ความเป็นมาของเทคโนโลยี่ภาพถ่าย

ความเป็นมาของเทคโนโลยีภาพถ่าย
ดร. จงกล จารุภัทรากร (13,216 views) first post: Sun 4 September 2011 last update: Sun 4 September 2011
กล้องถ่ายรูปนั้นได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น มากว่าหลายร้อยปีแล้ว ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ฟิล์มถ่ายรูปขึ้นมาเสียอีก
 
 


 

หน้าที่ 1 - กำเนิดกล้อง
 

อาจจะเป็นที่น่าประหลาดใจสำหรับหลายๆ คนว่า กล้องถ่ายรูปนั้นได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น มากว่าหลายร้อยปีแล้ว ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ฟิล์มถ่ายรูปขึ้นมาเสียอีก กล้องรูเข็ม (pin hole camera)หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ห้องมืด (camera obscura) ซึ่งมีขนาดเท่ากับห้องๆ หนึ่ง ได้ถูกใช้เพื่อฉายภาพของถนนในสมัยศตวรรษที่ 16 ลงบนผนัง เพื่อเป็นแบบช่วยในการวาดภาพของศิลปินนักวาด นักวาดภาพชื่อก้องโลกอย่าง Leonardo da Vinci ก็เคยใช้เทคนิคการถ่ายถาพนี้ช่วยในการวาดรูปของเขาเช่นกัน และในช่วงปี ค.ศ. 1680 กล้องและเลนส์ถ่ายรูปก็ได้ถูกประดิษฐ์ขี้น และรอคอยการพัฒนาของเทคโนโลยีการถ่ายภาพเพียงเท่านั้นเอง


 


 

หลักการพื้นฐานของการผลิตภาพถ่ายนั้นคือ การเปลี่ยนเป็นสีดำของสารประกอบเงิน (silver salts) ปรากฎการณ์นี้ได้ถูกค้นพบมาหลายศตวรรษแล้ว และในปี ค.ศ. 1727 Johann Heinrich Schulze ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ซิลเวอร์ ไนเตรต (AgNO3) เปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อโดนแสง ต่อมา Carl Scheele ก็ค้นพบว่า แสงทำให้เกิดปฏิกิริยา: AgCl --> Ag นอกจากนี้ นาย Carl ยังพิสูจน์ให้เห็นว่า AgCl สามารถละลายใน แอมโมเนีย (ammonia) ได้ ซึ่งขบวนการนี้สามารถนำมาใช้ ในการถ่ายภาพได้ตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1800 แต่น่าเสียดายที่ไม่มีผู้ใด เห็นความสำคัญของการค้นพบครั้งนี้ :( ถ้าคุณผู้อ่านสงสัยว่าขบวนการนี้เกี่ยวกับการล้าง-อัดภาพ อย่างไร คงต้องติดตามรายละเอียดกันในฉบับหน้านะคะ ตอนนี้เรามาต่อกันในด้านประวัติศาสตร์อีกหน่อยนะคะ :)


 

บุคคลแรกที่จินตนาการไปถึงการผลิตภาพถ่าย คือนักเขียน ที่ชื่อ Giphante de la Roche (1729-1774) ท่านได้เสนอความคิดนี้ไว้ใน หนังสือนิยายแฟนตาซี เรื่อง Giphantie ก็ไม่น่าแปลกใจเลยนะคะ การประดิษฐ์สิ่งสำคัญๆ หลายๆ อย่างในอดีต และ อนาคต ก็เกิดขึ้นมาจากการวาดฝันมาก่อน


 

ในต้นศตวรรษที่ 19 Thomas Wedgewood เป็นบุคคลแรกที่พยายามล้างภาพโดยใช้ กระดาษที่เคลือบด้วย AgNO3 ในกล้อง obscura แต่น่าเสียดาย ที่เขาไม่สามารถที่จะหาทางทำให้ภาพนั้นคงอยู่อย่างถาวรได้


 

ภาพถ่ายถาวร (permanent image) ภาพแรกนั้น ถูกถ่ายขึ้นจากกล้อง obscura โดย Joseph Nipce ในปี ค.ศ. 1827 นาย Joseph ถ่ายภาพวิวจากหน้าต่าง ห้องของเขา โดยใช้แผ่นดีบุกผสมตะกั่ว (pewter) เคลือบน้ำมันดิน (Bitumen of Judea) เป็นเวลาถึง 20 ปีที่นาย Joseph ดิ้นรนเพื่อพัฒนา การถ่ายภาพ และในปี ค.ศ. 1829 เขาก็ได้ร่วมงานกับ ศิลปินชื่อ Louis Daguerre ซึ่งต้องการจะสร้างภาพเหมือน ขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นฉากในงานละครเวทีของเขา และ ถึงแม้ Daguerre จะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ เขาก็ได้หลงใหลกับ การพัฒนางานถ่ายภาพตั้งแต่นั้นมา


 

เมื่อปี ค.ศ.1839 Daguerre ได้ประดิษฐ์ วิธีถ่ายภาพแบบ Daguerrotypeขึ้นมา เขาเคลือบแผ่นทองแดง (copper) ด้วยโลหะเงิน (silver) และผ่านก๊าซไอโอดีน (I2) ผ่านผิวหน้าของแผ่นโลหะนั้น เพื่อทำปฏิกิริยา กับ โลหะเงิน บนผิวหน้าของแผ่นโลหะ เกิดเป็นฟิล์มบางๆ ของ ซิลเวอร์ ไอโอไดน์ (AgI) เคลือบอยู่บนผิวหน้าของโลหะเงินอีกชั้นหนึ่ง ถึงแม้ Daguerre จะไม่เข้าใจปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้น แต่เขาก็ได้ค้นพบโดยบังเอิญว่า เขาสามารถทำภาพถ่ายได้ ถ้านำแผ่นโลหะแผ่นเดิมนั้นไปผ่านก๊าซปรอท (Hg) ซึ่งขบวนการนี้ลดเวลาการถ่ายภาพจากเดิม 8 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 นาทีเท่านั้น Daguerre ยังพัฒนาการถ่ายภาพโดยใช้ ก๊าซโบรมีน (Br2) แทน I2 เพื่อเคลือบแผ่นโลหะ และใน 10 ปีต่อมา การผลิตภาพถ่ายแบบ Daguerrotype ได้แพร่หลายไปทั่วโลก


 

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน William Henry Fox Telbot ชาวอังกฤษ ก็ได้ประกาศถึงการใช้กระดาษแทนที่แผ่นโลหะ ในการถ่ายภาพ ซึ่งสามารถประหยัดต้นทุนลงไปได้มาก เขาใช้สารประกอบเงิน เช่นเดียวกับ Wedgewood และเรียกขบวนการนี้ว่า Calotype นาย Telbot ได้แก้ปัญหาการทำภาพถาวร ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับ Wedgewood โดยล้างภาพด้วยสารละลายอิ่มตัวของโซเดียม คลอไรด์ (NaCl) โลหะเงินนั้นจะสร้างสารประกิบเชิงซ้อนกับ คลอไรด์ อิออน (Cl-) ถ้าความเข้มข้นของ Cl- นั้นสูงพอ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ Daguerre ใช้


 

ข้อดีอีกอย่างของ วิธี Calotype นั้นก็คือ การผลิต Nagative ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการอัดรูปซ้ำได้ คำว่า Negative นั้นถูกใช้ครั้งแรกโดยนักดาราศาสตร์ Sir John Herschel ซึ่งเป็นผู้นำ โซเดียม ไธโอซัลเฟต (Na2S2O3) มาใช้ในการล้างรูปถ่าย ท่าน Sir John ได้ค้นพบว่า สารประกอบไธโอซัลเฟต สามารถละลาย silver halides ได้โดยการสร้างสารประกอบเชิงซ้อนกับ ซิลเวอร์ อิออน แต่ไม่ทำปฏิกิริยากับโลหะเงิน


 


 


 

เทคโนโลยีการถ่ายภาพได้ถูกพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ แต่หลักการพื้นฐานนั้นยังคงเดิม ฉบับนี้ขอเล่าถึงประวัติการล้าง-อัดภาพถ่าย อย่างคร่าวๆ เพียงแค่นี้ก่อนนะคะ ถ้ายังไง ใครที่สับสนเกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขบวนการล้าง-อัดภาพ แล้วละก็ อย่าลืมติดตามฉบับต่อไปนะคะ เราจะมาพูดถึงปฏิกิริยา และ สารเคมีที่ใช้กัน แล้วจะได้รู้กันว่า เค้าล้าง-อัดภาพกันได้อย่างไร :)


 


 

เผยแพร่ครั้งแรกใน Vmagazine issue 5
http://www.vcharkarn.com/magazine/issue5/issue005_jong.php



 

บทความที่เกี่ยวข้อง
1 มองหลังเลนส์ตากล้องรุ่นเยาว์ เจ้าของรางวัลการประกวดภาพถ่าย “มหัศจรรย์ป่าเมืองไทย”
2 รู้จักกับเทคโนโลยีกล่องดำ
3 กิน 'ข้าวกล้องสีแดง' ป้องกันโรคเรื้อรัง
4 รถตำรวจรุ่นใหม่ของรัฐอเมริกานำเทคโนโลยีฟิล์มเคลือบผิวมาใช้
5 ข้าวกล้องกับข้าวกล้องงอกให้คุณค่าทางอาหารแตกต่างกันอย่างไร
 
*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและแหล่งข้อมูลทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
ท่านสามารถนำเนื้อหาในส่วนบทความไปใช้ แสดง เผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา ห้ามใช้เพื่อการค้าและห้ามดัดแปลง


 

Credit: วิชาการดอดคอม
7 ก.ย. 54 เวลา 06:48 1,648 1 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...