ผลสำรวจรมต.ร่ำรวย'ที่ดิน'

 

 

 

 

 

 

 

ผลสำรวจรมต.ร่ำรวย'ที่ดิน'

 

นางอุไรวรรณ เทียนทอง

บัญชีทรัพย์สิน "4 รัฐบาล" จาก ยุค "ทักษิณ ถึง อภิสิทธิ์" พบ 40 รัฐมนตรี มีที่ดินครอบครองเกิน 100 ไร่ "อุไรวรรณ เทียนทอง" แชมป์ถือครองที่ดินถึง 1,886 ไร่ ขณะที่คนไทย 90% ของประเทศมีที่ดินเป็นของตัวเองไม่ถึง 1 ไร่ ทีดีอาร์ไอชี้ความมั่งคั่งทรัพย์ครัวเรือนกระจุกอยู่แค่คน 10% ของประเทศ

"กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจการถือครองที่ดินของรัฐมนตรี ใน 4 รัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง เฉพาะที่ถือในนามบุคคล ผ่านบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกอบด้วย รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีรัฐมนตรีรวม 35 คน ถือครองที่ดินทั้งหมด 7,099 ไร่ รัฐบาลนายสมชาย มีรัฐมนตรี 36 คน ถือครองรวมกัน 6,304 ไร่ รัฐบาลนายสมัคร มีรัฐมนตรี 34 คน มีที่ดินรวมกัน 5,865 ไร่ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มีรัฐมนตรี 29 คน ถือครองรวมกัน 5,418 ไร่

นอกจากนี้ ยังพบว่าทั้ง 4 รัฐบาล ผู้ที่มีที่ดินครอบครองมากที่สุด คือ นางอุไรวรรณ เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแรงงาน ได้แจ้งบัญชีพร้อมคู่สมรสนายเสนาะ เทียนทอง มีที่ดินทั้งสิ้น 1,886 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 142 ล้านบาท ขณะที่ นายกันตธีร์ ศุภมงคล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เช่นเดียวกัน ตามมาเป็นอันดับสอง ครอบครองที่ดิน 1,556 ไร่ แม้ว่ามีที่ดินน้อยกว่านางอุไรวรรณ แต่มูลค่าที่ดินสูงถึง 2,851 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีที่ดินอยู่ในกรุงเทพฯ จึงมีราคาประเมินสูงกว่าที่ดินต่างจังหวัด

 

 

                                      นายสมชาย สุนทรวัฒน์                             นายพินิจ จารุสมบัติ

                     

โฉมหน้าอดีตรมต.ถือครองเกินพันไร่
นอกจากนั้นรัฐมนตรีที่มีการถือครองที่ดินเกิน 1,000 ไร่ มี 4 คน ประกอบด้วย นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข ครอบครอง 1,051 ไร่ และนายสมชาย สุนทรวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีที่ดิน 1,028 ไร่ ขณะเดียวกัน ยังมีรัฐมนตรีถึง 40 คน ที่มีที่ดินในการครอบครองเกิน 100 ไร่

เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีที่ดินในการครอบครองมากที่สุด 262 ไร่ ตามมาด้วยน้องเขย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ครอบครอง 34 ไร่ นายสมัคร 18 ไร่ และ นายอภิสิทธิ์ น้อยสุด 15 ไร่

อย่างไรก็ตาม การรวบรวมการถือครองที่ดินของนักการเมือง ในนามบุคคล ยังไม่สามารถสะท้อนได้ทั้งหมด เนื่องจากนักการเมืองหลายคนยังมีที่ดินที่ถือในนามนิติบุคคลและให้ญาติพี่น้องถือแทนอีกจำนวนมาก รวมถึงที่ดินสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่มีข่าวการบุกรุกให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

ถือครองที่ดินตามฐานเสียงเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน การถือครองที่ดินของรัฐมนตรีและนักการเมือง มักจะสอดคล้องไปตามพื้นที่ตามฐานเสียงเลือกตั้ง เช่น กรณีของนางอุไรวรรณ ที่ดินในการครอบครองส่วนใหญ่ อยู่ในจังหวัดสระแก้ว นนทบุรี และ กรุงเทพฯบางส่วน เช่นเดียวกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินว่า มีที่ดิน 967 ไร่ ทั้งหมดล้วนอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับ นายเนวิน ชิดชอบและภรรยา แจ้งมีที่ดิน 600 ไร่ มูลค่า 803 ล้านบาท ล้วนอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของภรรยา นายเนวิน เช่นเดียวกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และภรรยา ที่ดินส่วนใหญ่ก็อยู่ในฐานเลือกตั้งจังหวัดนครราชสีมา ส่วนพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ และคู่สมรส แจ้งทรัพย์สินมีที่ดิน 338 ไร่ นอกจากที่ดินจะกระจุกตัวแถบจังหวัดพิจิตรแล้ว ยังมีอีกจำนวนมากแถบจังหวัดนนทบุรี

นักการเมือง-นายทุนต้นตอเหลื่อมล้ำ

ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีม policy watch ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในประเทศไทย ในหลายจังหวัดมีปัญหาการกักตุนที่ดินในกลุ่มของนักการเมือง หรือนายทุนต่างๆ เช่น ภูเก็ต กลุ่มคน 50 คน ถือครองที่ดินในภูเก็ตรวมกว่า 14.23% หมายถึงที่ดิน 14.23% ของทั้งจังหวัด อยู่ในมือคนเพียง 50 คน ดูจากสัดส่วนอาจมองเห็นเป็นตัวเลขไม่เยอะ แต่หากดูเป็นจำนวนที่ดินจริงๆ แล้ว ไม่น้อยทีเดียว หรือในกรุงเทพฯ ก็ดี ที่ดิน 10.07% ของทั้งหมด อยู่ในมือกลุ่มคน 50 คน เช่นเดียวกัน

ขณะที่จากการศึกษาการถือครองที่ดินของนักการเมือง ตามรายงานที่ยื่นให้แก่ ป.ป.ช. เลือกเฉพาะ 10 คน ที่มีการถือครองสูงสุด จะเห็นได้ว่านักการเมือง 10 คน มีที่ดินอยู่ในมือรวมแล้วมีมูลค่าสูงกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่พูดถึงนักการเมืองคนอื่นๆ หรือแม้แต่ทรัพย์สินที่นักการเมืองใน 10 คนนี้ไม่ได้เปิดเผยอีก คาดว่าจะมีจำนวนมหาศาล

ดังนั้น หากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง หัวใจสำคัญอยู่ที่ช่องว่างของรายได้ ช่องว่างเทคโนโลยี และช่องว่างที่เป็นปัญหามากที่สุดคือช่องว่างด้าน "ทรัพย์สิน" ปรากฏการณ์ชาวบ้านในภาคอีสานเข้ายึดที่ดิน บสท. กว่า 2,900 ไร่ ที่กำลังคุกรุ่นอยู่วันนี้ และปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านแถบภาคใต้เข้ายึดสวนปาล์ม เอกชน สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น่าจะบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญนับวันยิ่งห่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินถูก "กระจุก "อยู่ในมือนักการเมือง อาศัยอิทธิพลในท้องถิ่นและเป็นผู้ควบคุม ซึ่งออกนโยบายมีส่วนได้ส่วนเสีย

ชี้ประชาชน90%ถือครองที่ดินไม่ถึง1ไร่/ราย

ทั้งนี้ มีตัวเลขที่น่าวิตกบ่งบอกว่าประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 320 ล้านไร่ พบว่าประชาชนประมาณ 90% ของประเทศไทยมีที่ดินถือครองไม่ถึง 1 ไร่ ในขณะที่อีก 10% ถือครองที่ดินคนละมากกว่า 100 ไร่ มูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประไทย ระบุว่า 70% ของที่ดินที่มีคนถือครอง ไม่ได้ทำประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นการถือครองเพื่อเก็งกำไร นำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1.27 แสนล้านบาทต่อปี

ดังนั้น เมื่อเทียบกับรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียมที่รัฐจะได้รับ มีการประเมินว่าในปีงบประมาณ 2552 มีจำนวนเพียง 31,725 ล้านบาท โดยเป็นการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมจากประชาชนเพียง 5.6 ล้านคนเท่านั้น เนื่องจากประชาชนประมาณ 10 ล้านคน ที่ไม่มีที่ดิน "แม้แต่ตารางนิ้วเดียว"

ทีดีอาร์ไอเผยความมั่งคั่งกระจุกตัว10%

จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่สำรวจความมั่งคั่ง พบว่าทรัพย์ครัวเรือนตามกลุ่มรายได้เมื่อปี 2549 แบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% พบว่าครอบครัวรวยที่สุด 20% แรกมีทรัพย์สินถึง 69% ของทั้งประเทศ

ขณะที่กลุ่ม 20% สุดท้ายหรือที่จนที่สุด มีทรัพย์สินเพียง 1% เท่านั้น หากแบ่งเป็นสิบกลุ่มรวยสุดสิบกลุ่ม 10% แรกจะมีทรัพย์สินมากกว่ากลุ่มรองลงมาถึงสามเท่า ดังนั้นจะพบว่าความมั่งคั่งจะกระจุกอยู่แค่คน 10% ของประเทศเท่านั้นเอง

ในส่วนการถือครองที่ดินก็เช่นกัน ประชาชนที่ไม่มีที่ดินเลยหรือถือน้อยกว่า 10 ไร่ คิดเป็นถึง 42% ของประเทศ นับว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ส่วนกลุ่มคนที่ครอบครองที่ดินเกิน 20 ไร่ มีถึง 22.73% แสดงถึงความมั่งคั่งในสังคมสูงอยู่ในมือคนจำนวนน้อยมาก อัตราไม่ถึง 10% ของประเทศ

หนุนใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ดังนั้น ทางออกหนึ่งในการลดการผูกขาดการถือครองที่ดิน ตามที่นักวิชาการเสนอและกระทรวงการคลัง นำเข้าสู่การพิจารณาของ คณะรัฐมนตรีไปแล้ว คือการเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เนื่องจากข้อบกพร่องของภาษีเดิม คือ ภาษีโรงเรือนฯ คำนวณภาษีบน "ฐานรายได้" หรือที่เรียกกันว่า“ค่ารายปี” ในสัดส่วน 12.5% มิใช่บน“ฐานความมั่งคั่ง” อีกทั้ง ยังใช้ดุลพินิจ จนทำให้เกิดการรั่วไหลของภาษีได้ง่าย และการยกเว้นภาษีจนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน กลายเป็นปัญหาในการบริหารจัดการ และอัตราภาษีที่สูงอย่างค่ารายปี 12.5% ยังทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีมากขึ้นอีกด้วย

ขณะที่ ภาษีบำรุงท้องที่ ใช้อัตราภาษีถดถอย ถ้าราคาที่ดินยิ่งสูงขึ้น อัตราภาษีจะต่ำ ทำให้จัดเก็บรายได้ได้ต่ำ รวมถึงราคาปานกลางยังล้าสมัย เพราะคิดจากฐานเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ดังนั้น หลักการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบบภาษีใหม่ ภาระภาษีจะตกอยู่กับคนในระดับบนมากกว่าคนในระดับล่าง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขยายฐานภาษีรายรับเพิ่มขึ้น โดย พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราการจัดเก็บเป็นเพดานสูงสุด คือ ที่ดินในเชิงพาณิชย์ อัตราไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย อัตราไม่เกิน 0.1% และที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราไม่เกิน 0.05% ของฐานภาษี โดยจะมีคณะกรรมการกลางประเมินอัตราภาษี ทุก 4 ปี

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการจัดเก็บภาษีแบบใหม่มีอย่างต่อเนื่อง แต่อุปสรรคสำคัญคือ นักการเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายหลักการดังกล่าว ทำให้การพิจารณาตกไปทุกสมัย จากตัวเลขที่นักการเมืองครอบครองที่ดิน เป็นจำนวนมากแล้ว ย่อมเป็นคำตอบได้ว่า ร่างพ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยากมากที่จะผ่านการพิจารณาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ข้อมูลเมื่อ  วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ที่มา:           http://www.suthichaiyoon.com/detail/4513

 


Credit: http://www.suthichaiyoon.com/detail/4513
8 ก.ย. 54 เวลา 11:26 3,739 2 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...