีภาพที่พวกเขากำลังทำไร่ไถนา หว่านข้าว เกี่ยวข้าว มีภาพที่แสดงถึงการทำงานก่อสร้างต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า ชีวิตประจำวันของพวกเขาไม่ได้ง่ายเลย ไหนจะต้องขุดคูคลองเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำเข้ามายังแปลงเกษตร ไหนยังอาจจะถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานในการก่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์พันลึกต่าง ๆ แต่ว่าชีวิตของชนชั้นสูงที่ร่ำรวยกลับสบายกว่า เพราะมีคนรับใช้คอยปรนนิบัติ ทำให้มีชีวิตอยู่อย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ในคฤหาสน์หลังใหญ่

เราอาจคิดว่า งานที่แสนเหน็ดเหนื่อยและน่าเบื่อเหล่านี้จะสิ้นสุดลงเมื่อเราสิ้นลมหายใจ แต่ในความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณกลับตรงกันข้าม พวกเขาเชื่อว่าเมื่อสิ้นชีวิตลงและพร้อมจะใช้ชีวิตหลังความตายแล้ว สิ่งที่รออยู่ตรงหน้าในดินแดนหลังความตาย ก็ไม่ต่างไปจากวิถีชีวิตปัจจุบันของพวกเขาสักเท่าไหร่ พวกเขายังต้องไถนา หมักเบียร์ อบขนมปัง เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ เหมือนเคย และนั่นหมายความว่า งานหนักและน่าเบื่อก็ยังคงมีอยู่ไม่สิ้นสุด แม้แต่ในชีวิตหลังความตายที่ทุกคนต่างปรารถนา

คำถามของชาวอียิปต์โบราณคือ “ตายแล้ว จะต้องลำบากอีกทำไม?” และด้วยความคิดนี้ ชาวอียิปต์โบราณจึงคิดที่จะฝังรูปแกะสลักซึ่งทำหน้าที่เหมือน “คนรับใช้” ลงไปในสุสานด้วย เพื่อให้พวกมันช่วยทำงานต่าง ๆ แทนตัวผู้ตายเองในชีวิตหลังความตาย

รูปแกะสลักเหล่านี้รู้จักกันในนาม “ชับติ (Shabti)” หรือ “ชวับติ (Shawabti)” หรือ “อูชับติ (Ushabti)” ซึ่งทั้งสามคำนี้หมายความถึงของสิ่งเดียวกัน แม้จะไม่ได้มีความหมายเดียวกันเสียทีเดียว โดยมีความหมายแตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย

ในยุคแรก ๆ รูปปั้นสลักเหล่านี้เรียกว่า “ชับติ” ส่วนรูปสลักที่พบในเดียร์ เอล-เมดินา ช่วงราชวงศ์ที่ 17 และ 18 จะเรียกว่า “ชวับติ” และหลังจากราชวงศ์ที่ 21 เป็นต้นมา จะเรียกว่า “อูชับติ”

คาดว่า “ชับติ” ในยุคแรก ๆ น่าจะมาจากคำว่า “ชวับ (Shawab)” หรือ “ชับ (Shab)” ที่แปลว่า “กิ่งไม้” เพราะใช้เป็นวัตถุดิบในการแกะสลัก ส่วนคำว่า “อูชับติ” น่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า “อูเชบ (Usheb)” ซึ่งเป็นภาษาอียิปต์โบราณ แปลว่า “คำตอบ” นั่นเอง…

หน้าที่หลักของชับติคือ ช่วยทำงานแทนเจ้าของที่เสียชีวิตไปแล้ว ตามแต่จะเรียกใช้ ส่วนมากจะเป็นรูปสลักคนในร่างมัมมี่ ขนาดมีตั้งแต่ 10-30 เซนติเมตร สามารถสลักขึ้นได้จากวัสดุหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นขี้ผึ้ง ไม้ ดินเหนียว หิน แก้ว ดินเผาและสัมฤทธิ์ บางชิ้นมีการสลักคาถาเอาไว้บนชิ้นงานด้วย ซึ่งแต่ละยุคแต่ละสมัยในประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ ก็จะมีชับติที่มีรูปแบบและศิลปะที่แตกต่างกันออกไป

—โปรดติดตามตอนต่อไป—

 

อารยธรรมของอียิปต์ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าพิศวง..

 

ขอบคุณที่รับชมค่ะ^^~

 

Credit: Indepencil.com
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...