'ฟอร์บส์'ระบุ'ธนินท์'รวยสุดในไทย'ทักษิณ'อยู่อันดับ19มั่งคั่งยิ่งขึ้น53%
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
1 กันยายน 2554 00:25 น.
Share6
ธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวซีพี ยังคงครองตำแหน่งมหาเศรษฐีผู้มีมูลค่าทรัพย์สินสูงที่สุดในประเทศไทย 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์
ASTVผู้จัดการ -นิตยสารฟอร์บส์เผยแพร่รายงานการจัดอันดับ “40 มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย” ประจำปีนี้เมื่อคืนวันอังคาร(30ส.ค.) โดยที่เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ยังคงเป็นอันดับ1 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ 7,400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 222,000 ล้านบาท) ติดตามด้วย “เฉลียว อยู่วิทยา” ที่ยังอยู่อันดับ 2 มีทรัพย์สิน5,000 ล้านดอลลาร์ (150,000ล้านบาท) เช่นเดียวกับอันดับ3 ก็หน้าเดิมคือ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” 4,800 ล้านดอลลาร์ (144,000ล้านบาท) สำหรับ “ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว” ปีนี้อยู่อันดับ 19 ดีขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 23 และความมั่งคั่งร่ำรวยก็เพิ่มพูนขึ้นถึง 53% โดยอยู่ที่ 600 ล้านดอลลาร์ (18,000ล้านบาท) จาก 390 ล้านดอลลาร์ในปี 2010
รายงานของฟอร์บบอกว่า ถึงแม้ในปีที่แล้วประเทศไทยยังคงมีความตึงเครียดทางการเมืองแฝงฝังอยู่ ทว่าสถานการณ์ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะที่ค่อนข้างสงบ หากเทียบกับความรุนแรงในช่วงปีก่อนหน้านั้น และสภาพเช่นนี้ได้ช่วยทำให้ตลาดหุ้นตลอดจนเศรษฐกิจของไทยเติบโตขยายตัว โดยที่ดัชนีหุ้น SET 50 ไต่ขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยพบเห็นกันในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา และบวกขึ้นไป 21.7% ในช่วงปี 2010 ขณะที่ค่าเงินบาทในระยะเดียวกันแข็งขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
ทางด้านบรรดามหาเศรษฐีผู้ประกอบการของไทย ต่างก็พากันเติบใหญ่ตามกระแสคลื่นอันเอื้ออำนวยเช่นนี้ โดยที่ทรัพย์สินความมั่นคั่งโดยรวมของ 40 มหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดในปีนี้ สูงขึ้นกว่าของปีที่แล้ว 25% ไปอยู่ในระดับ 45,000 ล้านดอลลาร์ (1.35ล้านล้านบาท) ขณะที่มหาเศรษฐีที่ติดอันดับรายชื่อในปีนี้ ประมาณ 3 ใน 4 ทีเดียวต่างก็มั่งคั่งมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
ฟอร์บส์ระบุว่า ผู้ที่ร่ำรวยขึ้นมามากที่สุดคือ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ (อยู่อันดับ 17 มีทรัพย์สิน620ล้านดอลลาร์) โดยมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึง 138% สืบเนื่องจากสายการบินบางกอกแอร์เวย์ของเขามีอัตราผลกำไรอันงดงงาม ขณะที่ราคาหุ้นบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ (มหาชน) ก็ทะยานขึ้นสูงลิ่ว ทั้งนี้ น.พ.ปราเสริฐ เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มกิจการโรงพยาบาลที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วกลุ่มนี้ ร่วมกับ น.พ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร (อยู่อันดับ28 ทรัพย์สิน 310 ล้านดอลลาร์) ซึ่งก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมาถึง 121% กลายเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในบรรดาผู้ที่ติดอันดับรายชื่อ 40 มหาเศรษฐีปีนี้
สำหรับอันดับ 1 ถึง 5 ในปีนี้ ยังคงเป็นคนหน้าเดิมของปีที่แล้วทว่าต่างมีทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ นายธนินท์ เจ้าสัวซีพีกรุ๊ป มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 7,400 ล้านดอลลาร์ จาก 7,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ส่วนนายเฉลียว เจ้าของกิจการเครื่องดื่มกระทิงแดง และ “เรดบูล” ปีนี้มีทรัพย์สิน 5,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ 4,200 ล้านดอลลาร์ อันดับ 3 นายเจริญ เจ้าสัว “เบียร์ช้าง” และกิจการอสังหาริมทรัพย์ ทีซีซีแลนด์ ฟอร์บบอกว่าปีนี้ร่ำรวย 4,800 ล้านดอลลาร์ จาก 4,150 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว อันดับ 4 ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งเครือเซ็นทรัล ปีนี้มีทรัพย์สิน 4,300 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้นมากจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 2,900 ล้านดอลลาร์ ส่วนอันดับ 5 นายกฤตย์ รัตนรักษ์ และครอบครัว ซึ่งมีกิจการสำคัญคือหุ้นในบริษัทผู้ดำเนินการทีวีสีช่อง 7 ปีนี้ร่ำรวย 2,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ 1,700 ล้านดอลลาร์
สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ซึ่งฟอร์บส์บอกว่าเป็นผู้ที่ถูกจับจ้องอย่างใกล้ชิดที่สุดในบรรดารายชื่อ 40 มหาเศรษฐีไทย ปีนี้อยู่อันดับ 19 มีทรัพย์สิน 600 ล้านดอลลาร์ ดีขึ้น 53% จากปีที่แล้วซึ่งอยู่อันดับ 23 มีความมั่งคั่ง 390 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการแตกหุ้นและการที่ราคาหุ้นของบริษัทเอสซี แอสเสท สูงขึ้นถึงเท่าตัว ฟอร์บบอกด้วยว่า “หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาวของเขา(พ.ต.ท.ทักษิณ) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลังก็ยอมรับว่าจะไม่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินเรื่องภาษี ซึ่งจะทำให้มีการปล่อยเงินจำนวน 40 ล้านดอลลาร์จากทรัพย์สินของลูกๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกทางการอายัดไว้ ทั้งนี้ฟอร์บยังไม่ได้นับเงินก้อนนี้รวมเข้าไปในมูลค่าทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ”
นิตยสารชื่อดังฉบับนี้ระบุว่า ปีนี้มีคนหน้าใหม่ที่เข้ามาอยู่ในบัญชีนี้รวม 2 คน ซึ่งต่างก็เป็น “นกฟีนิกซ์” ที่สามารถบินผงาดขึ้นมาอีกครั้งจากกองเถ้าถ่านภายหลังที่ประสบความเสียหายย่อยยับในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 ได้แก่ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และนายพิชญ์ โพธารามิก โดยที่นายประชัยนั้น เนื่องจากส่วนที่ยังเหลืออยู่ในอาณาจักรทีพีไอของเขา นั่นคือ บริษัททีพีไอ โพลีน มีราคาหุ้นขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีเมื่อเดือนสิงหาคม ทำให้เขาติดอยู่ในอันดับ 29 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นายพิชญ์ ก็สามารถฟื้นกิจการบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จนราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าตัวในระยะ 15 เดือนที่ผ่านมา และทำให้เขาติดอันดับ 34 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 245 ล้านดอลลาร์
สำหรับมหาเศรษฐีในรายชื่อที่ปีนี้มีทรัพย์สินลดต่ำลง ฟอร์บบอกว่ามี 3 ราย ได้แก่ นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ แห่ง พฤกษา เรียลเอสเตท (อันดับ11 ทรัพย์สิน 1,000 ล้านดอลลาร์) ความมั่งคั่งของเขาได้ลดลงมา 13% เนื่องจากราคาหุ้นบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ลดฮวบลงมาสืบเนื่องจากความวิตกเรื่องภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้าน นอกจากนั้น ความมั่งคั่งของนายวิทย์ วิริยะประไพกิจ (อันดับ 25 ทรัพย์สิน 380 ล้านดอลลาร์) ก็ต่ำลงมา 5% เมื่อหุ้นสหวิริยาสตีลอินดัสทรีของเขาได้รับผลกระทบจากยอดกำไรในไตรมาส 2 ที่ติดลบ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเข้าปรับปรุงโรงงานในอังกฤษซึ่งเพิ่งเข้าไปซื้อไว้เมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนนายคีรี กาญจนพาสน์ (อันดับ 16 ทรัพย์สิน 625 ล้านดอลลาร์) เจ้าพ่อรถไฟลอยฟ้าบีทีเอส ก็มีความร่ำรวยลดลง 3% เมื่อราคาหุ้นบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ของเขาตกลงมา สืบเนื่องจากผลประกอบการย่ำแย่ในกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์
ในปีนี้ผู้ที่จะได้ติดอันดับ 40 มหาเศรษฐีไทย จะต้องมีทรัพย์สินอย่างต่ำที่สุด 190 ล้านดอลลาร์ (เปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งต่ำสุดอยู่ที่ 140 ล้านดอลลาร์) จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่เคยติดอันดับในปีที่แล้วต้องมีอันหลุดไปในปีนี้รวม 3 คน ได้แก่ นายเพชร และนายรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งความมั่งคั่งของพวกเขาจากการถือหุ้นในเครือโอสถสภา ยังไม่มากพอที่จะทำให้พวกเขาสองพี่น้องติดอันดับ (แต่นายนิธิ โอสถานุเคราะห์ ลูกพี่ลูกน้องของพวกเขาซึ่งก็เป็นเจ้าของหุ้นส่วนหนึ่งในเครือโอสถสภาเช่นกัน ยังคงติดอันดับ 32 ทรัพย์สิน 255 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากมีการลงทุนในด้านอื่นๆ ด้วย) ส่วนอีกคนหนึ่งคือ นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ แห่งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ช. การช่าง
40 อันดับมหาเศรษฐีของไทยปี2011
1. ธนินท์ เจียรวนนท์ 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 72 ปี
2. เฉลียว อยู่วิทยา 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 79 ปี
3. เจริญ สิริวัฒนภักดี 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 67 ปี
4. ตระกูลจิราธิวัฒน์ 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. กฤตย์ รัตนรักษ์ และครอบครัว 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 65 ปี
6. อาลก โลเฮีย 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 53 ปี
7. จำนงค์ ภิรมย์ภักดี 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 83 ปี
8. วิชัย มาลีนนท์ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 93 ปี
9. อิสระ ว่องกุศลกิจ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 63 ปี
10. คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล และครอบครัว 1,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 79 ปี
11. ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 53 ปี
12. วานิช ไชยวรรณ 930 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 79 ปี
13. ประยุทธ มหากิจศิริ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 65 ปี
14. สุรางค์ เปรมปรีดิ์ 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 69 ปี
15. อนันต์ อัศวโภคิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 61 ปี
16. คีรี กาญจนพาสน์ 625 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 61 ปี
17. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 78 ปี
18. สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 60 ปี
19. ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 62 ปี
20. บุญชัย เบญจรงคกุล 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 57 ปี
21. ไกรสร จันศิริ 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 76 ปี
22. จำรูญ ชินธรรมมิตร์ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 61 ปี
23. วิลเลียม อี. ไฮเนคกี 425 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 62 ปี
24. สรรเสริญ จุฬางกูร 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 69 ปี
25. วิทย์ วิริยะประไพกิจ 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่มีข้อมูล
26. วรวิทย์ วีรบวรพงศ์ 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 66 ปี
27. นิชิต้า ชาห์ เฟเดอร์บุช 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 31 ปี
28. พงษ์ศักดิ์ วิทยากร 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 77 ปี
29. ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 67 ปี
30. วิชา พูลวรลักษณ์ 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 47 ปี
31. นิจพร จรณะจิตต์ 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 60 ปี
32. นิธิ โอสถานุเคราะห์ 255 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 38 ปี
33. รุ่งโรจน์ แสงศาสตรา 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 61 ปี
34. พิชญ์ โพธารามิก 245 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 38 ปี
35. เปรมชัย กรรณสูต 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 58 ปี
36. ประทีป ตั้งมติธรรม 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 64 ปี
37. เฉลิม อยู่วิทยา 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 61 ปี
38. วิชัย รักศรีอักษร 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 53 ปี
39. พรดี ลี้อิสระนุกูล 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 75 ปี
40. วิโรจน์ ธนาลงกรณ์ 195 ล้าานดอลลาร์สหรัฐฯ อายุ 58 ปี
Credit:
ผุ้จัดการออนไลน์