'กินดิบ' เทรนด์ฮิตเพื่อสุขภาพ

สำหรับคนที่เชื่อเรื่องแนวทางการ "กินดิบ" หรือการรับประทานอาหารสดๆ รวมทั้งอาหารที่ผ่านการปรุงไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ต่อมื้อ ที่ฝรั่งเรียกว่า "รอว์ ฟู้ด" (Raw Food) นั้น เชื่อกันว่าเป็นวิธีการง่ายๆ ที่จะหลีกเลี่ยงไขมัน และย่อมแน่นอน - ง่ายที่สุดที่จะลดน้ำหนัก รวมทั้งอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดของผู้ที่มีระบบการย่อยอาหารผิดปกติ


Raw Food Diet เข้าไปทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร สาเหตุยังหาไม่ได้แน่ชัด ทว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าโปรแกรมทดลองในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของอเมริกาเป็นเช่นนั้น เริ่มจากการมีน้ำหนักลดลง นั่นก็หมายความว่า ไขมันได้สลายหายไป ในขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างก็รู้สึกว่าตัวเองมีกำลังวังชา กระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น

บางคนบอกว่า นี่อาจจะเป็นเพียงอุปาทาน แต่ตามทฤษฎีที่เชื่อกันนั่นก็คือ การปรุงอาหารรังแต่จะเป็นช่องทางเพิ่มพูนไขมัน ซึ่งเกิดขึ้นมาหลังจากที่วัตถุดิบต่างๆ ได้รับความร้อน ทำให้กรดไขมันในวัตถุดิบชิ้นนั้นๆ แตกตัวออกมา รวมทั้งทำให้อาหารกลายเป็นสิ่งที่ย่อยยาก และมีสารอาหารบางอย่างหายไปในขณะที่ถูกความร้อน ทั้งหมดนี้ตรงข้ามกันหากเป็น "รอว์ ฟู้ด" ซึ่งย่อยง่าย และคงสารอาหารเอาไว้ครบถ้วน

ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ มนุษย์เราเคยรับประทานในแนวทาง "รอว์ ฟู้ด" มาแต่ไหนแต่ไร ก่อนที่จะรู้จักอานุภาพแห่ง "ไฟ" ที่สามารถทำให้อาหารสุก ทว่าในอดีตนั้น มนุษย์ส่วนมากเป็น "มังสวิรัติ" จึงไม่มีปัญหาเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่อาจเสี่ยงติดเชื้อโรคร้ายแรงแต่อย่างใด หลักฐานทางโบราณคดีปรากฏชัดว่า การรู้จักใช้ไฟมาทำให้อาหารสุก ทำให้โครงสร้างของมนุษย์ในยุคหลังเปลี่ยนไป

ผ่านพ้นจากช่วงสมัยของมนุษย์ยุคโบราณ "รอว์ ฟู้ด" แนะนำตัวให้โลกรู้จักและกลายเป็นศาสตร์หนึ่งในโภชนาการอีกครั้งเมื่อศตวรรษที่ 19 โดยมี 2 นักวิชาการ แอน วิกมอร์ และ เฮอร์เบิร์ต เชลตัน ที่ออกมาบอกว่า ผลไม้และผักสดๆ คืออาหารที่ดีเลิศสำหรับมนุษย์ ขณะที่ อาร์ตตูรี วีร์ตาเนน ออกมาสนับสนุนว่า จะมีเอนไซม์บางอย่างที่มีประโยชน์ปล่อยออกมาในปากขณะที่เคี้ยวอาหาร "รอว์ ฟู้ด" ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวช่วยในการย่อยและดูดซับสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น

ในปี 1984 หนังสือชื่อ The New Raw Energy ของ เลสลี เคนตัน ช่วยกระพือแนวคิดแบบ "กินดิบ" ให้แพร่กระจายอีกครั้ง ข้อความสำคัญในหนังสือบอกว่า การรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุง โดยเฉพาะผักและผลไม้สดนั้น มีอยู่ในทุกวัฒนธรรมอาหารทั่วโลก ทั้งในหนังสือเล่มนี้ ยังได้อ้างบทวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า "รอว์ ฟู้ด" มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายอย่างไร โดยยกตัวอย่างผู้คนที่อยู่ในแถบภูเขาหิมาลัย ซึ่งมีพฤติกรรม "กินดิบ" ทำให้พวกเขาสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว

ในหนังสือเล่มเดียวกันยังอ้างถึงผลวิจัยของ แมกซ์ เกอร์สัน ที่บอกว่า น้ำผลไม้คั้นสดแล้วดื่มเลย ช่วยบรรเทาโรคมะเร็งได้ บทสรุปก็คือ หากรับประทานแบบ "กินดิบ" ไม่ต่ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ทั้งมีผลให้แก่ช้า เพิ่มพละกำลัง และสร้างสมดุลทางอารมณ์

ถึงแม้ว่า "รอว์ ฟู้ด" จะเป็นศาสตร์หนึ่งในโภชนาการ ที่มีดาราฮอลลีวูดชื่อดัง เช่น เดมี มัวร์ และ วูดดี ฮาร์เรลสัน ยึดมั่นเป็นแนวทางมานาน ทว่าเมื่อเราพูดถึงการเลือกรับประทานแบบที่มี "ความเสี่ยง" สูงในการเข้าใจผิด จึงมักเรียกศาสตร์การ "กินดิบ" แบบนี้ว่าเป็น "ความเชื่อ" มากกว่า แม้ว่าจะมีงานวิจัยมากมายออกมาสนับสนุนทฤษฎี "รอว์ ฟู้ด"

ในปี 1933 งานวิจัยของ อี. บี. ฟอร์บส์ บอกว่า การปรุงทำให้อาหารกลายเป็นของหวาน ทำให้มื้อนั้นกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ แถมยังติดฟัน และทำให้ฟันผุ พ้องกับงานวิจัยของทันตแพทย์ เวสตัน เอ. ไพรซ์ ในปี 1936 ที่ว่า นมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ มีเปอร์เซ็นต์ทำให้เด็กฟันผุมากกว่านมสดจากเต้า

ดร.เอดเวิร์ด โฮเวลล์ นักฟิสิกส์แห่งรัฐอิลลินอยส์ ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเอนไซม์กับสุขภาพและชีวิตที่ยืนยาว ในปี 1941 ต่อมา 40 ปีให้หลัง เขาตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Enzyme Nutrition ซึ่งมีใจความสำคัญว่า เอนไซม์ที่มีประโยชน์ที่สุดก็คือเอนไซม์ที่สร้างขึ้นเองโดยอัตโนมัติ โดยเจ้าเอนไซม์ที่ว่านี้ก็เกิดจากการเคี้ยวและย่อยอาหาร "สด" ที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุง หรือกระบวนการใดๆ ซึ่งการที่เขาตั้งชื่อว่า Enzyme Nutrition นั้น ก็เพราะเจ้าเอนไซม์ที่ร่างกายผลิตเอง ในกระบวนการเคี้ยวและย่อยของสดๆ จะเปลี่ยนเป็นสารอาหาร "โปรตีน" ในภายหลัง

ไม่เพียงในประเทศไทยที่กระแสการตื่นตัวด้านสุขภาพเป็นสิ่งอินเทรนด์ ทว่าเป็นเรื่องที่ฮิตไปทั่วโลก ทฤษฎี "รอว์ ฟู้ด" ที่อ้างกันมาตลอดระยะเวลาว่าดีต่อสุขภาพ จึงมีผู้ทำวิจัยถึงผลลัพธ์กันอย่างต่อเนื่อง

ผลวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนจากอาหารปรุงสุกมาเป็น "รอว์ ฟู้ด" มีแนวโน้มอย่างมากที่จะช่วยรักษาอาการออทิสติก นอกจากนี้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโตรอนโต กับสถาบันมะเร็งแห่งหนึ่งในแคนาดา ยังพบว่า การรับประทานที่ผ่านการปรุง รวมทั้งแดรีโปรดักส์ที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ชิ้นงานนี้สนับสนุนผลการวิจัยเก่าราวต้นปี 1990 ที่ว่า การปรุงอาหารประเภทเนื้อจะก่อสาร heterocyclic amines (HCA's) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น การจะหลีกเลี่ยงมะเร็งอย่างได้ผลทางหนึ่ง ก็คือต้องไม่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนนั่นเอง

แน่นอนว่า มิใช่อาหารทุกอย่างจะสามารถรับประทานได้แบบ "กินดิบ" โดยไม่ผ่านขั้นตอนการปรุง ส่วนใหญ่ที่จะสามารถ "กินดิบ" ได้ ได้แก่ อาหารประเภทออร์แกนิกส์ ซึ่งหมายถึงวัตถุดิบที่แน่ใจได้ว่า "ปลอดสารพิษ" จะต้องเป็นจานหลักของโภชนาการในทุกๆ มื้อ

ฉะนั้น "กินดิบ" ก็เลยจะเน้นไปที่ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ ไข่ เนื้อปลา หรือเนื้ออื่นๆ ที่ผลิตขึ้นมาด้วยวิธีออร์แกนิกส์ ขณะที่ผลิตภัณฑ์แดรีโปรดักส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น นม เนย หรือโยเกิร์ต ก็จะต้องสดใหม่ ปราศจากกรรมวิธีการพาสเจอไรซ์

กูรูชาว "รอว์ ฟู้ด" เสริมว่า การเลือกปรับปรุงพฤติกรรมการรับประทานอาหารในแนวทางนี้ อาจจะเลือกแบบที่ "เน้น" อาหาร "รอว์ ฟู้ด" ควบคู่ไปกับอาหารอื่นๆ ทั่วไปก็ได้ หรือบางคนที่สุดโต่งหน่อย ก็สามารถเลือกรับประทาน "รอว์ ฟู้ด" ล้วนๆ ก็จะเป็นการดี

ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ "รอว์ ฟู้ด" เป็นที่นิยมก็เพราะไม่ต้องปรุง เตรียมง่าย อย่างเช่น ผลไม้ สลัด เนื้อที่รับประทานได้เลย เช่นเดียวกับนม เนย โยเกิร์ต (ไม่พาสเจอไรซ์) ส่วนใครที่อาจจะหรูหรา ติดรสชาติขึ้นมาสักหน่อย ก็อาจจะมีสิ่งประกอบเป็นเครื่องผสมอาหาร เครื่องปั่น เครื่องคั้นน้ำผลไม้ มาเพิ่มสีสันของแต่ละมื้อได้ เพียงแต่กฎเหล็กก็คือ ต้องมิให้วัตถุดิบเหล่านั้นผ่านความร้อน

การหลีกเลี่ยงสารพิษ อันเป็นพิษภัยจากการ "กินดิบ" เป็นสิ่งที่ควรตระหนักที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเดินในแนวทางนี้ สิ่งที่ควรต้องสังเกต อย่างเช่น เชื้อราที่แฝงอยู่ในผักเขียวๆ ทางที่ดีควรรับประทานให้หมดวันต่อวัน เช่นเดียวกับเนื้อปลาและเนื้ออื่นๆ ที่สามารถรับประทานสดๆ สังเกตที่ภาชนะว่า ผักเริ่มคายน้ำออกมามากเกินไป แสดงว่าไม่สดและเสี่ยงต่อเชื้อโรคแอบแฝงด้วย

ถั่วแดงใหญ่ มักจะเป็นพิษถ้ารับประทานสดๆ ควรแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ 1 คืน และผ่านน้ำร้อนก่อนรับประทาน ส่วนผักรูบาร์บ (Rhubarb) ควรเลือกเฉพาะลำต้นอ่อนเท่านั้น เพราะต้นและใบที่แก่จะเป็นพิษหากรับประทานสด ฯลฯ

สำหรับคนที่สนใจจะเริ่มต้น "กินดิบ" อาจปรึกษานักโภชนาการ หรือลองเริ่มผสมผสานมื้อ "ดิบ" กับมื้อ "สุก" เข้าด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องหัก "กินดิบ" ไปเสียทีเดียว

ค่อยเป็นค่อยไป ติดใจแล้วเริ่มเป็นแนวทางก็ยังไม่สาย





ขอบคุณที่มา http://www.posttoday.com/


#กินดิบ
naiandamun
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
31 ส.ค. 54 เวลา 21:45 4,096 7 110
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...