ASTVผู้จัดการออนไลน์--Décadence Mandchoue บันทึกความทรงจำที่เผยบทรักพิสดารของพระนางซูสีไทเฮา(ฉือสี่ไท่โฮ่ว)แห่งราชวงศ์ชิง โดยเซอร์เอ็ดมุนด์ ทรีลอว์นี แบ็กเฮาวส์ (Sir Edmund Trelawny Backhouse) ได้รับการกล่าวขวัญอีกครั้ง เมื่อบริษัทในฮ่องกงได้นำ Décadence Mandchoue ฉบับภาษาจีนและฉบับภาษาอังกฤษออกวางแผงในดินแดนเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับฉบับพากษ์จีนมีชื่อว่า ไทเฮากับข้าพเจ้า 《太后與我》 จัดพิมพ์โดย New Century Press แห่งฮ่องกง
แบ็กเฮาวส์ได้เขียน Décadence Mandchoue เมื่อปี 1943 โดยผู้เขียนตั้งใจให้เป็นบันทึกความทรงจำความสัมพันธ์สวาทกับซูสีไทเฮา เนื้อเรื่องมีบทบรรยายฉากรักพิสดารบนเตียงระหว่างผู้เขียนเซอร์แบ็กเฮาวส์ กับพระนางซูสีไทเฮา และที่น่าตกตะลึงไปกว่านั้นก็คือ เขาได้พรรณนาความรักระหว่างชายภายในราชสำนักชิง ความสัมพันธ์รักร่วมเพศระหว่างเขากับบรรดาเชื้อพระวงศ์ รวมทั้งขุนนางชั้นสูง เซอร์แบ็กเฮาวส์ประกาศตัวว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ และมีความสัมพันธ์กับหญิงคนเดียวคือ พระนางซูสีไทเฮา
นอกจากนี้ นายแบ็กเฮาวส์ ยังได้ฉีกตำราประวัติศาสตร์ทั่วไป โดยเปิดเผยว่าซูสีไทเฮาสิ้นพระชนม์เพราะถูกสังหารด้วยกระสุนจากกระบอกปืนของแม่ทัพหยวน ซื่อไข่
แบ็กเฮาวส์เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1873 เป็นบุตรชายคนโตของตระกูลเควกเกอร์ (Quaker) อันเก่าแก่และมีชื่อเสียง หลังจากที่เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในปี ค.ศ. 1898 ก็ได้เดินทางมายังกรุงปักกิ่ง เขาเชี่ยวชาญทั้งภาษาจีน ภาษาแมนจู และภาษามองโกล ได้ทำงานแปลและเป็นล่ามให้กับกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษและหนังสือพิมพ์ เดอะ ไทมส์แห่งลอนดอน แบ็กเฮาวส์เป็นผู้เชี่ยวชาญลัทธิบุรพนิยม(Orientalism) หนังสือเกี่ยวกับเรื่องจีนของเขาติดอันดับหนังสือขายดี ได้แก่ China under the Empress Dowager (1910) โดยหนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนร่วมกับนายแบลนด์ (J.O.P. Bland) ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษร่วมค่ายหนังสือพิมพ์เดียวกับเขา หลังจากนั้นทั้งสองยังได้เขียนงานร่วมกัน คือ Annals and Memoirs of the Court of Peking (1914)
แบ็กเฮาวส์ได้เขียนบันทึกความทรงจำ ชื่อว่า Décadence Mandchoue เผยถึงสัมพันธ์สวาทในสำนักชิง โดยนาย Reinhard Hoeppli นายแพทย์ชาวสวิสที่สนิทสนมกับเขารบเร้าให้เขาเขียนบันทึกความจำอันน่าตื่นตะลึงในสำนักชิงที่ท่านเซอร์ฯได้ประสบมาไว้ หลายเดือนต่อมาแบ็กเฮาวส์ก็ถึงแก่อนิจกรรม(เดือนมกราคม ค.ศ. 1944) ด้วยโรคร้าย ที่กรุงปักกิ่ง ในวัย 71 ปี
แบ็กเฮาวส์วัย 32 ร่วมเตียงกับไทเฮาชันษา 70 ถึงสองครั้งในคืนเดียว
ในบทนำของบันทึกฯ แบ็กเฮาวส์ได้ใช้วลี "ความรักที่ทำให้ดวงเนตรของผู้คนมืดบอดนี้ดั่งมายาเพ้อฝันเหนือจินตนาการ” พรรณนาประสบการณ์พิศวาสในราชสำนักชิงที่เขาได้ประสบมา เล่าว่าเมื่อวัย 32 เขาเริ่มเข้าวังที่ประทับของพระนางซูสีฯอย่างลับๆ ด้วยสถานะ “คู่นอน" อันทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองได้ผันแปรจาก “นักการทูตหนุ่มกับไทเฮา" มาเป็น “คู่รักเริงสวาท" ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เขากระอักกระอ่วนใจไม่น้อย โดยในกิจกามนี้ก็มีมหาขันทีหลี่ เหลียนอิง เป็นผู้คอยจัดเตรียมยาโป๊วปลุกอารมณ์เพศให้แก่เขา ทั้งช่วยเขาอาบน้ำ พรมน้ำหอม ทำให้เขาเกิดอารมณ์เสน่หาสนองความปรารถนาของพระนางซูสีฯวัย 70 ชันษา
ท่านเซอร์ฯบรรยายว่า “ข้าพเจ้าได้ถอดเสื้อผ้าออก ยืนเปลือยกายล่อนจ้อนอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งได้ยินเสียงอันคุ้นหู “มานี่เร็วๆ เจ้าจะรอช้าอยู่ใย เรารุ่มร้อนจะแย่แล้ว!” ตอนนั้นข้าพเจ้าไม่รู้สึกอาย แต่ไฟพิศวาสกลับพวยพุ่งขึ้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ไปได้ หนุ่มวัย 32 เบื้องหน้าพระนางหม้ายชันษา 70 ข้าพเจ้าคุกเข่าลงหน้าบรรจถรณ์ (เตียง) หงส์องค์ใหม่ ซึ่งมีขนาดอลังการพอๆ กับบรรจถรณ์มังกร “กระหม่อมอยู่นี่แล้วพะยะค่ะ กระหม่อมพร้อมทำตามพระประสงค์ของไทเฮาด้วยสุดชีวิตจิตใจของกระหม่อม"
“ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณท่านขันทีหลี่ เหลียนอิงและยาปลุกเร้าอารมณ์สารพัดประโยชน์ของเขาด้วยใจจริง ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนตัวเองเหาะเหินเดินอากาศได้ คล้ายกับอาชาหนุ่มคะนองผยองศึกเลยทีเดียว หลังจากคลื่นกระทบฝั่งไปคำรบหนึ่งแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างเสร็จสมอารมณ์หมาย กระทั่งเกือบยามสาม ท่านหลี่จึงเข้ามาถวายชาแด่ไทเฮา และให้ยาปลุกอารมณ์กับข้าพเจ้าอีกสองเม็ด"
ไทเฮารับสั่งว่า "เราอยู่ด้วยกันอย่างสำราญใจมาก" ขันทีหลี่ทูลตอบว่า "หม่อมฉันมองออกพะยะค่ะไทเฮา เห็นท่านชายผู้นี้ทำให้พระองค์พอพระทัยได้ หม่อมฉันก็มีความสุขมากเช่นกันพะยะค่ะ ทรงรอให้ยานี่ออกฤทธิ์ก่อน รับรองเขาได้กลับมาแข็งแรงปึ๋งปั๋ง เปี่ยมพลังวังชา พร้อมถวายงานให้ทรงสำราญอีกพะย่ะคะ"
ชินอ๋องเปิดงานสังสรรค์ชาย-ชายในห้องอาบน้ำ
เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง (กงชินหวัง) กับบรรดาผู้รับใช้หารือกันในห้องอาบน้ำอันเงียบเชียบแห่งนั้น พลันมีสุรเสียงบัญชาดังขึ้น "คุกเข่าลง" สุรเสียงดังก้องทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าขัด แบ็กเฮาวส์เมื่อได้ยินบัญชาก็คุกเข่าลง กงชินหวังกับชายผู้อื่นก็เช่นเดียวกัน ร่างที่กำลังยาตราเข้ามาในห้องนั้นคือพระนางซูสีไทเฮานั่นเอง พระนางทรงแต่งพระเกศาลายคลื่นลม ทรงอาภรณ์สีเหลือง ทรงสนับเพลาและรองพระบาทแบบบุรุษ หลี่ เหลียนอิงและชุย เต๋อหลงลองพระหัตถ์ของพระองค์อยู่ ครั้นพระนางย่ำพระบาทจนทรงพระองค์อย่างมั่นคงแล้ว ก็ตรัสด้วยความกริ้วว่า “ผู้ใดกล้าขัดคำสั่งเรา” หลังจากพระองค์ทรงได้ “เปิดหูเปิดตา”เสร็จ ก็เสด็จไปยังห้องอาบน้ำอื่นๆ อย่างพอพระทัย
สื่อฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ นำเสนอบทความเกี่ยวกับ “ฆาตกรรมในราชสำนักชิง” โดยอ้างอิงบันทึกความทรงจำ ‘ไทเฮากับข้าพเจ้า’ ของเซอร์เอ็ดมุนด์ ทรีลอว์นี แบ็กเฮาวส์ ที่ระบุสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระนางซูสีไทเฮา ว่าถูกหยวน ซื่อไข่ ยิงสังหาร (ภาพ เอเจนซี)
หยวนซื่อไข่ ยิงเข้าพระอุทรของพระนางซูสีฯ
ต่อข้อสงสัยเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระนางซูสี เซอร์แบ็กเฮาวส์ได้ลบล้างการอธิบายในหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป เขาระบุในบักทึกว่าเมื่อแม่ทัพหยวน ซื่อไข่และนายพลเถี่ย หลางฉิว ได้พยายามโน้มน้าวพระนางให้สละราชบัลลังก์ แต่พระนางกลับทรงมีพระบัญชาแต่งตั้งให้นายทหารใหญ่ทั้งสองเป็นราชครู มีหน้าที่บริหารงานแผ่นดิน และช่วยพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ หยวน ซื่อไข่เมื่อได้ยินเช่นนั้นก็บันดาลโทสะ จึงคว้าปืนมายิงลั่นลูกกระสุนออกไปหกนัด กระสุนสามนัดโดนเข้าที่กลางพระอุทรของซูสีไทเฮา เวลานั้นพระนางยังมิได้สิ้นพระชนม์ทันที แต่ทรงตะโกนว่า “กบฏ! ลากตัวหยวน ซื่อไข่ไปประหาร ไอ้เนรคุณ ทำไมเราถึงปล่อยมันไว้จนป่านนี้?"
ปกฉบับภาษาอังกฤษ: Décadence Mandchoue : The China Memoirs of Sir Edmund Trelawny Backhouse, edited by Derek Sandhaus
จินตนาการที่ปั้นแต่งขึ้นจากความทรงจำเรื่องเซ็กซ์และฝิ่น?
สื่อยักษ์ใหญ่โลก นิวยอร์ก ไทม์ส ได้เผยกระแสวิพาษ์วิจารณ์เกี่ยวกับงานเขียนเรื่องจีนของแบ็กเฮาวส์ ในบทความชื่อ 'Memoir (or Is It?) of Sex and Opium' เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2554 โดยได้อ้างถึงงานเขียนเรื่องจีนของแบ็กเฮาวส์ที่ติดอันดับหนังสือขายดี คือ China under the Empress Dowager และ Annals and Memoirs of the Court of Peking มีการพิสูจน์กันแล้วว่าแหล่งข้อมูลที่มาและเนื้อหาที่กล่าวอ้างบางส่วนในหนังสือนั้น บิดเบือน (เขา (แบ็กเฮาวส์) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากหลังจากมีการพบว่าบันทึกที่เขานำมาอ้างอิงนั้นเป็นเอกสารปลอม) ด้านกลุ่มนักประวัติศาสตร์ก็มีความเห็นต่างถึงคุณค่าของงานเขียนของแบ็กเฮาวส์ ในการทำให้ชาวตะวันตกเข้าใจจีน และมันมีความสำคัญอันใดหรือไม่
เซอร์เอ็ดมุนด์ ทรีลอว์นี แบ็กเฮาวส์ ได้เขียนบันทึกความจำ Décadence Mandchoue เมื่อปี 1943 บันทึกความทรงจำซึ่งเป็นต้นฉบับลายมือเขียนนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์ชาวสวิสที่ดูแลเขา คือ Reinhard Hoeppli ซึ่งไม่ได้นำออกตีพิมพ์เผยแพร่
ต่อมาต้นฉบับลายมือเขียนฉบับนี้ได้ตกไปอยู่ในมือของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ นาย Hugh Trevor-Roper ซึ่งก็ไม่ได้นำออกตีพิมพ์เผยแพร่เช่นกัน นาย Trevor-Roper กลับเขียนชีวประวัติของตัวเอง ออกมาเป็นหนังสือชื่อ Hermit of Peking: The Hidden Life of Sir Edmund Backhouse (1976) ทั้งได้โจมตีบันทึกความทรงจำของแบ็กเฮาวส์ เป็น “เอกสารประวัติศาสตร์ที่ไร้คุณค่าสิ้นดี” ทั้งหลอกลวง และลามกอนาจาร
บันทึกความทรงจำฉบับดั้งเดิมของแบ็กเฮาวส์ ถูกเก็บไว้บนหิ้งหนังสือในห้องสมุด Bodleian ในออกซ์ฟอร์ดจนฝุ่นเกาะหนา กระทั่งดีเร็ก แซนด์เฮาส์ (Derek Sandhaus) หัวหน้ากองบรรณาธิการ Earnshaw Books ได้มาพบขณะกำลังวิจัยหนังสือเล่มอื่น จากนั้นก็มีการแปลฉบับภาษาอังกฤษและตีพิมพ์เผยแพร่
เป้า ผู่ แห่ง New Century Press แห่งฮ่องกง กล่าวถึงสาเหตุที่บันทึกความทรงจำลายมือเขียนเล่มนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเวลานาน “ประการแรก เป็นเพราะ นาย Trevor-Roper ได้ทำลายชื่อเสียงของเซอร์แบ็กเฮาวส์ไปแล้ว ประการที่สอง เพราะเนื้อหาบทรักเริงสวาทอันโจ่งครึ่ม”
อย่างไรก็ตาม บันทึกความจำ Décadence Mandchoue ก็ยังมีแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แม้กระทั่งผู้พิมพ์ก็ยอมรับว่า “เนื้อหาในหนังสืออาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่ก็ยังมีคุณค่าอยู่ที่รายละเอียดเกี่ยวกับยุคสมัยที่บันทึกไว้ในหนังสือ แม้เนื้อหามีความลักลั่นพิกลอยู่ แต่ก็มีพื้นฐานจากเรื่องจริง แม้บางจุดไม่ใช่ประสบการณ์ที่เขาประสบมาด้วยตังเองจริงๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาได้ยินมา” แซนด์เฮาส์ กล่าว
แซนด์เฮาส์ ยอมรับว่า “มันเป็นเรื่องยากที่จะระบุจัดประเภทแก่หนังสือเล่มนี้ เป็นอัตชีวประวัติ เรื่องแต่ง หรือไม่ใช่เรื่องแต่ง?”
งานเขียนเรื่องจีนของแบ็กเฮาวส์เล่มอื่นๆก็ถูกตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้เช่นกัน ในยุคสมัยที่เขาเขียนงานเหล่านี้ โลกตะวันตกรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องจีนน้อยมาก การที่แบ็กเฮาวส์รู้ทั้งภาษาจีนกลาง ภาษามองโกล และภาษาญี่ปุ่นนั้น ได้ส่งอิทธิพลทางความคิดระดับหนึ่ง ขณะที่ผู้อ่านงานของเขาไม่มีทางที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของเขาได้เลย
สำหรับผู้อ่านยุคสมัยใหม่ที่มีความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ อาจมอง Décadence Mandchoue เป็นบันทึกความจำที่ปั้นแต่งขึ้นจากจินตนาการเฟ้อฝัน ที่มีรายละเอียดข้อมูลที่เขียนจากชีวิตจริง โดยมีพล็อตเรื่องเต็มไปด้วยสีสันรุนแรง แบ็กเฮาวส์รู้ดีว่าชาวยุโรปทั่วๆไปมีทัศนคติเกี่ยวกับจีนอย่างไร เป็นโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องแปลกพิสดาร เรื่องเซ็กซ์ โลกแห่งความเพ้อฝันของเหล่าราชินี และการสูบฝิ่น ดังนั้น เขาจึงตอบสนองผู้อ่านอย่างจุใจ
“ทำไมชาวตะวันตกถึงจะเชื่อเรื่องราวที่เต็มไปด้วยสีสันรุนแรงเหล่านี้
“ในทางกลับกัน จะมีใครเชื่อว่าหนุ่มจีนคนหนึ่งเดินทางไปอังกฤษ และมีสัมพันธ์สวาทกับพระนางวิคตอเรีย?” Bret Hinsch อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฝัวกวงในไต้หวัน และผู้เขียน Passions of the Cut Sleeve: The Male Homosexual Tradition in China กล่าว