ลุดวิก ฟาน เบโธเเฟน
เกิดที่ บอนน์ เยอรมันนี คศ 1770
ตายที่ เวียนนา ออสเตรีย คศ 1827
ในชีวิตของนักดนตรีและนักประพันธ์เพลงที่ยิ่งใหญ่ผู้นี้ อาจกล่าวได้ว่ามีความมืด มากกว่าความสว่าง
ลุดวิก ฟาน เบโธเฟนถือกำเนิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1770 ในครอบครัวที่ฝืดเคืองแร้นแค้นยากจน
มีถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลไรน์ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันนี พ่อของเขาชื่อ โจฮันน์ ฟาน เบโธเฟน มีอาชีพ
เป็นนักร้องเสียงแทนเนอร์ประจำวงดนตรีของเจ้าเมือง แม่ชื่อ มาเรีย มักดาเลนา เป็นผู้หญิง
ที่เรียบร้อย อ่อนหวาน ใจดี มีความรักและเอาใจใส่ต่อลูก ๆ ทุกคน เบโธเฟน เป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวน
ทั้งหมด 7 คน
เมื่อตอนเด็ก ๆ นั้น เบโธเฟน มีชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ จะหาความสุขสบายได้ยากเต็มที ทั้งนี้ก็เพราะ
ความยากจนของครอบครัว ประกอบกับพ่อเป็นคนที่มีอารมณ์ร้าย เป็นคนขี้เหล้าเมาหยำเปใช้จ่ายเงิน
ในการซื้อเหล้าหมด ไม่เอาใจใส่ดูแลต่อความทุกข์สุขของครอบครัวเท่าที่ควร เบโธเฟนเป็นเด็กที่
สาระรูปขี้ริ้วขี้เหร่เงียบขรึม และขี้อาย พ่อเริ่มสอนให้เล่นไวโอลินและเปียโนก่อน
ที่เขาจะมีอายุ 4 ขวบ แต่เขาเล่นได้ไม่ดีดังใจหวังของพ่อ จึงทำให้พ่อโมโหและทำโทษเขาด้วยวิธีเอา
ไม้เคาะที่ตาตุ่มบ่อย ๆ โจฮันน์ ฟาน เบโธเฟน มีความใฝ่ฝันทะเยอทะยานที่จะให้ลูกชายของ
เขาทีความสามารถและมีชื่อเสียงทางดนตรีโด่งดังเหมือน
กับโมสาร์ท ดังนั้นเขาจึงพยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกชายฝึกฝนเล่นดนตรีอย่างเข้มงวดกวดขันที่สุด
แต่กระนั้นก็ดี อัจฉริยภาพทางดนตรีของเบโธเฟนก็ยังไม่ปรากฏออกมา นอกจากจะฝึกซ้อมไวโอลิน
และเปียโนแล้ว พ่อยังบังคับให้เขาเรียนออร์แกนและคลาเวียร์กับTobias Pfeiffer ซึ่งเป็นเพื่อนคู่หู
ของพ่ออีก การเรียนก็เป็นไปอย่างทุลักทุเลเต็มที เรียนไม่เป็นเวล่ำเวลาดึก ๆ ดื่น ๆ เมื่อพ่อและเพื่อน
ของพ่อกลับมาจากร้องเพลงก็จะมาปลุกให้เขาลุกขึ้นมาท่องโน้ตและเล่นคลาเวีย์ให้ฟัง
แม้ว่าเขาจะง่วงจนลืมตาแทนไม่ขึ้น พ่อก็จะฉุดกระชากลากมาให้เล่นให้ฟังจนได้จากความพยายาม
ของพ่อนี้เอง ต่อมาลุดวิก ฟาน เบโธเฟนก็เริ่มมีความรู้สึกชอบเสียงของดนตรีและรักดนตรีขึ้นมาบ้าง
อัจฉริยภาพทางดนตรีของเขาเริ่มฉายแสงเรือง ๆ ขึ้นมาบ้างแล้ว ดนตรีต่าง ๆ ที่เคยถูกพ่อ
บังคับให้เล่นจนเอือมระอาและไม่ชอบมันเลย แต่บัดนี้เกิดชอบมันขึ้นมาได้อย่างประหลาด เขาเต็ม
ใจในการเล่นดนตรีและเริ่มฝึกฝน ไวโอลินและออร์แกนอย่างจริงจัง จนมีความชำนาญพอที่จะออก
โรงได้ตอนที่เขามีอายุได้ 8 ขวบนั้น ก็ได้ออกโรงแสดงคอนเสิร์ตต่อ
หน้าประชาชนเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าได้รับการปรบมือจากผู้ฟังอย่างเกรียวกราวและชื่นชม ทำให้พ่อ
ของเขามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง จากความสามารถของเขานี่เอง พ่อจึงได้ส่งเขาเข้าโรงเรียนดนตรี
อย่างจริงจังกับครูดนตรีที่มีชื่อเสียง ชื่อคริสเตียน กอทท์ลอบ เนเอเฟ
และที่สำนักของเนเอเฟนี่เอง เบโธเฟนได้เอาใจใส่ฝึกฝนในการดนตรีอย่างจริงจัง เรียนอยู่ได้ 2-3 ปี
ก็สามารถเล่นเพลงยาก ๆ ของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้หลายเพลง เช่น Prelude และ Fugue
ของบาคได้ทั้ง 48 เพลง ซึ่งนับว่าเก่งมากทีเดียวสำหรับเด็กอายุเพียง 11 ขวบ ในปี ค.ศ.
1782 ขณะที่เขามีอายุ 12 ขวบ ไดเข้าประจำตำแหน่งนักออร์แกนประจำโบสถ์ และต่อมาเป็นนัก
เปียโนและไวโอลินในตำแหน่งมือรองของเนเอเฟ ประจำวงดนตรีในสำนักของเจ้าเมืองบอนน์
ต่อจากนั้นอีก 2-3 เดือนก็ได้รับตำแหน่งหัวหน้าวงแทนเนเอเฟครูของเขาซึ่งได้ลาออกไป
นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง สำหรับเด็กอายุเพียงแค่นี้ คนทั้งหลายได้ยอมรับในความสามารถ
ทางดนตรีของเขาชื่อเสียงทางเปียโนก็เป็นที่ลือกระฉ่อนไปทั่วเมืองเจ้าเมืองเห็นความสามารถทาง
ดนตรีของเบโธเฟนว่าจะมีก้าวหน้าไปไกล จึงได้ให้ทุนแก่เขาเดินทางไปยังกรุงเวียนนา อันเป็นแหล่ง
ที่มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคน เบโธเฟนไปเรียนดนตรีกับโมสาร์ท
นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง เมื่อโมสาร์ทฝึกหัดให้เขาได้ 2-3 เพลงก็ลองให้เบโธเฟนเล่นให้ฟัง
หลังจากโมสาร์ทเห็นการเล่นดนตรีของเบโธเฟนแล้ว ก็ได้กล่าวกับเพื่อน ๆ ว่า “จงคอยดูเด็กน้อย
คนนี้ให้ดี สักวันหนึ่งเพลงของเขาจะดังก้องไปทั่วโลก”เบโธเฟนอยู่กับโมสาร์ทที่เวียนนาไม่นานนัก
คือประมาณ 2-3 เดือน ก็ได้รับข่าวจากทางบ้านว่า แม่ป่วยหนัก เขาจำต้องรีบเดินทางกลับ
เมืองบอนน์ และเขาก็ได้สูญเสียแม่บังเกิดเกล้าไป ซึ่งนำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่เขาอย่างสุด
ที่จะประมาณ เพราะแม่คนเดียวเท่านั้นที่รักเขาเป็นห่วงเขา และเห็นใจเขาตลอดมา ในขณะ
ที่แม่ตายนั้นเขามีอายุเพียง 17 ปี เขาต้องรับภาระดูแลครอบครัวแทนแม่ เพราะพ่อนั้นจะเอา
ร่องเอาราวนักก็ไม่ได้ เมาหัวราน้ำตลอดเวลา เขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือ
เจือจุนครอบครัวด้วยการสมัครเข้าเล่นดนตรีในสำนักของเจ้าเมืองบ้าง รับสอนเด็ก ๆ ที่ชอบทางดนตรี
และจากการแสดงเปียโนบ้าง มีหลายคนในบอนน์ได้กล่าวขวัญถึงเขา และทำนายว่าเขาจะมีอนาคต
รุ่งโรจน์ ปี ค.ศ.1790 ไฮเดิน ได้เดินทางผ่านมาทางเมืองบอนน์เพื่อจะไปลอนดอน เมื่อได้ฟังเบโธเฟน
เล่นเปียโนแล้วก็กล่าวว่า “เด็กคนนี้มีความสารถสูง” ต่อมาเบโธเฟนก็ไปพบไฮเดน พร้อมกับนำเพลงต่าง ๆ
ที่เขาแต่งให้ไฮเดินดูด้วย พอไฮเดินดูรู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่งและกล่าวกับเบโธเฟนว่า “ถ้าเธอไปหาฉัน
ที่เวียนนา ฉันจะสอนให้”ดังนั้น ในปี ค.ศ.1792 เขาเดินทางไปยังเวียนนาอีกเป็นครั้งที่ 2 และไปเรียน
ดนตรีกับไฮเดินอยู่เกือบปี ในตอนแรกเขามีความนิยมชมชอบในตัวครูมาก แต่ไม่นานนักก็เกิดมีความ
คิดเห็นขัดแย้งกับครูของเขา ไฮเดินรู้สึกไม่พอใจลูกศิษย์คนนี้นัก เพราะเป็นคนแข็งกระด้าง
ท่าทางเงอะงะตลอดจนมีความคิดเห็นนอกแบบนอกแผนชื่อมั่นในตนเองเกินไปไม่เอาใจใส่ในคำสอน
ของครูในเรื่องกฎความกลมกลืนของเสียง ทางฝ่ายเบโธเฟนก็เห็นว่าไฮเดินจู้จี้และแก่ทฤษฎีเกินไปชอบ
ตามรอยแบบแผนเก่า ๆ เขาจึงย้ายออกมาอยู่กับ โจฮันน์ จอร์ช อัลเบรซสเบอร์เกอร์
อยู่ 2 ปี และได้เรียนการแต่งเพลงอุปรากร กับ แอนโทนีโฮ ซาไลรี ซึ่งเป็นนักแต่อุปรากรผู้มีชื่อเสียงชาว
อิตาลี แต่เขาก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันนักเขามีความตั้งใจอยู่อย่างหนึ่ง คือมุ่งมั่นที่จะหาชื่อเสียงใน
การเล่นดนตรีและแต่งเพลงต่าง ๆ ตามความนึกคิดของเขาเองให้ดีที่สุด
เท่าที่จะทำได้ และเขามีความเชื่อมั่นในตนเองอยู่มาก ณ นครเวียนนานี่เองเบโธเฟนก็ได้ตระเวนเล่น
ดนตรีไปในที่ต่าง ๆ จนชื่อเสียงทางเปียโนของเขาเป็นที่รู้จักกันดีทั่วเวียนนา การเล่นของเขาเต็มไปด้วย
ลีลา และความรู้สึกที่ระบายออกมาอย่างรุนแรงและงดงาม
จึงมีคนนิยมชมชอบการเล่นของเขามาก จนได้มีลูกศิษย์ลูกหาตลอดจนชนชั้นสูงมาเรียนกับเขามากขึ้น
พวกชนชั้นสูงของเวียนนาไม่น้อยที่นิยมเพลงและซื้อบทเพลงของเขาไปเล่นตามวัง ทั้งที่ใช้เล่นกับวงใหญ่
และเพลงสำหรับเล่นกับเครื่องสายชนิด 4 คน และจากการ
แนะนำของ เคานท์ ฟอลด์สไตน์ จึงทำให้เขาได้เข้าไปสู่บ้านพวกผู้ดีมีตระกูล ซึ่งเป็นชนชั้นสูงของเวียนนา
ในฐานะเป็นนักเปียโนและครูดนตรีชนชั้นสูงเหล่านี้ก็มีเจ้าชายลิคนอฟสกี้ เจ้าชายลอบโควิทซ์ และท่าน
บารอน ฟอน สไวเตนจากความสามารถทางดนตรีของเขานี่เอง ทำให้เจ้าชายและเจ้าหญิงลิคนอฟสกี้
ซึ่งเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในหมู่ชนชั้นสูงนิยมในตัวเขา ได้เชื้อเชิญให้เขาไปพำนักอยู่ในวังและรับเป็น
ผู้อุปถัมภ์ในทางการเงินและอื่น ๆ แก่เขา ขณะที่เขาพักอยู่ในวังเขามีความสะดวกสบายและ
มีความสุขพอควร ถึงแม้ว่าหน้าตาของเขาจะขี้ริ้วขี้เหร่ มีกิริยาท่าทางซุ่มซ่ามเป็นบ้านนอก แต่งกายปอน ๆ
รับประทานอาหารไม่เป็นเวลาและผิดนัดบ่อย ๆ มีอิสระเต็มที่ อยากเล่นอะไร ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นโดย
ไม่ต้องเกรงใจใคร บางครั้งก็แสดงกิริยาหยาบคาย หุนหันเอาแต่ใจตัวขณะที่เขากำลังเล่นเปียโนให้ฟัง
ถ้ามีใครพูดคุยและหัวเราะคิกคัก เขาจะโกรธมากและเลิกเล่น แล้วเดินหนีไปเฉย ๆ แต่ก็ไม่มีใครดูหมิ่นดูแคลน
หรือแสดงอากัปกิริยารังเกียจเขา ทุกคนพากันมองข้ามสิ่งเหล่านี้โดยไม่เอาใจใส่ เพราะนิยมในความเป็น
อัจฉริยะทางดนตรีของเขาพอถึงเดือนมีนาคม ค.ศ.1795 เบโธเฟนได้เสนอเพลงใหม่ที่เขาแต่งต่อประชาชน
ชาวเวียนนาเป็นครั้งแรก เพลงใหม่นี้เป็นเพลงเปียโนคอนเชอร์โต The Second in B Flat major
เป็นเพลงที่มีลีลางดงามตามแบบของเบโธเฟน ปรากฎว่าได้รับการต้อนรับจากประชาชน
เป็นอย่างดี ต่อจากนั้นเพลงต่าง ๆ ก็หลั่งไหลออกมาจากมันสมองของปลายปากกาของเขา
เป็นเพลงที่ใช้เล่นกับเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆเพลงหนึ่งที่ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม คือ
เพลงที่ใช้เล่นกับดนตรีเจ็ดชิ้น เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองที่ไพเราะและแปลก มีคนนิยมกันมาก
ตั้งแต่ ค.ศ.1800 เป็นต้นมา เบโธเฟนก็เปลี่ยนไปเอาดีและก้าวหน้าในทางแต่งเพลง
เริ่มต้นด้วยเพลง Dreutzer Sonata สำหรับไวโอลิน
The Moonlight และ Pathetic Sonata และเพลงคอนเชอร์โตอีก 3 เพลง
สำหรับเปียโน นับเป็น 6 เพลงแรกที่ใช้เล่นกับเครื่องดนตรีสำหรับเล่น 4 คน
และเริ่มแต่งเพลงซิมโฟนี จากการแต่งเพลงซิมโฟนีอันดับหนึ่งและสอง ทำให้เขาได้พบแนว
ใหม่สำหรับที่จะแต่งเพลงอันดับต่อ ๆ ไป โดยเห็นช่องทางที่จะใส่อารมณ์และความ
รู้สึกลงไปได้อย่างเต็มที่ ทั้งท่วงทำนองก็สามารถปรับปรุงให้กลมกลืนกันได้เป็นอย่างดี
เพลงที่เบโธเฟนแต่งเป็นเพลงที่แสดงออกมาอย่างเสรี แหวกแนว ไม่ดำเนินตามแบบ
แผนอันเก่าแก่ ตอนแรก ๆ ที่เพลงของเขาออกสู่ประชาชน
ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นา ๆ เช่นว่า “เป็นนักดนตรีที่นอกแบบแผนเป็นอัน
ตรายต่อศิลปะทางดนตรี แต่เขาก็ไม่แยแสว่าใครจะว่าอย่างไร คงดำเนินตามแบบของเขาต่อไป ในที่สุด
คนส่วนมากก็หันมานิยมชมชอบงานของเขาไปเอง ขณะนั้นเขามีอายุ 31 ปีเท่านั้น
สำนักพิมพ์ต่าง ๆ พากันมาแย่งกันซื้องานของเขาเพื่อไปตีพิมพ์จำหน่าย ซึ่งเป็นที่รับรองกัน
แล้วว่าเป็นแนวใหม่และแปลกดี ต้นฉบับของเขาเขียนด้วยลายมือขยุกขยิกไม่เรียบร้อย
แต่ทว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง และในปีเดียวกันนั้นเอง ขณะที่ชื่อเสียงของเขากำลังโด่งดังในฐานะ
นักแต่งเพลงเอก หูของเขาที่เริ่มมีอาการปวดและอื้อเมื่อ 2-3 ปีก่อน ได้กำเริบมากขึ้น
เจ็บปวดรวดร้าวทำให้เกิดความทนทุกข์ทรมานใจ
เขาเป็นอย่างยิ่ง หมอได้แนะนำให้เขาไปพักผ่อนตามหมู่บ้านแถบชานเมือง เขาได้เลือก
เอาเมืองไฮลิเกนสตัดท์ ซึ่งอยู่ห่างกรุงเวียนนาไปเพียง
เล็กน้อย เป็นเมืองที่เงียบสงบ มีทิวทัศน์สวยงาม มีทุ่งเลี้ยงแกะและขุนเขาคาร์พาเทียน
เขาไปพักอยู่กับชาวบ้านแถบนั้น ใช้เวลาวัน หนึ่ง ๆ
ด้วยการเดินไปตามป่ารอบ ๆ เมืองเฮลิเกนสตัดท์กับลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของเขาคนหนึ่งชื่อ
เฟอร์ดินานด์ ไรส์ ขณะที่กำลังเดินไปเรื่อย ๆ
ในป่านั้นก็มีเสียงขลุ่ยที่เด็กเลี้ยงแกะเป่าโหยหวนอยู่แต่ไกล ลูกศิษย์ของเขาได้สะกิดให้เขา
ฟังเสียงขลุ่ยนั้น เขาได้พยายามนั่งฟังอยู่เกือบชั่วโมงก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรแล้ว เขาใช้เวลาอัน
เปลี่ยวเปล่าเศร้าใจในเฮลิเกนสตัดท์นานพอควร เขาได้พยายามที่จะรักษาหูของเขาให้หายเป็น
ปกติแต่ก็ไร้ผล หูของเขาหนวกอย่างสนิทเสียแล้ว มันไม่สามารถจะรับฟังเสียงอะไรได้เลย
การที่จะพูดหรือสนทนากับใคร ๆ ก็ต้องวิธีเขียนหนังสือโต้ตอบกันไปมา เขาเริ่มคิดมาก
และเกิดความท้อแท้ในชีวิต เขาจะต้องผจญกับความเงียบสงัดอันน่าสะพึงกลัว และเขาจะอยู่ใน
โลกต่อไปได้อย่างไร เคราะห์ร้ายมากสำหรับนักดนตรีอย่างเขาที่มีหูใช้ฟังเสียงดนตรีไม่ได้
เขาคิดอย่างนี้ไปด้วยความขมขื่นใจที่สุด บางครั้งก็คิดจะฆ่าตัวตายให้รู้แล้ว
รู้รอดไป เขาได้ระบายความทุกข์ทรมาน และความเจ็บปวดรวดร้าวของเขาไว้ ในสมุดบันทึก
ส่วนตัวที่มีชื่อว่า Heiligentstadt testament
ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1802 จากความเป็นอัจฉริยะของเขานี้เอง ทำให้เขามีพลังใจเข้มแข็ง
ขึ้นและปลงตกในเรื่องความพิการ เขาจะไม่แยแสกับมันต่อไปอีก เขาจะต้องเอาชนะโชคชะตา
ของตัวเอง จึงได้ตั้งปณิธานว่า “ฉันจะไม่ยอมสยบให้แก่ความเคราะห์ร้ายเป็นอันขาด
และความพิการจะดึงตัวฉันให้ตกต่ำไม่ได้” จากความบันดาลใจอันนี้เอง ทำให้เขาตัดสินใจ
กลับจากเมืองไฮลิเกนสตัดท์สู่เวียนนาอีกครั้ง ถึงแม้ว่าหูของเขานั้นจะฟังเสียงดนตรีไม่ได้
แต่เขาก็สมารถฟังได้ด้วยญาณของนักดนตรีในภาวะอันรันทดใจเช่นนี้ หลังจากเขากลับมาสู่เวียนนา
แล้วก็หันมาจับงานแต่งซิมโฟนีอีก ซึ่งเป็นซิมโฟนีอันดับที่ 3 ที่มีชื่อว่า
“เอรอยกา” เป็นเพลงที่แสดงถึงความรู้สึกบูชาในวีรบุรุษ เดิมเพลงนี้มีชื่อว่า “โบนาปาร์ต”
เพื่ออุทิศให้แก่นโปเลียนผู้กล้าหาญ แต่เขาจำต้องขีดชื่อ
“โบนาปาร์ต” ออก หลังจากที่ นโปเลียนได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งประเทศฝรั่งเศส
เขามีความโกรธมากเมื่อเห็นนโปเลียน
ผู้ที่เขาบูชาได้กลายเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง จึงได้ตั้งชื่อซิมโฟนีอันดับที่ 3 ของเขาเสียใหม่ว่า
‘EROICA’ ซึ่งแปลว่า “กระบวนแห่ศพ”
เพลงซิมโฟนี เอรอยกา นับว่าเป็นเพลงที่เปิดศักราชใหม่แห่งโลกดนตรี และนับว่าเป็นสัญลักษณ์ของเพลงแบบ
โรแมนติคที่ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้ละทิ้งเพลงแบบคลาสสิกและแนวของโมสาร์ทและไฮเดินเสียสิ้นเชิง
เพลงของเบโธเฟน ได้ใส่อารมณ์และความรู้สึกอย่างรุนแรงลงไปด้วย จึงนับว่าเบโธเฟนเป็นผู้สร้างแนวใหม่ขึ้นและ
เป็นรากฐานของเพลงซิมโฟนีในกาลต่อมา
เบโธเฟนได้แต่อุปรากรขึ้นเรื่องหนึ่งใน ค.ศ.1805 ชื่อ Fidelio ขณะที่พักอยู่ในเวียนนา
ได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรกที่ Theater an der Wien
เป็นอุปรากรเรื่องเดียวเท่านั้นในชีวิตของเขา แม้ว่าอุปรากรเรื่องนี้จะไม่ค่อยมีคนนิยมแพร่หลานนัก
แต่ก็ได้รับการยกย่องนับถือมากพอสมควร
ใน ค.ศ.1806 เขาเริ่มจับปากกาแต่งซิมโฟนีอีก นับเป็นเพลงซิมโฟนีอันดับที่ 4 แต่งขณะ
ที่เขาตกอยู่ในอารมณ์ของความรัก หลังจากที่เขาไปเยี่ยมเพื่อสนิทคนหนึ่งที่ฮังการี คือ
เคานท์ ฟอน บรุนสวิค และผู้ที่เขาหลงรักก็คือน้องสาวของเพื่อนคนนี้เอง ชื่อ เทเรเซ ฟอน บรุนสวิค
ทั้งสิงมีความรักต่อกันมาก แต่ประเพณีขวางกั้น เพราะฝ่ายหญิงเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์คนหนึ่งของฮังการี
จะแต่งงานกับคนธรรมดาสามัญหาได้ไม่ เพราะจะเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนทั้งหลาย
ในระยะนี้โธเฟนก็ใช้เวลาแต่งเพลง Rasumoffsky Quartets (Op.59) ไปด้วย
เพลงซิมนีอันดับ 4 สำเร็จลงในปี ค.ศ.1807 ได้นำออกแสดงครั้งแรกที่วัง Lobkowitz พร้อมกับ
เปียโนคอนเชอร์โตอันดับ 4 จากนั้นก็เริ่มแต่งเพลงซิมนีอันดับ 5 พร้อมกันนั้นก็ได้แต่งเพลง
Overture Coriolan ซึ่งเสร็จก่อนซิมนีอันดับ 5 ได้นำออกแสดงครั้งแรกใน ไอเซนสตัท์
(Eisenstadt) พอถึงฤดูร้อน เบโธเฟนก็ท่องเที่ยวไปบาเดน ไฮลิเกนสตัดท์ และไปถึงเมือง
ไอเซนตรัคท์ในฤดูใบไม้ร่วงค.ศ.1808 ซิมโฟนีอันดับที่ 5 ก็เสร็จอย่างสมบูรณ์ และได้แต่งซิม
โฟนีที่มีชื่อว่า Pastoral Symphony ซึ่งนับเป็นอันดับ 6 ซิมโฟนีอัน
นี้แต่งขึ้นจากความรู้สึกที่มีความรักในธรรมชาติ จากความทรงจำที่ได้พบเห็นมาจากการท่อง
เที่ยวไปในที่ต่าง ๆ เมื่อเขาเสนองานชิ้นนี้ต่อประชาชน ก็ปรากฏว่าได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม
เขาได้เริ่มงานเปียโนคอนเชอร์โต อันดับที่ 5 ในค.ศ.1808 จากนั้นอีก 4 ปี จึงได้นำออก
แสดงให้ประชาชนฟัง ณ กรุงเวียนนา เมื่อ ค.ศ.1812 แต่เขาไม่ได้แสดงด้วยตนเอง หากแต่
Czermy ลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาเป็นผู้นำออกแสดงใน ค.ศ.1808 ซิมโฟนีอันดับที่ 5
ก็เสร็จอย่างสมบูรณ์ และได้แต่งซิมโฟนีที่มีชื่อว่า Pastoral Symphony ซึ่งนับเป็นอันดับ 6
ซิมโฟนีอันนี้แต่งขึ้นจากความรู้สึกที่มีความรักในธรรมชาติ จากความทรงจำที่ได้พบเห็นมาจาก
การท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ เมื่อเขาเสนองานชิ้นนี้ต่อประชาชน
ก็ปรากฏว่าได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม เขาได้เริ่มงานเปียโนคอนเชอร์โต อันดับที่ 5 ใน
ค.ศ.1808 จากนั้นอีก 4 ปี จึงได้นำออกแสดงให้ประชาชนฟัง ณ กรุงเวียนนา เมื่อ ค.ศ.1812
แต่เขาไม่ได้แสดงด้วยตนเอง หากแต่ Czerny ลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาเป็นผู้นำออกแสดง
ใน ค.ศ.1812 เบโธเฟนได้แต่งซิมโฟนีอันดับ 7 ซึ่งเป็นปีที่ยุโรปกำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม
นโปเลียนกรีฑาทัพเข้ายึดกรุงเวียนนา เบโธเฟนเดินทางไปที่ Baden, Teplitz, Karlsbad,
และ Franzensbrunn ไปพบกับเกอเต้ (Goethe) สหายต่างวัยซึ่งเป็น
ผู้ที่เขานับถือมาก ซิมโฟนีอันดับที่ 7 ได้เสร็จสมบูรณ์เมื่อต้นปี ค.ศ.1812 นั้นเอง เขาเริ่มแต่ง
ซิมโฟนีอันดับ 8 ขณะที่เขาเดินทางไปเมือง
Teplitz และไปเสร็จสิ้นลงที่เมือง linz ในปี ค.ศ.1812
ต่อมาไป ค.ศ.1813 ได้แต่งเพลง Cantata Der Glorreiche Augenblick และในปีนี้เขา
ก็ได้นำเอาซิมโฟนีอันดับ7 ออกแสดงเป็นครั้งแรกพร้อมกับ Wellington’sVictory ที่แต่งเสร็จ
ใหม่ ๆ แสดง ณ มหาวิทยาลัยแห่งเวียนนา เพื่อเก็บเงินช่วยเหลือทหารออสเตรียน และบาวาเรียน
ที่ได้รับขาดเจ็บจากการสงคราม พอถึงหน้าร้อนเขากลับไปพักผ่อนที่บาเดนเช่นเคย
เมื่อกลับมาเวียนนา ในปี ค.ศ.1814 ก็นำซิมโฟนีอันดับ 8 ออกแสดงเป็นครั้งแรกพร้อมกับอุปรากร
Fidelio ออกแสดงนับเป็นครั้งที่ 3 ที่ Kartertor Theatre ในเดือนกุมภาพันธ์ และในปีเดียว
กันนี้ได้นำเพลงต่าง ๆ ของเขาออกแสดงอีกหลายแห่ง
เช่นในเดือนพฤศจิกายน แสดงคนเสิร์ทใน Redoutensaal ในขณะที่มีการประชุมที่เรียกว่า
Congress of Vienna
เพลง Triple Concerto (op.56) และเพลง Piano Sonata (op.90) แต่งเสร็จในปีนี้ด้วย
ในเดือนมกราคม ค.ศ.1815 แสดงคนเสิร์ทในเวียนนา เนื่องใน Tsarina’s birthday ต่อมาอีก
ไม่นานนักน้องชายที่ชื่อคาร์ลก็ถึงแก่กรรม คาร์ลได้ฝากฝังลูกชายให้เบโธเฟนดูแลร่วมกับ
ภรรยาหม้ายของเขา แต่เบโธเฟนต้องการจะคุ้มครอง
ดูแลแต่ผู้เดียว ทางฝ่ายแม่ของเด็กก็ไม่ยินยอม จึงหาวิธีต่าง ๆ ถึงกับเกิดฟ้องร้องกันในโรงศาล
ในที่สุดเบโธเฟนก็เป็นฝ่ายชนะความ ได้หลานชายที่อยู่ในความคุ้มครอง เมื่อได้หลายชายมาแล้วแทนที่เขาจะ
ให้ความอบอุ่นและความสุขแก่เด็ก
เขากลับทำทารุณกรรมต่าง ๆ ต่อหลานชาย เมื่ออยู่ด้วยกันได้นาน 4 ปี
หลานชายก็ทนบีบคั้นไม่ไหวจึงหนีไปอยู่กับแม่ แต่เบโธเฟนก็ติดตามเอากลับมาอีกจนได้
เบโธเฟนเริ่มแต่งซิมโฟนีอันดับ 9 ในปี ค.ศ.1817 ซึ่งนับว่าเป็นงานชิ้นเยี่ยมและยิ่งใหญ่ของเขา
(Mammoth Ninth Symphony)เขาใช้เวลาเขียนถึง 6 ปี คือมาเสร็จเอาเมื่อ ค.ศ.1823
เพลงอื่น ๆ ที่แต่งเสร็จลงในปีนี้ได้แก่ Missa Solemnis ซึ่งได้แต่งให้แก่
Archduke Rudolph เพลง Missa Solemnis ได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรกที่
Petersburg เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1824อีก 1 เดือน ต่อมาคือ วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1824
เบโธเฟนก็ได้นำเพลงซิมโฟนีอันดับ 9 อันยิ่งใหญ่ของเขาออกแสดงเป็นครังแรก
พร้อมกับการตัดเอาบางตอนของ Missa Solemnis มาร่วมแสดงด้วย เป็นการแสดงครั้ง
ยิ่งใหญ่ของเขาอีกครั้งหนึ่ง ณ กรุงเวียนนา หนังสือพิมพ์ในกรุงเวียนนาลงข่าวการแสดงครั้งนี้
อย่างครึกโครม เบโธเฟนกำกับเพลงด้วยตนเอง ในท่ามกลางวงดนตรีอันมหึมา ซึ่งประกอบ
ด้วยนักดนตรีและเครื่องดนตรีนับร้อย ทั้งนักร้องเดี่ยวและนักร้องหมู่อีกหลายสิบคน มีผู้เข้าฟัง
การแสดงครั้งนี้อย่างล้นหลาม เมื่อการเล่นกระบวนที่หนึ่งได้เริ่มขึ้น เสียงเพลงจากชีวิตของ
เขาก็กระหึ่มไปทั่วบริเวณ พาผู้ฟังให้เคลิบเคลิ้มไปสู่อีกโลกหนึ่ง
ทุกคนนั่งนิ่งเหมือนถูกมนต์สะกด เมื่อกระบวนที่ 1 ได้จบลง เสียงปรบมือและโห่ร้องแสดงความ
ชื่นชมจากผู้ฟังก็ดังขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหว แต่เบโธเฟนผู้เดียวเท่านั้นที่ไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้นเลย
ยังคงนิ่งเฉยอยู่ กระบวนที่ 2 ก็ได้เริ่มขึ้น ผู้ฟังเงียบกริบเช่นเคย
จากนั้นก็เป็นกระบวนที่ 3-4 และต่อไปอีกจนกระทั่งจบเพลง ผู้ฟังยังเงียบอยู่ชั่วครู่ จากนั้นเสียงตะโกนโห่ร้อง
และเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีต่อความสำเร็จอย่างงดงามครั้งนี้
ก็ดังขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหวอยู่เป็นเวลานาน แต่เบโธเฟนผู้กำกับเพลง ยังคงยืนหันหลัง
ให้แก่ผู้ฟังเฉยอยู่ สายตาจับจ้องอยู่ที่แผ่นโน้ตเพลงหน้าสุดท้าย นักร้องหญิงคนหนึ่งสังเกตุ
เห็นเช่นนั้นจึงสะกิดเขาเบา ๆ ให้หันหน้ามาทางประชาชนคนฟัง จึงทำให้เขาเห็นมือและใบหน้า
ที่แสดงความชื่นชมยินดีต่องานชิ้นนี้ของเขา เขารู้สึกตื้นตันใจมากจนน้ำตาไหลอาบแก้มทั้งสองข้าง
เขาโค้งศีรษะรับด้วยความปลื้มใจที่สุด นี่คือการปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้าย
ในชีวิตอันแสนจะระทมขมขื่นขอนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่นี้ เขาดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นโสดตลอดชีวิต
ความจริงเขาเคยมีความรักหลายครั้ง แต่ละครั้งที่เขารักผู้หญิงคนใดเขาก็อุทิศผลงานที่เขาแต่ง
ขึ้นในระยะนั้นๆให้ทุกคนเขาเคยมีความรักฝังใจอย่างมากอยู่ครั้งหนึ่งซึ่งจากหลักฐานที่เป็นจดหมายรัก
ที่ค้นพบในระหว่างกองกระดาษบนโต๊ะในห้องของ
เขาหลังจากที่เขาได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นจดหมายรักอันลือชื่อ จดหมายนั้นมีชื่อว่า
‘Immortal Belve’ “รักฝังใจ” ซึ่งเขาได้พรรณนาความรักของเขาที่มีต่อหญิงคนหนึ่ง อย่างไม่มีวันลืม
ส่วนชีวิตในด้านครอบครัวของเขานั้น เขามักจะกล่าวอยู่เสมอว่า “เป็นครอบครัวที่เปรียบเสมือนแพแตก”
ทุกคนพี่ ๆ น้อง ๆต่างพยายามเอาตัวรอดกัน เบโธเฟนมีชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาอย่างนี้ตลอดชีวิต
เขาเกิดในยุคของเกอเต้ และวิลเลอร์ ซึ่งเป็นนักปราชญ ์และกันกวีผู้ยิ่งใหญ่ และเบโธเฟนกับเกอเต้
ก็เป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันมาก ถึงแม้ว่าเกอเต้จะแก่กว่าเขาถึง 21 ปี
ก็ตาม เบโธเฟนให้ความนับถือแก่เพื่อนคนนี้อย่างมาก เกอเต้คนเดียวเท่านั้นที่สามารถจะหยุด
ยั้งอารมณ์ร้ายของเขาได้
หลังจากที่แสดงซิมโฟนีอันดับที่ 9 ผ่านไปราว ๆ 2 ปี คือในปี ค.ศ.1826 สุขภาพของเขายิ่งทรุด
โทรมลงเรื่อย ๆ หลานชายที่มาอยู่ด้วยก็จะทำอัตนิวิบาตรกรรม แต่มีคนเห็นเสียก่อน จึงถูกนำขึ้นศาล
ฐานะพยายามฆ่าตัวตาย หลายชายได้สารภาพว่า เขาถูกลุงบีบบังคับมาก ไม่มีทางอื่นที่จะหนีความ
ทรมานนตี้ได้นอกจากฆ่าตัวตาย เบโธเฟนจึงส่งหลานชาย
ไปอยู่กับโจฮันน์ น้องชายอีกคนหนึ่งของเขา ขณะที่นำหลายชายไปส่งให้น้องชาย วันนั้นอากาศหนาวจัด
เบโธเฟนนั่งรถฝ่าความหนาวกลับสู่เวียนนา ทำให้เขาเป็นหวัดอย่างแรดและกลายเป็นนิวมอเนีย ในที่สุด
พอหายจากนิวมอเนียก็เป็นโรคดีซ่านและโรคท้องทานติดตามมา เขาต้องนอนซมซานเพราะโรคนี้อยู่หลาย
เดือน หมอได้ทำการรักษาจนสุดความสามารถต่อมาในตอบ่ายวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1827
ขณะนั้นเบโธเฟนกำลังป่วยหนักไม่ได้สติ อากาศก็กำลังปั่นป่วน พายุฝนโหมอย่างหนัก
มีลูกเห็บตก และฟ้ากำลังคะนองอย่างรุนแรง ฟ้าแลบแปลบปลาบอย่างน่าสะพึงกลัว แล้ว
ในบัดดลนั้นเอง เสียงฟ้าคำรามลั่นเปรี้ยง กัมปนาทหวั่นไหว ทำให้บ้านสั่นสะเทือนไปทั้งหลัง แสดงสว่างวาบ
ของสายฟ้าแลบได้พุ่งวูบวาบเข้ามาจนถึงห้องนอนของเบโธเฟนทำ
ให้เขาลุกพรวดพราดขึ้นนั่ง พร้อมกับยกมือข้างขวาไขว่คว้าไปมาแล้วก็ผงะหงายหลังลงกับพื้นเตียงสิ้นใจทันที
วิญญาณของเขาได้ลอยออกจาร่างไปพร้อมกับสายฟ้านั้น ในขณะที่เขามีอายุได้เพียง 57 ปี เท่านั้น
เบโธเฟนได้ตายไปนานแสนนาน แต่เสียงเพลงอมตะของเขายังคงครางกระหึ่ม ก้องกังวานไปทั่วทุก
มุมโลกอย่างไม่มีวันจะเลื่อมสูญไปได้เลย แน่นอนเขายังคงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีอยู่ตลอดไป.
(ข้อความในบทความนี้ได้คัดลอกจากหนังสือนักดนตรีเอกของโลก เขียนโดย ทวี มุขธระโกษา)