องค์การนาซา เดินหน้าพัฒนาเรือเหาะยุคใหม่ เชื่อ เป็นการปฏิรูปการขนส่งของโลก และไม่กลัวว่าจะซ้ำรอยกับเหตุการณ์ไฟไหม้เรือเหาะฮินเดนบวร์ก...
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานวันที่ 4 ก.ย. ว่า องค์การนาซากำลังดำเนินการพัฒนาเรือเหาะอีกครั้งหลังจากที่ยุคสมัยของเรือเหาะจบลงหลังเกิดเร่ืองสลดกับเรือเหาะ 'ฮินเดนบวร์ก' โดยพวกเขาเชื่อว่า เรือเหาะยุคใหม่นี้ จะเป็นการวิวัฒนาการระบบการขนส่งของโลก ที่สามารถใช้แทนรถบรรทุก รถไฟ และเรือในเรื่องของการขนส่งได้
ทีมพัฒนาของนาซาคาดว่า เรือเหาะรุ่นต้นแบบลำแรก จะสามารถขึ้นบินได้ในปีหน้า และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โครงการนี้จะนำไปสู่ยุคที่เรือเหาะสามารถบรรทุกสินค้าได้หลายร้อยตันในคราวเดียว เมื่อสิ้นทศวรรษ หรืออีก 10 ปี ข้างหน้า
ขณะที่ ดร.ไซมอน วอร์เดน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของนาซา ในเมืองเอมส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า "ในยุคปัจจุบัน สินค้าจำนวนมากถูกบรรจุใส่ตู้สินค้า และลำเลียงส่งโดยรถไฟไปทั่วประเทศ ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลาอย่างมาก แต่ลองจินตนาการดูว่า หากสามารถใช้เรือเหาะ ซึ่งสามารถบรรทุกสินค้าได้ครั้งละมากๆ และสามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก โดยเสียค่าใช้จ่ายที่เป็นอยู่ในตอนนี้ล่ะ มันน่าจะเป็นเรื่องที่ีดีมาก"
ทั้งน้ี หลังจากเกิดเหตุน่าสลดใจในปี 1936 เรือเหาะฮินเดนบวร์ก แอลแซด 129 ของเยอรมนี ซึ่งเป็นอากาศยานขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมา เกิดไฟไหม้ระหว่างการแล่นลงจอดที่ฐานทัพเรือ เลคเฮิร์สท์ ในสหรัฐฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 36 คน และนั่นถือเป็นจุดสิ้นสุดยุคสมัยของเรือเหาะยุคแรก
อย่างไรก็ดี แม้จะมีใครหลายคนห่วงว่า จะเกิดเหตุซ้ำรอยกับฮินเดนบวร์ก แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พัฒนาการของวัตถุดิบ และความรู้ทางด้านอากาศยาน ที่ไดัรับมาจากโครงการสำรวจอวกาศต่างๆ ทำให้เทคโนโลยีเรือเหาะมีความปลอดภัย และจะไม่ซ้ำรอยกับเรื่องในอดีตอย่างแน่นอน