โดย วิรุฬหกกลับ
ภัยจากภูเขาไฟระเบิดเป็นอีกมหันตภัยหนึ่งที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ภูเขาไฟพบเห็นอยู่ในทุกภูมิภาคของโลกแม้แต่ในประเทศไทยก็มีภูเขาไฟอยู่หลายลูกกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ ภัยจากภูเขาไฟสำหรับคนไทยแล้วอาจจะดูห่างไกลกว่าภัยธรรมชาติชนิดอื่น แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงเสียทีเดียว นอกจากความน่าสะพรึงกลัวจากภัยภูเขาไฟแล้วภูเขาไฟบางแห่งก็มีทัศนียภาพที่สวยงามตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คงจะหนีไม่พ้นภูเขาฟูจิที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ลึกลงไปภายใต้แผ่นดินความสวยงามอาจกลายเป็นภัยที่สามารถเผาผลาญชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชได้ในพริบตาเดียว
ภูเขาไฟฟูจิ
รูปจาก http://www.asiavacation.com/
ปัจจุบันยังคงเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดเกิดขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ละครั้งความเสียหายของผู้เสียชีวิตอยู่ที่หลักหมื่น ในแง่ของการสูญเสียประชากรอาจจะไม่รุนแรงเท่าภัยธรรมชาติชนิดอื่นแต่ในเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์แล้วภัยธรรมชาติชนิดนี้ต้องถือว่าเป็นภัยที่น่าตระหนกอย่างยิ่ง
อินโดนีเซียประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะแก่งมากมายเคยเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดครั้งรุนแรงมาแล้วอย่างน้อยสามครั้ง
เมื่อราว 7 หมื่น5พันปีมีมาแล้วภูเขาไฟโทบา บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเกิดระเบิดขึ้นทำให้มีเศษหินและขี้เถ้าขนาดยักษ์แผ่ปกคลุมโลกและบดบังดวงอาทิตย์ จนมีข้อสันนิษฐานตามมาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเกิดยุคน้ำแข็งยุคใหม่ของโลกขึ้น
ปี ค.ศ.1815 ภูเขาไฟแทมโบล่า(Tambora) ในประเทศอินโดนีเซียเกิดระเบิดขึ้น การระเบิดในครั้งนั้นทำให้แผ่นดินสั่นสะเทือนและส่งเสียงกึกก้องดังไปไกลกว่า 850 กิโลเมตร การระเบิดในครั้งนั้นทำให้เกิดเศษธุลีและผงฝุ่นมหาศาลแผ่ปกคลุมโลกจนกระทั่งโลกในปีนั้นไม่มีฤดูร้อน หลังจากอีกกว่า 150 ปีต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการระเบิดของแทมโบล่าเป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดในรอบหมื่นปี แม้แต่การระเบิดของภูเขาไฟ วิสุเวียส (visuvius)ที่เกิดเป็นลาวาไหลท่วมทับคนทั้งเป็น ในอิตาลี หรือแม้กระทั่งการระเบิดของภูเขาไฟบนเกาะการากา (krakatoa) ประเทศอินโดนีเซียในปี 1883 ที่ทำให้เกิดเสียงกึกก้องดังไปถึง 4,828 กิโลเมตร( 3 พันไมล์) เกิดคลื่นสึนามิสูงประมาณ 100 ฟุต และทำให้ประชากรเสียชีวิตมากกว่า 3.5 หมื่นก็ยังไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับความรุนแรงของการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบล่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบล่ามีความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่อเมริกาทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในคราวสงครามโลกครั้งที่สองถึง 60,000 ลูกเมื่อมีการระเบิดพร้อมกัน นั้นคือความน่าสะพรึงกลัวของภัยภูเขาไฟระเบิด
แนวภูเขาไฟในประเทศอินโดนีเซีย
รูปจากhttp://vulcan.wr.usgs.gov
สาเหตุการเกิดภูเขาไฟ และประเภทของภูเขาไฟ
เนื่องจากเปลือกโลกชั้นนอกของโลกเรามีพื้นที่ไม่เรียบเสมอกันเปลือกโลกชั้นในมีลักษณะเป็นหินเมื่อได้รับความร้อนที่แผ่ออกมาจากแก่นโลกทำให้กลายเป็นหินเหลวหนืดที่เรียกว่าแมกมา(หินหนืดที่อยู่ภายใต้แผ่นเปลือกโลกจะถูกเรียกว่าแมกมาเมื่อมีการดันตัวมาสู่ชั้นบรรยากาศของโลกจะถูกเรียกว่าลาวา) และเมื่อได้รับความร้อนจากแก่นโลกมากเข้าก็จะไหลวนเวียนเฉกเช่นเดียวกับน้ำในกาต้มน้ำร้อนที่วิ่งไปรอบกาน้ำพร้อมกับส่งควันพวยพุ่งออกมาตามช่องระบายภูเขาไฟก็เช่นกันและในที่สุดก็พุ่งทะลักออกมาตามรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก
โดยทั่วไปแล้วการเกิดภูเขาไฟประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกมาเกยกันหรือที่เรียกตามศัพท์ทางวิชาการว่า subduction zone เปลือกโลกของเราเป็นชั้นหินที่มีความแข็ง มีความหนาประมาณ 40-60 กิโลเมตร ผิวโลกมีลักษณะเป็นแผ่นไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งโลก เปลือกโลกถูกแบ่งออกตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้เป็น 2 ประเภท Oceanic plate คือแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใต้มหาสมุทรกับ Continental plate หรือแผ่นทวีป ซึ่งปรากฏอยู่ตามส่วนที่เป็นพื้นดิน ดังนั้นเมื่อได้รับความร้อนจากแก่นโลกก็จะทำให้แผ่นโลกเกิดการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาโดยกะประมาณว่าแผ่นโลกของเราจะมีการเคลื่อนที่ประมาณ 10 เซนติเมตรต่อปี และเมื่อแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่ชนกันก็จะทำให้แผ่นโลกแผ่นหนึ่งมุดลงใต้แผ่นโลกอีกแผ่นหนึ่ง แผ่นที่มุดต่ำลงจะเข้าสู่ชั้นเปลือกโลกที่มีความร้อนสูงดังนั้นเกิดเป็นพลังงานความร้อนที่พยายามดันตัวออกมาสู่ภายนอก ลักษณะของการเกยกันของแผ่นเปลือกโลกนี้เองที่เราเรียกว่า subduction zone ภูเขาไฟมักจะเกิดตามแนว subduction zoneนี้
ภาพการเกิดภูเขาไฟระเบิดตามแนว subduction zone
ภาพจาก http://whyfiles.org
ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดเป็นภูเขาไฟระเบิดจะไม่เกิดตามแนวรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกแต่จะเกิดในพื้นที่ช่วงกลางแผ่นเปลือกโลก ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะเกิดโดยมีการสะสมของแมกมาจำนวนมากใต้แผ่นเปลือกโลกเมื่อมีจำนวนแมกมาจำนวนมากก็จะเกิดแรงดันจำนวนมหาศาลทำให้แมกมาไหลท่วมออกมาจนสามารถทำให้แผ่นเปลือกโลกขยับได้ นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า mantle plume หรือ hot อย่างเช่นการเกิดภูเขาไฟในหมู่เกาะฮาวาย
การเกิดภูเขาไฟระเบิดแบบ hotspot
ภาพจาก http://www.cotf.edu
ภูเขาไฟสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทเช่นแบ่งตาม รูปร่าง แบ่งตาม ลักษณะทางกายภาพของสิ่งที่ประทุออกมา แบ่งตามการปะทุ แบ่งตามวัตถุที่มาสะสมกันรอบๆปล่องภูเขาไฟ แบ่งตามประวัติของการปะทุที่เคยถูกบันทึกไว้ แต่การแบ่งซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดก็คงจะเป็นการแบ่งลักษณะภูเขาไฟรูปร่าง
การแบ่งภูเขาไฟตามรูปร่าง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท(ในบางตำราอาจจะแบ่งเป็น4ประเภท)
1. Shield Volcano หรือที่รู้จักกันในภาษาไทยว่า ภูเขาไฟแบบโล่ห์ ภูเขาไฟแบบนี้เกิดจากธารลาวาเหลวไหลออกมาตามรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก การปะทุของภูเขาไฟชนิดนี้จะไม่ระเบิดรุนแรง แต่เป็นแบบน้ำพุลาวา โดยลาวาจะมีลักษณะที่เหลวและมีอุณหภูมิสูงมากทำให้ไหลไปได้เป็นระยะทางไกลภูเขาไฟที่จัดอยู่ในประเภทนี้จะมีลักษณะกว้างและไม่ชัน ภูเขาไฟ Mauna Loa ในฮาวาย เป็น Shield Volcano ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ภูเขาไฟ Mauna Loa ซึ่งจัดเป็นแบบ Shield Volcano
ภาพจาก http://vulcan.wr.usgs.gov/
2. Composite Cone หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่าแบบกรวยภูเขาไฟสลับชั้น การเกิดภูเขาไฟแบบนี้เกิดจากจากการสลับหมุนเวียนของชั้นลาวาและชั้นเศษหินและจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการประทุอย่างกระทันหัน ในขณะที่แมกมาจะมีความหนืดและอุณหภูมิที่สูงมาก การระเบิดของภูเขาไฟแบบนี้ถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุด ภูเขาไฟแบบนี้ได้แก่ภูเขาไฟ ภูเขาไฟฟูจิ (Mt Fuji) ในญี่ปุ่น ภูเขาไฟมายอน (Mt Mayon) ในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น
ภูเขาไฟ Mayon
ภาพจาก http://siliconium.net/
3. Cinder Cone Volcano หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่า กรวยกรวดภูเขาไฟ ภูเขาไฟแบบนี้ จะมีลักษณะสูงชันมาก เนื่องจากลาวามีความหนืดมากทำให้ไหลได้ไม่ต้องเนื่อง ลาวาที่ไหลออกมามีลักษณะเป็นทรงกลม พุ่งออกมาจากปล่องภูเขาไฟเพียงปล่องเดียว ดังนั้นเมื่อเกิดการระเบิดของภูเขาไฟชนิดก็มักจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก
ภูเขาไฟแบบ Cinder Cone Volcano อยู่ทางตอนเหนือของประเทศชิลี
ภาพจาก http://www.geology.wisc.edu
ภูเขาไฟกระจัดกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของโลกบางก็เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว บางก็เป็ภูเขาไฟที่รอวันประทุ จากข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาระบุโลกเราภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า 15,000 ฟุตอยู่ถึง 14 แห่ง คือ
ลัลไลเลโค ประเทศอาร์เจนตินา-ประเทศชิลี มีความสูง 22109 ฟุต กัวลาติรี ประเทศชิลี มีความสูง 19,918 ฟุต ตูปันเกไตโต ประเทศชิลี มีความสูง 19,685 ฟุต โคโตแปกซี ประเทศเอกวาดอร์ มีความสูง 19,393 ฟุต เอลมิสตี ประเทศเปรู มีความสูง 19,101 ฟุต ปิโกเดอโอริซาบา ประเทศเม็กซิโก มีความสูง 18,619 ฟุต ลาสการ์ ประเทศชิลี มีความสูง 18,346 ฟุต โปโปคาเตเปติ ประเทศเม็กซิโก มีความสูง 17,802 ฟุต เนวาโด เดล รูอิซ ประเทศโคลัมเบีย มีความสูง 17,457 ฟุต ซังเกย์ ประเทศเอกวาดอร์ มีความสูง 17,159 ฟุต อิรัปปูตุนคู ประเทศชิลี มีความสูง 16,939 ฟุต คลูเชฟสกอย แหลมแคมชัทกา ประเทศรัสเซีย มีความสูง 15,863 ฟุต กัวกัวปิชินชา ประเทศเอกวาดอร์ มีความสูง 15,696 ฟุต ปูราเช่ ประเทศโคลัมเบีย มีความสูง 15,256 ฟุต
ระเบิดของภูเขาไฟ
ภูเขาไฟในโลกเรามีทั้งแบบที่เป็นภูเขาไฟมีพลัง (active volcanoes)คือภูเขาที่ยังคงมีการประทุอยู่ ภูเขาไฟสงบ (dormant volcanoes)คือ ภูเขาที่เคยมีการประทุในอดีตส่วนปัจจุบันจะไม่มีการประทุอีก และ ภูเขาไฟดับสนิท (extint volcanoes) คือภูเขาไฟที่ไม่มีการประทุมาตั้งแต่ในอดีต
ดังนั้นภูเขาที่อาจจะเกิดการประทุขึ้นได้คือภูเขาไฟมีพลังนั้นเองเมื่อมีการประทุขึ้นของภูเขาไฟ หินหนืดที่อยู่ในแผ่นเปลือกโลกชั้นในซึ่งประกอบไปด้วยธาตุต่างๆที่รวมตัวกันเป็นของเหลวหรือที่รู้จักกันในนามแมกมา ธาตุบางชนิดซึ่งเป็นส่วนประกอบของหินหนืดจะกลายเป็นแก๊สและเมื่อหินหนืดที่มีความร้อนสูงเคลื่อนตัวเข้าใกล้ผิวโลกก๊าซซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าลอยตัวอยู่เหนือหินหนืดและพยายามดันตัวเองผ่านเปลือกโลกออกมา หากปล่องของภูเขาไฟถูกปิดอยู่ก็จะเกิดก๊าซจำนวนมากสะสมอยู่บริเวณปากปล่อง
เมื่อมากพอก๊าซดังกล่าวก็จะดันจนชั้นหินที่ปิดอยู่นั้นแตกกระจาย กลายเป็นเศษหินชิ้นเล็กชิ้นน้อย พร้อมกับถูกดันขึ้นไปในอากาศพร้อมกับหินหนืด หลังจากนั้นก็จะไหลลงสู่พื้นโลก การดันตัวและไหลของหินหนืดหรือแมกมานี้อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งแบบการไหลที่มีลักษณะเคลื่อนตัวอย่างช้าๆหรือปะทุอย่างรุนแรงทำให้ฝุ่นละอองและเศษหินลอยครอบคลุมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ความแตกต่างของการที่หินหนืดจะดันตัวออกมาในลักษณะของการระเบิดหรือไหลเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าส่วนประกอบของหินหนืดเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่ทำให้ภูเขาไฟระเบิดแต่ละครั้งมีลักษณะของความรุนแรงที่แตกต่างกันแบ่งเป็นกรณีดังนี้
1) หากหินหนืดประกอบไปด้วยเหล็กและแมกนีเซียมเป็นจำนวนมากก็จะมีความหนืดน้อยจึงทำไหลออกมาอย่างช้าๆ
2) หากหินหนืดประกอบด้วยซิลิกามาก ก็จะมีความหนืดมาก ดังนั้นเมื่อมีการปะทุขึ้นมันจึงระเบิดออกมา
3) หินหนืดที่มีก๊าซประปนอยู่มาก การปะทุในลักษณะนี้จะเป็นการระเบิดที่รุนแรง
ดังนั้นเมื่อมีภูเขาไฟระเบิดขึ้นสิ่งที่ถูกดันผ่านชั้นเปลือกโลกออกมาก็จะมีทั้งสถานะ ของแข็ง ของเหลวและก๊าซ
การระเบิดของภูเขาไฟ
ภาพจาก http://www.geology.wisc.edu
ของแข็ง จะพบในลักษณะของลาวาหลาก(lava flow) ที่จะไหลแผ่ไปเป็นรัศมีหลายร้อยกิโลเมตร มีขนาดตั้งแต่เป็นผงฝุ่นขนาดเล็กหรือมีขนาดใหญ่หนักหลายตันเมื่ออุณหภูมิลดลงก็จะกลายเป็นหินที่เรียกว่า ตะกอนภูเขาไฟ (pyroclastic) ส่วนที่ปลิวว่อนไปในอากาศเมื่อเย็นตัวลงจะเรียก เถ้าธุลีภูเขาไฟ (volcanic ash) เป็นต้น
ของเหลว ลาวาเป็นของเหลวที่พุ่งผ่านปล่องภูเขาไฟขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศลาวาจะมีลักษณะที่แตกต่างกันในการระเบิดแต่ละครั้ง เช่น ธาตุส่วนประกอบที่แตกต่างกันก่อให้เกิดการประทุของภูเขาไฟที่แตกต่างกันดั่งที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น และในลักษณะรูปร่างของภูเขาไฟที่แตกต่างกันก็มีผลโดยตรงมาจากคุณสมบัติและลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันของลาวาด้วยเช่นกัน
ก๊าซ ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดจะประกอบด้วย ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซต์ คลอรีน และก๊าซไข่เน่า เป็นต้น
lava flow
ภาพจาก http://www.swisseduc.ch/
ตั้งแต่อดีตและปัจจุบันมีการระเบิดของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่าโลกของเรามีภูเขาไฟอยู่ประมาณ 1300 ลูก เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว 700 ลูก อีก 600 ลูกยังมีชีวิตอยู่ซึ่งอาจจะเกิดการประทุขึ้นได้ นักธรณีวิทยาประมาณกันว่า ในทุกๆปี จะมีภูเขาไฟประทุอยู่ราว 20-30 ลูก จากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ โลกเราเคยประสบภัยพิบัติเกี่ยวกับภูเขาไฟระเบิดมาแล้วหลายครั้ง ครั้งที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดความเสียหายมากทั้งในแง่ทรัพย์สินและชีวิตของประชากรโลกมีดังนี้
ปี ค.ศ ชื่อภูเขาไฟ จำนวนผู้เสียชีวิต 97 ภูเขาไฟวิสุเวียส-อิตาลี 16,000 1169 ภูเขาไฟเอ็ตนา เกาะชิชิลี-อิตาลี 15,000 1631 ภูเขาไฟวิสุเวียส-อิตาลี 4,000 1669 ภูเขาไฟเอ็ตนา เกาะชิชิลี-อิตาลี 20,000 1772 ภูเขาไฟปาปันดายัง-อินโดนีเซีย 3,000 1792 ภูเขาไฟอุนเซ็นดาเกะ-ญี่ปุ่น 10,400 1815 ภูเขาไฟแทมโบร่า-อินโดนีเซีย 12,000 26-28 ส.ค. 1883 ภูเขาไฟกรากะตัว-อินโดนีเซีย 35,000 8 เม.ย. 1920 ภูเขาไฟซานตามาเรีย-กัวเตมาลา 1,000 8 พ.ค. 1902 ภูเขาไฟปิเล-เกาะมาร์ตินิก 10,000 1911 ภูเขาไฟทาอาล-ฟิลิปปินส์ 1,400 1919 ภูเขาไฟเคบัด-ชวา-อินโดนีเซีย 5,000 18-21 ม.ค. 1951 ภูเขาไฟแลมิงตัน-นิวกินี 3,000 26 เม.ย. 1966 ภูเขาไฟเคบัด-ชวา-อินโดนีเซีย 1,000 18 พ.ค. 1980 ภูเขาไฟเซ็นต์ เฮเลนส์-สหรัฐอเมริกา 60,000 13 พ.ย. 1985 ภูเขาไฟเนวาโดเดลรูซ-โคลัมเบีย 22,940 24 ส.ค. 1986 ภูเขาไฟในแคเมอรูน 1,700+ รวม 17 ประเทศ ประมาณ 191,500 คน
* ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภูเขาไฟในประเทศไทย
ในประเทศไทยมีภูเขาไฟอยู่ในทุกภูมิภาค ลักษณะของภูเขาไฟในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาไฟแบบโล่ (Shield Volcano) ซึ่งคุณสมบัติของลาวาจะไหลได้ง่ายดังนั้นหากมีการระเบิดขึ้นก็จะไม่รุนแรง ซ้ำภูเขาไฟในทุกภูมิภาคของไทยเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว
ภาคเหนือ พบในเขตจังหวัด ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์
ภาคกลาง พบในเขตจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สระบุรี และลพบุรี
ภาคตะวันออก พบในเขตจังหวัด ปราจีนบุรี จันทบุรี นครนายก และตราด
ภาคตะวันตก พบในเขตจังหวัด กาญจนบุรีและจังหวัดตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในเขตจังหวัด นครราชสีมา ศรีษะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ เลย และสุรินทร์
ภูเขาไฟที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ในเขตจังหวัดเลยโดยมีอายุราว 395-435 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งมีอายุมากกว่าปล่องภูเขาไฟที่พบในจังหวัดสุโขทัยและบุรีรัมย์ที่มีอายุเพียง 20 -30 ล้านปีเท่านั้นเอง
การเกิดระเบิดของภูเขาไฟใช่ว่าจะนำพามาแต่ความหายนะอย่างเดียว ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดก็ยังมีอยู่เช่นกัน การระเบิดของภูเขาไฟถือเป็นการปรับสภาพของเปลือกโลกให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น ฝุ่นที่ละอองซึ่งเกิดจากแรงระเบิดของภูเขาไฟจะฟุ้งกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศสตาโตสเฟียร์ทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลงจากสภาวะเรือนกระจก นอกจากนี้ดินที่เกิดจากแหล่งภูเขาไฟจะเต็มไปด้วยแร่ธาตุซึ่งเหมาะสำหรับทำการเกษตร ทั้งยังทำให้เกิดแหล่งแร่ที่สำคัญเช่น เพชร เหล็ก เป็นต้น
แม้ภัยธรรมชาติจากภูเขาไฟระเบิดแทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเมืองไทยในยุคปัจจุบัน แต่สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติก่อเกิดเป็นภัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ ธรรมชาติมีสิ่งที่ให้เราเรียนรู้และทำความเข้าใจอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจากภายใต้โลกใบโต นำความรับรู้ใหม่ๆมาให้เราได้ทำความเข้าใจว่าธรรมชาติเปลี่ยนแปลงเกิดจากอะไร ซึ่งมีน่าสนใจพอๆกับตำนานที่เล่าขานกันว่ามีสัตว์ขนาดมหึมานอนหนุนโลกอยู่ตามความรับรู้เดิมๆของมนุษย์เรา นี้อาจจะเป็นเสน่ห์ของการเรียนรู้จากธรรมชาติเพื่อความเข้าใจอย่างเท่าทันและอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล...แหละนี้คือเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์