ดึงซีพีนำร่องขึ้นค่าแรง-ปรับเงินเดือนปริญญาตรี

 

 

 

 

 

ดึงซีพีนำร่องขึ้นค่าแรง-ปรับเงินเดือนปริญญาตรี

 

 

ดึงเครือซีพี-บริษัทตลาดทุน นำร่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท พร้อมปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท กิตติรัตน์ ลั่นเริ่ม 1 ม.ค.ยันมีมาตรการภาษีแลกเปลี่ยน พร้อมผุดแผนช่วยเอสเอ็มอีลดขั้นตอนผลิต-หาเครื่องจักร  ด้านนักวิชาการติงอย่าโหมประชานิยมหวั่นระยะยาวพัง ขณะตลาดทองคำขึ้นลงทั้งวันก่อนปิดตัวขยับพุ่ง 400 บาท ส่งผลทองรูปพรรณมีราคาบาทละ 2.7 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท และปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ที่จะเริ่มได้ในวันที่ 1 ม.ค. 55 ว่า โดยจะมีภาคเอกชนรายใหญ่เป็นผู้นำในการปรับขึ้นค่าจ้างก่อนซึ่งขณะนี้เท่าที่รับทราบมีหลายบริษัทในเครือบริษัทซีพี และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้ตื่นตัวต่อนโยบายของรัฐบาลและเตรียมพร้อมรองรับกับการปรับขึ้นค่าจ้างใหม่แล้ว สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณา ซึ่งจะเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายปกติของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งตัวเลขที่ปรับขึ้นจะสอดคล้องกับความพร้อมในหลายด้าน และปรับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนทำให้ภาคธุรกิจสามารถปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายของรัฐบาลได้

“ไม่ต้องการให้ภาคธุรกิจกังวลกับนโยบายมากไป เพราะหลังจากที่แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาเสร็จสิ้นภาพทั้งหมดจะชัดเจนทั้งการปรับลดภาษีนิติบุคคล และการยกเลิกกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการทุกรายจะได้ประโยชน์จากการเสียภาษีอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับการปรับค่าจ้างขึ้นมา ทั้งนี้แม้การปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่เชื่อว่าการได้รับส่วนลดจากมาตรการภาษี และราคาน้ำมันถูกลงจะช่วยชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้อีกทาง ดังนั้นเมื่อปรับขึ้นค่าจ้างแล้วอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่อยากเห็นต่อมาคือให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทบทวนนโยบายดอกเบี้ยภายในประเทศไม่ให้สูงขึ้นเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าไม่สูงขึ้นตาม” นายกิตติรัตน์ กล่าว 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือเอสเอ็มอีที่เสียภาษีไหวแต่ไม่ยอมเสียภาษี กลุ่มนี้รัฐบาลจะบังคับให้กลับมาเสียภาษีจากมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือ เพราะการเสียภาษีจะช่วยในเรื่องความน่าเชื่อถือของธุรกิจต่อระบบธนาคารดีขึ้น ส่วนอีกกลุ่มคือเอสเอ็ม อีที่เสียภาษีไม่ไหว จะแบ่งความช่วยเหลือ 3 ด้าน คือ รัฐจะผลักดันให้มีการทบทวนการจ้างแรงงานว่าคุ้มกับประสิทธิภาพการทำงานหรือไม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธุรกิจมีอนาคต แต่ที่ผ่านมาการเพิ่มประสิทธิภาพด้านผลผลิตอาจไม่ถูกทาง ดังนั้นต้องเพิ่มขีดความสามารถให้ ต่อมาจะให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรม และจัดหาเครื่องจักรให้ ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังดำเนินการในส่วนนี้ โดยอาจช่วยเหลือสภาพคล่องให้ธุรกิจเพื่อนำเข้าเครื่องจักรมาผลิต และสุดท้ายกลุ่มที่เพิ่มประสิทธิภาพไม่ได้ อาจต้องยอมรับความจริงที่จะลดกำลังการผลิต หยุดกำลังการผลิต ไปจนถึงเปลี่ยนไปประกอบธุรกิจอื่น ซึ่งกลุ่มนี้ควรต้องทบทวนตัวเองหลังจากที่รัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท รัฐบาลควรมีท่าทีผ่อนปรน ให้บางส่วนที่พร้อมนำร่องไปก่อน ส่วนที่ยังไม่พร้อมก็ให้ทยอยปรับขึ้น ผ่านการพิจารณาของไตรภาคี โดยภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจำเป็นต้องเดินอย่างระวัง ไม่ควรทำประชาชนนิยมมากไป เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายในเศรษฐกิจระยะยาวได้ รัฐต้องคำนึงถึงนโยบายการกระตุ้นกำลังซื้อ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ในระยะยาว มีจีดีพีขยายตัวสอดคล้องกับสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น
 

 

Credit: http://www.norsorpor.com/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...