คนฟังเสียงปลา ภูมิปัญญาพรานทะเลแห่งจะนะ

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ภาพ

“เหมือนอยู่ใต้กะทะครอบ”

รอหีม สะอุ ว่าอย่างนั้น–เมื่อแล่นเรือออกไปจนลิบฝั่ง ก็เห็นแต่ฟ้ากับน้ำ

เส้นขอบฟ้ารัดล้อมอยู่รอบทิศ ส่วนล่างเป็นพื้นน้ำและเหนือขึ้นไปคือโค้งฟ้าคลุมครอบ เหมือนอยู่ใต้กะทะ

กลางความเวิ้งว้างที่หมุดหมายหรือสถานที่เหมือนเป็นเรื่องสมมติ พรานทะเลต้องอาศัยดาวบนฟ้าเป็นเข็มทิศชี้ทาง

ลึกลงใต้ผืนน้ำ บางทีฝูงปลาในท้องทะเลอาจมีอยู่พอๆ กับพราวดาวบนท้องฟ้า แต่หากตามหากันไม่เจอก็อาจจับไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว

นี้เป็นเงื่อนไขที่ให้กำเนิด ดูหลำ – คนฟังเสียงปลา
เพียงหูแนบน้ำ

ดูหลำบอกได้ทันทีว่า ณ จุดหนึ่งจุดนั้น มีปลาอยู่บ้างหรือไม่? เป็นปลาชนิดไหน? ปริมาณเท่าใด-คุ้มไหมกับการจะลงแรงวางอวน?
เท่านั้น, น่านน้ำที่ดูกว้างใหญ่ก็ไม่กว้างเกินผืนอวนของชาวประมงพื้นบ้าน

พลันที่ได้ยินเสียงปลุกจากลูกชายเจ้าของบ้าน ผมลืมตาขึ้นมาพบเวลาตี ๓.๐๕ ของวันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ จากนาฬิกาบนฝาบ้านโต๊ะอิหม่ามรอหีม เด็กหนุ่มบอกว่าดลรอหีมให้มาตามไปลงเรือ

พอไปถึงท่าก็พบว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว รอแต่พวกเราสี่คนมาสมทบ

ชาวประมงตรงต่อเวลาโดยไม่ต้องพึ่งนาฬิกา เขารู้เวลาจากการอ่านดวงดาว และด้วยดาวดวงเดียวกันที่นำเขาไปสู่ทิศทางที่หมาย

เรือสามลำแล่นไล่กันไปกลางทะเลที่มืดมิด จุดหมายของวันนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะขาม ห่างจากหมู่บ้านไม่เกินหนึ่งชั่วโมงเรือ นับเป็นความโชคดีของพรานปลาแถบตลิ่งชัน ช่วงนี้ฝูงปลาเวียนเข้ามาใกล้หมู่บ้าน ทำให้พวกเขาไม่ต้องแล่นเรือไปไกล เวลาในการเดินทางที่ร่นเข้ามา ถูกแปรเป็นโมงยามในการทำงานของดูหลำ เมื่อมีเวลาสำหรับการฟังเสียงปลายาวนานขึ้น โอกาสที่จะพบกับฝูงปลาขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้มาก

ถึงที่หมาย เรือลำที่อยู่ข้างหน้าสุดสาดไฟให้สัญญาณ ดลรอหีมตอบรับสัญญาณจากเพื่อนด้วยการดับเครื่องยนต์ เรือทั้งสามลำเงียบเสียงลงเกือบพร้อมๆ กัน ถัดจากนั้นเรือซึ่งมีเครื่องยนต์ติดท้ายก็ถูกปล่อยให้ลอยลำโยกโยนไปตามแรง คลื่น

ผืนน้ำคืนสู่ความสงัด และท้องฟ้ายังมืดสนิท

เป็นห้วงยามและภาวการณ์ที่เอื้ออำนวยอย่างยิ่งสำหรับการทำงานของดูหลำ

สามทศวรรษที่ล่วงแล้ว ในหมู่ชาวประมงฝั่งตะวันออก ตั้งแต่สงขลา ปัตตานี ไปจนถึงนราธิวาส ไม่มีใครไม่รู้จัก ดาเรด-ลอดลาด ดาหมาด-กวาดเล ยีหมัด-สาเร่ ๓ ผู้ยิ่งยงแห่งทะเลจะนะ

คำหน้าเป็นชื่อและฉายาที่ตามท้ายหมายถึงกิตติศัพท์ที่ถูกยกย่องในความสามารถ

ดาเรด-ลอดลาด เป็นดูหลำที่เก่งมาก ผู้คนทุกหย่อมย่านร้านตลาดรู้จักเขา
ดาหมาด-กวาดเล ฝีมือจัดจ้านเป็นที่เลื่องลือ จับปลาได้มากเหมือนกวาดมาหมดทะเล
ยีหมัด-สาเร่ คือพรานทะเลที่เร่ร่อนหาปลาโชกโชนไปทั่วทุกน่านน้ำ

ทุกครั้งที่ใครขอให้เล่าเรื่องของ ดูหลำ หรือ คนฟังเสียงปลา รอหีม สะอุ จะตั้งต้นจากเรื่องราวของสามผู้ยิ่งยงแห่งทะเลจะนะเสมอด้วยความภาคภูมิใจ อาจารย์คนที่สอนให้เขาฟังเสียงปลาก็เป็นหนึ่งในนั้น

รอหีมเป็นคนของหมู่บ้านตลิ่งชันโดยกำเนิด ในวัยย่าง ๖๐ ปี เขาถูกยกย่องเป็นดูหลำรุ่นอาวุโสของหมู่บ้าน และเป็นผู้นำชุมชนที่คนในตำบลให้ความนับถือ

ยีหมัด(-สาเร่) ผู้มีศักดิ์เป็น เวาะ (ลุง-พี่ชายคนโตของแม่) พารอหีมออกเรือตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมปลาย กระทั่งจบการศึกษาภาคบังคับในระบบโรงเรียน เขาก็ออกรอนแรมทะเลกับยีหมัดไปถึงแถบแหลมตะลุมพุก นครศรีธรรมราช ไปเรียนวิชาฟังเสียงปลากันกลางทะเลกว้าง
แรมเดือนเขาเริ่มรู้จักเสียงปลา ต่อมาก็ฝึกจับทิศที่มาของเสียง กระทั่งสามารถรู้ขนาดของฝูงปลาจากลักษณะของเสียงหลังหัดฟังมาเป็นแรมปี ซึ่งบางคนไม่สามารถมาถึงขั้นนี้แม้จะฝึกฝนกันยาวนานตลอดชีวิต

ดูหลำรอหีมใช้ชีวิตเป็นพรานทะเลนานกว่า ๓๐ ปี และขึ้นฝั่งอย่างถาวรเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยเงื่อนไขด้านร่างกาย กับเหตุผลด้านในอีกบางข้อ

ส่วนความเป็นผู้นำชุมชนในฐานะ โต๊ะอิหม่าม รอหีมไม่อาจถอดถอนตัวอออกมาได้ แม้จะลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว เขายังคงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในตำบลอยู่เหมือนเดิมโดยเฉพาะในทางพิธีกรรม และทางจิตใจ ยิ่งในยามที่ท้องถิ่นถูกรุกรานจากโครงการขนาดยักษ์ เขายิ่งต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงกว่าเดิม

ทุกวันนี้ ผู้เฒ่าทะเลใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตประจำวันอยู่ที่ลานหอยเสียบ ใครก็ตาม–คนมุสลิมในหมู่บ้านหรือฝรั่งต่างชาติ นักศึกษาหรือนักวิจัย เอ็นจีโอหรือไทบ้านรากหญ้า

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีหรือผู้กำกับฯ สภ.อ.จะนะ ใครและใคร หากต้องการเจอเขาก็ต้องมาที่ลานหอยเสียบ

นักเขียนและช่างภาพก็ไม่มีข้อยกเว้น

โต๊ะอิหม่ามรอหีม สะอุ ที่เราได้มาเจอตัวจริงในตอนสายของวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ไม่มีบุคลิกและท่าทีอย่างที่วาดไว้ในใจ เขาเป็นคนอารมณ์ดีอย่างหาคนเหมือนได้ยาก เรียบง่ายไม่มีพิธีรีตอง และไม่หงุดหงิดกับการนั่งตอบคำถามของเด็กช่างซัก

ถึงเวลาที่เรือประมงจะคืนฝั่ง โต๊ะอิหม่ามนำเราไปที่ท่าเรือหน้าหมู่บ้านตลิ่งชัน เพื่อดูปริมาณปลาที่พรานทะเลในแต่ละลำจับมาได้ แล้วมานั่งคุยกันต่อบนศาลาริมท่าเรือ ที่ซึ่งผู้หญิงในหมู่บ้านมักมานั่งรอสามีของนางนำสินจากน้ำกลับคืนฝั่งอย่าง ปลอดภัย

“พอเราเกิดมาก็มีการฟังเสียงปลาอยู่ก่อนแล้ว” รอหีมเล่า หลังถูกถามถึงที่มาของภูมิปัญญาการฟังเสียงปลา “ต้นกำเนิดคงมาจากชาวประมงมุสลิม ในภาษายาวีเรียกคนฟังเสียงปลาว่า ยูสะแล บางท้องถิ่นเรียก ยูสะหลำ แต่ที่ตลิ่งชันเราเรียก ดูหลำ”

“ดูหลำทำงานอย่างไร? ครับ”

“ดำลงไปใต้พื้นน้ำใช้หูฟังเสียงร้องของปลา ต่างจากพวก กาน้ำ ของเรืออวนดำที่ใส่แว่นดำน้ำลงไปดูฝูงปลาตามจุดที่สร้างซั้ง กาน้ำใช้ตาดูปลา แต่ดูหลำใช้หูฟังเสียงหาฝูงปลา ตาเอาไว้ดูอันตรายเท่านั้น”

“ออกหาปลาโดยไม่ต้องมีดูหลำ ได้ไหม?”

“ถ้าจับโดยไม่ฟังเสียง บางทีตัวเดียวก็ไม่ได้ ในทะเลไม่ใช่มีปลาอยู่ทั่วไปหมด ไม่ใช่อย่างนั้น! ทดลองวางอวนดูในรัศมีสัก ๑๐๐-๒๐๐ เมตร บางทีไม่มีสักตัวเดียว แต่ถ้าวางตรงฝูงเป็นร้อยเป็นพันกิโลก็เป็นไปได้ ปลามันอยู่เป็นที่อยู่กันเป็นฝูง”

“โต๊ะอิหม่าม ช่วยเล่าเรื่องการออกทะเลหาปลาให้เราฟังบ้าง”
“ราว ๔๐ ปีก่อน ยังไม่มีเครื่องยนต์ การจับปลาจะทำกันใกล้ๆ ชายฝั่ง” โต๊ะอิหม่ามเริ่มเรื่องอย่างรัดกุม ก่อนจะฉายยาวเล่าประวัติศาสตร์การทำประมงของพรานทะเลแห่งจะนะ อย่างละเอียดโดยไม่ต้องแทรกคำถาม

ชาวประมงในสมัยนั้นจับปลาด้วย อวนตาเระ (หรืออวนเข็ญ) เป็นอวนทำจากเส้นด้าย ใช้เรือแจวขนาด ๘ ฝีพาย ๑ นายท้าย ออกไปวางอวนไม่ไกลจากฝั่ง โดยให้ดูหลำพาเรือส้มป้าน (หรือเรือเล็ก) ออกไปหาฝูงปลาก่อน อันที่จริงด้วยตัวเปล่าดูหลำสามารถอยู่กลางน้ำได้เป็นวันๆ เรือส้มป้านที่นำไปด้วยเอาไว้สำหรับพายตามฝูงปลา ช่วยให้ไปได้เร็วและเหนื่อยน้อยกว่าการว่ายน้ำไปเอง เมื่อเจอฝูงปลาก็ใช้ไม้พายตีน้ำ พรานปลาที่อยู่บนเรือแจวจะวางอวนเป็นแนวโค้ง แล้วเข็ญขึ้นหาฝั่ง อวนยาวเป็นกิโลเมตรต้องใช้คนเข็ญ ๗-๘ คน และใช้เวลาราว ๕-๖ ชั่วโมงกว่าจะถึงฝั่ง ปลาที่ล้อมติดจะเข้าไปรวมกันอยู่ในถุงท้ายอวนความจุ ๓-๔ ลำเรือ แต่อวนตาเระมีข้อจำกัด ใช้วางได้เฉพาะในเขตน้ำตื้นริมตลิ่งเท่านั้น ไม่สามารถจับปลากลางน้ำลึก

ต่อมาจึงเกิด อวนปาหยัง ตามประวัติเล่าว่า ต้นแบบมาจากความคิดของเจ้าอาวาสองค์หนึ่ง เรือของท่านล่มและมีของสำคัญจมลงใต้ทะเล ท่านจึงคิดค้นอวนที่ลากแล้วกดลงลึกถึงหน้าดิน ต่อมาประดิษฐกรรมของพุทธสาวกถูกชาวประมงมุสลิมนำมาปรับเป็นอวนที่ใช้วางใน น้ำลึกได้อย่างไม่จำกัด อวนปาหยังเป็นอวนด้ายและมีถุงอยู่ที่ท้ายเหมือนกับอวนตาเระ ใช้เรือลำเดียวแล่นใบออกจากฝั่ง วางอวนเป็นวงล้อมรอบบริเวณที่ดูหลำส่งสัญลักษณ์ว่ามีฝูงปลาอยู่ ดาเรด-ลอดลาด ดาหมาด-กวาดเล มีชื่อเสียงดังมากในยุคนี้

ไล่มาถึงเครื่องมือที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โต๊ะอิหม่ามรอหีมเดินนำเราออกไปที่ท่าเรือ ชี้และหยิบจับของจริงให้ดูประกอบการอธิบาย

เรือติดเครื่องท้ายขนาดกระดูกงูยาว ๑๕ ศอก จอดเรียงรายเต็มท่า บางลำเขียนรูปลายอย่างวิจิตรคล้ายเรือกอและแถบปัตตานี นราธิวาส แต่โต๊ะอิหม่ามแนะให้สังเกต เรือกอและ รูปทรงเรือจะเหมือนกันทั้งหัวและท้าย ส่วนรูปธรรมของ เรือท้ายตัด แห่งจะนะก็เป็นตามชื่อที่เรียกขาน ท้ายห้วน-เป็นเรือที่ถูกตัดหาง

อวนที่ใช้เป็นอวนไนล่อนใสรูปตาข่ายกว้างไม่เกินวา ริมด้านบนของแถบอวนติดทุ่นฟองน้ำ ด้านล่างถ่วงตุ้มตะกั่ว ยาว ๗๐ วาต่อผืน การใช้งานในเรือลำหนึ่งๆ อาจใช้อวน ๒๐-๓๐ ผืนมาเย็บต่อกัน ขนาดของตาอวนระหว่าง ๓.๘-๔.๗ เซนติเมตร ใช้ตาห่างเพราะอวนตาข่ายต้องปลดปลาทุกตัว ไม่เหมือนกับอวนตาเระและอวนปาหยังที่ปลา

Credit: http://www.sarakadee.com/2004/01/09/doolum/4/
8 ก.ย. 54 เวลา 13:56 6,719 12 120
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...