นักวิชาการไทย เผยพบไตรภูมิสมัยอยุธยาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติประเทศฝรั่งเศส
ชี้เป็นเอกสารสำคัญระดับชาติ ล้างความเชื่อสมัยอยุธยาไม่มีไตรภูมิ
(9 ก.ย.) นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มภาษา
และวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์(สวป.) กรมศิลปากร กล่าวว่า ทาง
สวป. ได้ค้นพบเอกสารชิ้นสำคัญระดับชาติชิ้นใหม่ คือ หนังสือไตรภูมิ ซึ่งสันนิษฐานว่าจะ
เป็นไตรภูมิในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยขณะนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง ศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย
บูรพา ได้ดำเนินการคัดลอกมาเพื่อนำให้สวป. รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญได้ดำเนินการตรวจสอบ
นายบุญเตือน กล่าวต่อว่า สิ่งที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากหนังสือ
ไตรภูมิเอกสารจากหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ไม่เคยถูกค้นพบในประเทศไทย เนื้อหาบาง
ส่วนต่างไปจากไตรภูมิฉบับอื่นๆ โดยได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอักขรวิธีต่างๆมาตรวจสอบ
แล้ว บ่งชี้ว่า หน้าต้นบอกชื่อหนังสือว่า ไตยภูมิพระมาไลย ต้นฉบับน่าจะมีอายุเก่าถึง
สมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะตัวอักษรที่บันทึกในหน้าแรกเป็นแบบที่เรียกว่า อักษรไทยย่อ
ซึ่งนิยมใช้กันในสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ปรากฏในหลักฐานหนังสือต่างๆหลายฉบับ เช่น
สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ.2231 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สำหรับ
เนื้อหาของไตรภูมิเล่มนี้แบ่งเนื้อหาหลักออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.เรื่องไตรภูมิ 2.เรื่องพระมาไลย
"เอกสารไตรภูมิเล่มนี้ ไม่เคยค้นพบในประเทศไทยมาก่อน นักวิชาการหลายคน
คิดว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่มีไตรภูมิที่เป็นลักษณะการเขียน มีเพียงสมุดภาพ
ไตรภูมิเท่านั้น ดังนั้นในทำเนียบวรรณคดีไทยจึงไม่ปรากฎว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา
มีไตรภูมิ การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยจะ
เสนอให้คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติขึ้นทำเนียบใหม่ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา
มีไตรภูมิด้วย ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่" นายบุญเตือน กล่าว
ทั้งนี้ที่มาของหนังสือไตรภูมิปรากฏครั้งแรก คือ ไตรภูมิกถา และไตรภูมิพระร่วง ซึ่งสมเด็จ
พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงเรียบเรียงขึ้นในสมัยสุโขทัย พ.ศ.1888 นอกจากนี้ยังมี
ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา หรือไตรภูมิฉบับหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
มหาราช โปรดฯให้ชำระเมื่อพ.ศ.2345 ขณะที่ไตรภูมิสมัยอยุธยานั้น เพิ่งปรากฏฉบับนี้เป็น
ฉบับแรก