เตือนภัยสาว รุ้จัก ยาเสียตัว

เตือนภัยสาว! รู้จัก “ยาเสียตัว”
สสส. (1,749 views) first post: Tue 23 August 2011 last update: Tue 23 August 2011
"ยาเสียสาว" มิใช่เรื่องใหม่ สิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิงให้รู้จักเท่าทัน จึงนำมาบอกให้ผู้อ่านได้รู้จักและระมัดระวังตัวกันมากขึ้นค่ะ
 
 


 

หน้าที่ 1 - เตือนภัยสาว! รู้จัก “ยาเสียตัว”
 

ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสสส. และวิชาการดอทคอม
www.thaihealth.or.th


 




 

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวยาเสียตัว คือ "มิดาโซแลม" ที่นักศึกษาทางภาคอีสานไปสะเดาะเคราะห์ แล้วคนทรงเจ้าให้กินน้ำมนต์เพื่อทำพิธีให้ตายก่อน จากนั้นก็ไม่ได้สติและถูกล่วงละเมิดทางเพศ และอีกชนิดคือ "จีเอชบี" ที่ชาวพม่าเร่ขายบริเวณชายแดนไทย-พม่า โดยอ้างว่าเป็น "ยากระตุ้นทางเพศสตรี" กรณี "จีเอชบี" ชื่ออาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่ปรากฏว่ามีคดีเกิดขึ้นทางภาคเหนือเหยื่อเป็นผู้หญิงเช่นกัน เมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำให้ไม่รู้สึกตัว และไม่สามารถที่จะป้องกันตัวเองได้

ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จัก "มิดาโซแลม" และ "จีเอชบี" จึงขอนำข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จาก นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการ อย. มาบอกกล่าวกัน

เริ่มจากยาเสียตัว "มิดาโซแลม" เป็นชื่อทางเคมี ส่วนชื่อทางการค้า คือ "โดมิคุม" เป็นยานอนหลับในกลุ่ม"เบนโซไดอะซีปีน" ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ แต่ควรใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะการใช้ยาติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดภาวะติดยาได้ เหมาะที่จะใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาหลับยาก เมื่อหลับแล้วจะหลับได้จนถึงเช้า


 


รูปซ้ายแสดงโครงสร้างเคมีของ มิดาโซแลม และ รูปขวาคือผลิตภัณฑ์ยายี่ห้อ โดมิคุม


 

คุณสมบัติเด่น คือ ฤทธิ์สงบประสาท ทำให้นอนหลับ ทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงมีการนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรม เช่น การนำไปผสมในเครื่องดื่มให้เหยื่อกิน

"มิดาโซแลม" จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายโดยกองควบคุมวัตถุเสพติด อย. เพื่อจำหน่ายให้แก่แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ใช้ในการรักษาพยาบาลคนไข้และสัตว์ โดยห้ามขายในร้านขายยาแผนปัจจุบันโดยเด็ดขาด

ยานอนหลับชนิดที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มี 8 ชนิด เป็นยาในกลุ่ม "เบนโซไดอะซีปีน" 7 รายการ และไม่ใช่ "เบนโซไดอะซีปีน" 1 รายการโดยยาทั้ง 8 รายการแบ่งการออกฤทธิ์ได้ 2 กลุ่ม คือ ออกฤทธิ์ยาวและออกฤทธิ์สั้น ซึ่ง "มิดาโซแลม" อยู่ในกลุ่มออกฤทธิ์สั้น

"มิดาโซแลม" ที่จำหน่ายในประเทศไทย มี 2 รูปแบบ คือ ชนิดเม็ด และชนิดฉีด โดยชนิดเม็ดมีขนาดเดียว คือ 15 มก. ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ โดยใช้ในระยะสั้นเท่านั้น โดยยาจะออกฤทธิ์ทำให้ง่วงประมาณ 15 นาที อีกชนิดอยู่ในรูปยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ ใช้ทำให้สลบก่อนการใช้เครื่องมือตรวจวินิจฉัยหรือการตรวจโรคใดๆ ที่อาจใช้หรือไม่ใช้ยาชาชนิดฉีด ใช้ทำให้สลบและคงอาการนั้นไว้ โดยอาจใช้ร่วมกับยาสลบชนิดอื่น และใช้เป็นยานอนหลับในผู้ป่วยหนัก จะออกฤทธิ์ภายในเวลา 1-5 นาที ส่วนชนิดฉีดมี 2 ความแรง คือ 1 มล. (5 มก./ 1มล.) และ 3 มล. (15 มก./ 3 มล.)

ปริมาณการใช้ "มิดาโซแลม" ชนิดเม็ด 15 มก. ปี 2549 มีจำนวน 1,721,800 เม็ด ปี 2550 จำนวน 1,776,100 เม็ด ปี 2551 จำนวน 1,846,500 เม็ด ปี 2552 จำนวน 1,433,800 เม็ด และปี 2553จำนวน 1,617,000 เม็ด ทั้งนี้จากข้อมูลปีงบประมาณ 2553มีการใช้ยาชนิดเม็ดในคลินิก 53% รพ.เอกชน 28% และ รพ.รัฐบาล 19%

ส่วนการใช้ "มิดาโซแลม" ชนิดฉีด ขนาด 1 มล. ปี 2549 จำนวน 4,607,800 ขวด ปี 2550 จำนวน 5,823,600 ขวด ปี 2551 จำนวน 6,866,900 ขวด ปี 2552จำนวน 7,043,000 ขวด และปี 2553 จำนวน 8,647,800 ขวด ส่วนขนาด 3มล. ปี 2549 จำนวน 64,595 ขวด ปี 2550 จำนวน 52,040 ขวด ปี 2551 จำนวน 76,075 ขวด ปี 2552 จำนวน 67,290 ขวด และปี 2553 จำนวน 76,520 ขวด ทั้งนี้จากข้อมูลปี 2553 พบว่ามีการใช้ยาชนิดฉีดใน คลินิก 1% รพ.เอกชน 19% และ รพ.รัฐบาล 80%


 



 

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ ง่วงซึม เดินเซ หากได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะติดยา และเมื่อหยุดยากะทันหันอาจก่อให้เกิดอาการถอนยา คือ อาการนอนไม่หลับ การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอาจกดการหายใจ และทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ

อาการอื่นๆ ที่พบ เช่น พฤติกรรมบกพร่อง ความจำด้อยลง ปวดศีรษะ มึนงง สับสน วิตกกังวล ไม่อยู่นิ่ง เปลี้ย เวียนศีรษะ เพ้อ กระสับกระส่าย เดินเซ ฝันร้าย พูดไม่ชัด คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก

การได้รับ "มิดาโซแลม" เกินขนาดจะทำให้เกิดอาการซึมมาก หลับนานผิดปกติ กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน การตอบสนองลดลง ไม่รู้สึกตัว และโคม่า โดยเฉพาะถ้ารับประทานพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจไปกดการหายใจและเสียชีวิตได้ หากมีอาการนอนไม่หลับ ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ ควรหยุดยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์

ความผิด กรณี ผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ครอบครอง ระวางโทษจำคุก 5-20 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท เสพ ระวางโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท จูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวงหรือขู่เข็ญให้ผู้อื่นเสพ ระวางโทษจำคุก 2-10 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-200,000 บาท จูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวงหรือขู่เข็ญให้ผู้อื่นเสพ โดยเป็นการกระทำต่อหญิง หรือต่อบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ระวางโทษจำคุก 3 ปี-ตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 60,000-500,000 บาท

สำหรับอีกตัวที่อ้างว่าเป็น "ยากระตุ้นทางเพศสตรี" คือ "จีเอชบี" หรือ แกมม่า-ไฮดรอกซี บิวทีเรท ( Gamma-Hydroxy Butyrate) จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ในประเทศไทยไม่อนุญาตให้ผลิตและนำเข้ามาจำหน่าย

"จีเอชบี"เป็นสารที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย จึงพบได้ทั่วไปในเซลล์ของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ด้วยเหตุนี้ในทางการแพทย์จึงได้มีการนำ "จีเอชบี" ที่สังเคราะห์ขึ้นมาใช้เป็นยาสลบ ยานอนหลับ ยารักษาภาวะง่วงหลับ ใช้สำหรับช่วยในการคลอด รวมทั้งใช้รักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

นอกเหนือจากการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทาง การแพทย์แล้ว ยังพบว่ามีการนำมาใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อด้วย เนื่องจากมีฤทธิ์ในการหลั่ง "โกรทฮอร์โมน" และกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนของร่างกาย ภายหลังการใช้ยาจะทำให้รู้สึกสบาย เกิดภาวะคล้ายดื่มแอลกอฮอล์ มีความเคลิบเคลิ้มเป็นสุข ช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ จากฤทธิ์ยาในลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ยาเบี่ยงเบนวัตถุประสงค์การใช้ยาไปในทางที่ผิดได้

"จีเอชบี" มีทั้งชนิดผง เม็ด แต่ส่วนใหญ่จะใช้อยู่ในรูปสารละลายที่ละลายน้ำ มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี มีรสเค็ม


 


รูปซ้ายแสดง "จีเอชบี" ทั้งแบบผง แบบก้อน และแบบละลายน้ำ รูปทางขวาคือผลิตภัณฑ์ยา "จีเอชบี"


 

การออกฤทธิ์ของ "จีเอชบี" จะกดประสาทในระยะแรก คือ ลดอาการวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับ และทำให้สลบ แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะกลับรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ไม่เกิดอาการเมาค้างเช่นเดียวกับที่เกิดจากการใช้ยากดประสาทโดยทั่วไป ระยะเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ 5 - 20นาที ระยะเวลาในการออกฤทธิ์นาน 1.5-3ชั่วโมง

อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจาก "จีเอชบี" เป็นอาการที่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการง่วงนอน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เคลื่อนไหวลำบาก แต่ในขนาดยาที่สูงมาก อาจทำให้เกิดการกดการทำงานของหัวใจ กดการหายใจ ชักและหมดสติ

การใช้ "จีเอชบี" โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ใช้ในขนาดที่สูงมาก หรือใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์และยากดประสาทชนิดอื่นๆ จะทำให้เกิดการชัก การหายใจถูกกดและหมดสติได้ นอกจากนี้ขนาดยาที่ทำให้ถึงระดับการออกฤทธิ์ในแต่ละบุคคล อาจจะแตกต่างกันมากจนไม่อาจจะคาดหมายได้ การนำยามาใช้ในทางที่ผิดโดยไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

จากข้อมูลการใช้ยาในทางที่ผิดในต่างประเทศ พบว่าในปัจจุบันได้มีการนำ "จีเอชบี" มาใช้ทดแทน "ยาอี" เนื่องจากมีฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกันคือ ทำให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกพึงพอใจกับการถูกสัมผัส และมีความรู้สึกเคลิบเคลิ้มเป็นสุข โดยจะเตรียมอยู่ในรูปสารละลายบรรจุอยู่ในขวดเล็กๆ ประมาณ 30-50 มล.

ผู้เสพต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000- 100,000 บาท ส่วนผู้ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท

เรื่อง "ยาเสียสาว" มิใช่เรื่องใหม่ สิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิงให้รู้จักเท่าทัน เช่น เวลาไปไหนคนเดียว คนแปลกหน้านำเครื่องดื่ม หรือ อาหารมาให้ก็ไม่ควรดื่มหรือกิน ควรดื่มเครื่องดื่มจากภาชนะบรรจุที่เปิดเอง เครื่องดื่มที่มีสีกลิ่น รสชาติเปลี่ยนไป ตกตะกอน ควรหลีกเลี่ยง.



 

*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและแหล่งข้อมูลทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
ท่านสามารถนำเนื้อหาในส่วนบทความไปใช้ แสดง เผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา ห้ามใช้เพื่อการค้าและห้ามดัดแปลง



 

 
Credit: วิชาการดอดคอม
24 ส.ค. 54 เวลา 06:13 6,626 2 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...