ที่มา“ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า” บันทึกขัตติยนารีผู้งดงาม
“มีอยู่ปีหนึ่ง เสด็จทอดกฐินวัดดงมูลเหล็ก สมัยนั้นฝั่งธนฯ ยังเป็นสวนผักผลไม้ วัดนี้อยู่ในซอกซอยเข้าถึงลำบาก เลยเสด็จทางเรือ ปรากฏว่าชาวบ้านมารอเฝ้ารับเสด็จกันมืดฟ้ามัวดิน แห่แหนรับเสด็จอันเอิกเกริก แถมยังจัดแข่งเรือถวายให้ทอดพระเนตร มีฟ้อนรำสมโภชพระกฐินกันสนุกสนาน ทรงสนุกไปด้วย ประทับร่วมและทรงเยี่ยมราษฎรอย่างทั่วถึง พอเสด็จกลับ ก็เป็นเวลาน้ำขึ้นพอดี ทำให้เสากระโดงเรือไม่สามารถลอดใต้สะพาน พระราม 6 ได้ ทหารเรือจึงแก้ปัญหา ด้วยการปล่อยน้ำเข้าเรือ เพื่อให้เรือเพียบลงและลอดใต้สะพานไปได้ ทรงพระทัยเย็นรออยู่ชั่วโมงกว่า ทั้งที่เลยเวลาเสวย ข้าราชบิริพารจึงจัดพระกระยาหารถวายในเรือ แทนที่จะทรงกริ้ว ตรงกันข้ามทรงพระสำราญ พร้อมรับสั่งว่า สนุกดี เหมือนได้มาปิกนิกนอกบ้าน” นี่เป็นบทความตอนหนึ่ง ที่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือ “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า” จากคำบอกเล่าของ “ลุงสี” มหาดเล็กเก่าแก่ประจำวังรื่นฤดี
หนังสือ “ดวงแก้วแห่งพระมกุฏเกล้า” เป็นหนังสือสารคดีพระประวัติสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้รับการเรียบเรียงโดย คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (ว.วินิจฉัยกุล)ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2547 และ ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย. 2552 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากภายหลัง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ขณะมีพระชนมายุ 85 พรรษา
ที่มาของการจัดทำหนังสือเล่มประวัติศาสตร์ ดร.ชัชพล กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเขียนและเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้าว่า เป็นความค้างคาใจของตัวเองตั้งแต่สมัยเด็ก ทุกครั้งที่เดินเข้าห้องสมุด เพื่อเข้าไปค้นหาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับพระประวัติสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา โสภาพัณณวดี พระธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งมีเรื่องราวของเจ้าฟ้าพระองค์นี้เพียงไม่กี่หน้าในหนังสือพระราชประวัติของพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์จักรีไทย จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่า “จะทำอย่างไรเพื่อรวบรวมพระประวัติและพระกรณียกิจของพระองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์”
“กระทั่งช่วงที่ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พอมีเวลาว่างหลังเลิกเรียนใช้เวลาค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเว็บไซต์จำนวนมากที่มีกลุ่มคนสนใจและชื่นชอบเรื่องประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ได้พบปะพูดคุยกับคุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ในโลกไซเบอร์ ต่างคนต่างมีอุดมคติเดียวกัน สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ตลอดจนเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จึงเป็นการจุดประกายให้สองคนเริ่มเชื่อมโยงเรื่องราวพระประวัติตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระกรณียกิจ พระเกียรติคุณ และเรื่องราวประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น รวมถึงพระประวัติของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 พระชนนีด้วย”
ดร.ชัชพล กล่าวว่า เริ่มหาข้อมูลเพิ่มขึ้น วางโครงเรื่องและร่วมกันเรียบเรียงเนื้อเรื่อง โดยการผสมผสานระหว่างเรื่องเล่าจากข้าราชบริพารที่ถวายงานอย่างใกล้ชิด และข้อมูลเอกสารในวังรื่นฤดี ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้เขียนนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่โดดเด่นแบบนวนิยายสามารถดึงความรู้สึกและอารมณ์ของผู้อ่านเข้ามาร่วมได้ โดยมีหลักการเขียนให้เนื้อหาอ่านง่าย เหมือนเป็นการเล่าเรื่อง โดยจับประเด็นสำคัญแต่ละช่วงเวลาและบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ออกมาเขียน อาทิ ความเรียบง่าย ความอ่อนโยน ความอดทน และความเพียร บางเรื่องทำให้ทราบถึงความงดงามในน้ำพระทัยของพระองค์ท่าน บางเรื่องทำให้หัวเราะในความมีพระสำราญมองโลกในแง่ดี ทุกเรื่องทุกตอนของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยซ่อนอยู่ โดยสามารถบ่งบอกอิริยาบถของสังคมในอดีตที่กำลังจะเลือนหายไปได้อีกด้วย
การแพร่เผยพระเกียรติคุณล้นเกล้า เริ่มจากการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสกุลไทย ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี และมีการจัดพิมพ์รวมเล่มพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2551 ต่อมาในปี 2552 ซึ่งเป็นปีมหามงคลทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา รัฐบาลจึงเห็นชอบให้มีการจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงเพิ่มพระฉายาลักษณ์ในอิริยาบถต่างๆ ของพระองค์ ซึ่งบางสิ่งยังไม่เคยแพร่เผยที่ไหนมาก่อน หรือเพิ่งได้รับอนุญาตมาจากคนใกล้ชิด หรือข้าราชบริพารที่เคยถวายงาน นอกจากนี้ยังมีการนำหนังสือเล่นนี้ไปจัดเก็บไว้ในห้องสมุดของสถานศึกษาและชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาเกี่ยวกับพระประวัติของเจ้าฟ้าผู้งดงามด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมล้นที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยต่อไป