หลังจากที่เรื่อง “อยากรู้ไหม ทำไมโนเกียจอขาวดำอย่าง 1100 จึงมีราคาพุ่งถึงนับแสนบาท” ได้รับความนิยมจนเป็นเรื่องฮิตๆ ในเว็บไซต์ Duocore ณ ตอนนี้ ผู้เขียนจึงอยากนำเกร็ดความรู้ที่หลายคนสงสัยกันมานานเกี่ยวกับตำนานบริการรับ-ส่งข้อความสั้น SMS หรือ Short Messaging Service ว่าทำไมต้องจำกัดอยู่ที่ 160 ตัวอักษร
ก่อนอื่นท่านผู้อ่านอาจจะทราบดีแล้วว่า ถ้าหากส่ง SMS เป็นภาษาอังกฤษ (อย่างเดียว) จะสามารถส่งได้เต็มอัตรา คือ 160 ตัวอักษร แต่ถ้าเป็นการส่งภาษาอังกฤษ ปนภาษาอื่นๆ ความยาวจะถูกจำกัดลงเหลือเพียง 70 ตัวอักษร
ถึงกระนั้นก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ ว่าทำไมต้อง 160 ตัวอักษรใช่ไหม วันนี้จะมาไขข้อมูลให้กระจ่างกัน ณ บัดนี้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1985 คุณ “Friedhelm Hillebrand” (ตอนนั้นอายุ 45 ปี) นักวิจัยด้านการสื่อสาร และประธานคณะกรรมการส่วนงานบริการเสริมของสมาคมจีเอสเอ็ม ได้นั่งลงหน้าเครื่องพิมพ์ดีด เปิดดูจดหมาย อ่านประโยคต่างๆ ในจดหมายอย่างพินิจพิเคราะห์ไปเสียทุกจุด ตั้งแต่การตั้งคำถาม การเรียบเรียงประโยค การใส่ตัวเลข เครื่องหมาย และการเว้นวรรค แล้วจู่ๆ ก็มีหลอดไฟสุดสว่างภายในสมอง พบว่า การส่งข้อความภายในจำนวน 160 ตัวอักษรนั้นมันพอดีและสมบูรณ์แบบที่สุด ในการที่จะสื่อสารระหว่างกันผ่านตัวอักษรได้
แน่นอนว่า การฟันธงกับสิ่งละอันพันละน้อยในเวลานั้น กลับกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ และส่งผลกระทบต่อการสื่อสารของคนในเจเนอเรชันยุคหลังอย่างแน่นอน จึงทำให้ในระยะแรก มีหลายคนไม่เห็นด้วยกับตัวเลขมหัศจรรย์นี้
แต่แล้วคุณ Hillebrand ก็ยังมีเหตุผลที่จะมายืนยันอีกว่าการส่ง SMS ใช้แค่ 160 ตัวอักษรก็เพียงพอแล้ว ด้วยเหตุผล 2 ประการ
1. จากการวิจัยพบว่าโปสการ์ดส่วนใหญ่ที่ส่งหากันมักจะเขียนด้วยตัวอักษรไม่เกิน 150 ตัวอักษร
2. จากการสังเกตการส่งข้อความผ่านเครื่องเทเล็กซ์ (telex) ก็ยังพบว่ามีความยาวเท่าโปสการ์ดอยู่ดี (อ่านเรื่อง พระราชอัจฉริยภาพในด้านการสื่อสาร ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ตอนพิเศษ-เกี่ยวกับกิจการเทเล็กซ์) เพื่อประกอบความเข้าใจได้ที่นี่)
แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและลืมไม่ได้เลยก็คือ วิธีการพิมพ์ SMS ที่ค่อยข้างจะยุ่งยาก เพราะหนึ่งปุ่มประกอบไปด้วยตัวเลขและตัวอักษร จะพิมพ์ตัวใดตัวหนึ่งอาจจะต้องกดถึง 3-4 ครั้ง ฉะนนั้นจึงคิดว่าไม่มีใครที่อยากพิมพ์อะไรยาวๆ บนมือถือเป็นแน่
แต่จนแล้วจนรอด ทางสมาคมจีเอสเอ็ม ก็ได้นำเทคโนโลยี SMS นี้ไปบรรจุอยู่ในมือถือที่จะออกสู่ท้องตลาดตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา จึงเป็นเหตุให้มือถือทุกเครื่องที่เราใช้กันตอนนี้จะต้องส่ง-รับ SMS ได้นั่นเอง
และนี่คือเอกสารอธิบายความหมายของคำว่า SMS
ถึงแม้ตอนนี้จะมีระบบช่วยสะกดคำอัตโนมัติ (T9) สำหรับช่วยให้พิมพ์ข้อความ SMS ได้ไวขึ้นหลายเท่าตัว แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไร และทางออกอีกทางก็คือ ใส่แป้นพิมพ์แบบมาตรฐาน QWERTY เหมือนที่ใช้ในคอมพิวเตอร์เข้ามาอยู่ในมือถือระบบสมาร์ทโฟนนั่นเอง
ณ ปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธได้ถึงความสำเร็จของเทคโนโลยี SMS ที่กลายเป็นบริการเสริม (แบบไร้เสียง) ชนิดแรกๆ ของโลก ที่สร้างรายได้อย่างถล่มทลายให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทั่วโลก และแถมกระแสทวิตเตอร์ กระบอกเสียงส่วนบุคคลสู่มวลชน ก็ยังเป็นตัวเสริมแรงให้ SMS ฮอตขึ้นอีกหลายดีกรี ซึ่งผู้ที่นำเครื่องมือนี้ไปใช้ก็มีตั้งแต่คนที่ทรงอิทธิพลระดับโลกอย่างท่าน ปธน.โอบามา ไปจนถึงดาราและนักร้องสาวสุดฮอตอย่างบริทนียส์ สเปียส์ ไล่ไปถึงสำนักข่าวดังของไทยทั้งหลายแหล่ด้วย
(แต่ทวิตเตอร์จำกัดการส่งข้อความได้แค่ 140 ตัวอักษร ก็เพราะกันอีก 20 ตัวอักษรกันไว้สำหรับชื่อของผู้ส่งนั่นเอง เช่น @mobi247)
มิน่าเชื่อว่า เป้าประสงค์ของการคิดค้นเทคโนโลยี SMS ก็เพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสารในรถยนต์ สำหรับคนที่ต้องทำงานอยู่บนรถตลอดเวลา กลับกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าชนชั้นไหนในโลก ทุกวงการมือถือ ก็ต้องนำ SMS มาเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างกันแทบทั้งสิ้น รวมไปจนถึงการใช้ SMS เพื่อช่วยชีวิตในนาทีวิกฤตด้วย นอกจากนี้ยังมีเคสซึ้งๆ ที่เมื่อครั้งแผ่นดินไหวที่เสฉวนของจีน ก็มีกรณีแม่ใช้ตัวบังลูกและทิ้งข้อความลาโลกผ่าน SMS ให้ลูกน้อย จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก
ถึงตอนนี้ คุณ “Friedhelm Hillebrand” ก็ยังกล่าวติดตลกว่า เขานั้นทั้งอึ้งและทึ่ง เมื่อรู้ว่าหลายคู่รัก ใช้การบอกเลิกความสัมพันธ์อันยาวนานผ่านข้อความสั้น SMS ซึ่งก็เป็นกรณีขึ้นโรงขึ้นศาลไปหลายราย โดยเฉพาะในประเทศที่นับถือมุสลิมอย่างมาเลเซีย อินเดียเป็นต้น