สัญลักษณ์ไฟหมุนที่ร้านตัดผม เรียกว่า "บาร์เบอร์ โพล" (barber pole) ถือกำเนิดขึ้นในทวีปยุโรป ยุคที่ช่างตัดผมรวมอยู่ในอาชีพหมอฟันและศัลยแพทย์ หรือจะว่าผ่าตัด ถ่ายเลือด ทำฟัน เป็นภาระหน้าที่อย่างหนึ่งของช่างตัดผมก็ได้
เป็น เช่นนั้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ.1639 ที่ประเทศฝรั่งเศส ด้วยฝีมืออาร์คบิชอปแห่งร็วง เมืองหลวงของแคว้นนอร์มังดี ท่านสั่งห้ามบุรุษไว้หนวดเคราโดยเด็ดขาด ทำให้กิจการตัดผมและโกนหนวดเครามีความจำเป็นมากขึ้น แล้วใครจะมีของมีคมเท่าศัลยแพทย์เล่า
กระทั่งภายหลังเมื่อการแพทย์มี ความชัดเจนในสาขาของตนยิ่งขึ้น อาชีพศัลยแพทย์กับช่างตัดผมจึงถึงแก่กาลต้องแยกจากกันโดยสิ้นเชิง เหลือเพียงสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญตกทอดเป็นมรดกจากหมอผ่าตัด ถึงช่างผัดผม
เรื่องก็เพราะ ครั้งยังทำงานทูอินวัน ระหว่างการผ่าตัดถ่ายเลือดผู้ป่วย คุณหมอจะพาดแถบผ้าพันแผล 2 เส้น รอไว้ เส้นหนึ่งสำหรับพันรอบแขนผู้ป่วยก่อนถ่ายเลือด เส้นหนึ่งไว้พันแผลภายหลังงานเรียบร้อย นานเข้าแถบผ้าพันแผล 2 เส้น ก็เป็นภาพเจนตาจนเป็นที่เข้าใจตรงกันทั่วไปว่าเป็นร้านคุณหมอ (ที่รับตัดผมด้วย)
จากแถบผ้าพันแผลวิวัฒน์เป็นเสาทาสีเลียน แบบ ติดตั้งอย่างถาวรภายนอกร้าน มองคล้ายเกลียวริบบิ้น 2 สี เรียก "เกลียวริบบิ้นสีขาวแดงสองเส้นพันรอบแท่งเสา" ว่า บาร์เบอร์ โพล จากยุโรปไปถึงอเมริกา ช่างตัดผมอเมริกันรักชาติเติมสีน้ำเงินเข้าไปในบาร์เบอร์ โพล ด้วย เป็นสีแดง ขาว น้ำเงิน ตามสีธงชาติสหรัฐอเมริกา
บาร์เบอร์ โพล กลายเป็นสื่อสัญลักษณ์สากลของร้านตัดผมในที่สุด เห็นปุ๊บรู้ปั๊บว่าเป็นร้านตัดผม โดยไม่ต้องคอยมองหาป้ายชื่อร้าน ทั้งยังบอกให้ทราบด้วยว่าร้านเปิดทำการหรือไม่ หากไฟหมุนเปิดอยู่แสดงว่าร้านเปิด เข้าไปใช้บริการได้ หากไฟปิดคือร้านปิด ตรงไปร้านอื่นได้เลย
ต้นทางของวัฒนธรรมไฟหมุนหน้าร้านตัดผมจึงคือเมืองร็วง แคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส โดดเด่นด้วยมหาวิหารนอเตรอดาม สร้างเสริมต่อเติมด้วยสถาปัตยกรรมหลายยุคหลายสมัยจากศตวรรษที่ 12 ถึงศตวรรษที่ 19 และเป็นเมืองที่ฝังศพวีรบุรุษชาวฝรั่งเศสในยุคกลาง เฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่ฝังพระหทัยของพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lion Heart) กษัตริย์อังกฤษผู้ประทับอยู่ในฝรั่งเศสมากกว่าอังกฤษ