'คมนาคม'ผุดเมกะโปรเจคต์ สร้างสะพานลัดอ่าวไทย
"ชัจจ์" ผุดไอเดีย เมกะโปรเจคต์ สร้างสะพานลัดอ่าวไทย จากแหลมฉบัง-ชะอำ ระยะทางกว่า 80 กม. หวังแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล...
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มีแนวคิดที่จะเสนอโครงการสร้างสะพานลัดฝั่งอ่าวไทย ช่วงแหลมฉบัง-อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ระยะทางประมาณ 80 กม. ซึ่งสะพานนี้จะประกอบด้วย เขื่อนกั้นน้ำ ทางรถไฟ และถนน ให้รัฐบาล เพื่อบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ปากน้ำสมุทรปราการ และพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ หลังจากมีความชัดเจนเรื่องนโยบายรัฐบาล ตนจะได้มอบหมายให้ศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกแบบเบื้องต้น ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยน่าจะตั้งงบประมาณศึกษาได้ประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้ และเห็นว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่เหมาะสมในการดำเนินงาน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะในอนาคตปัญหาโลกร้อนจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำทะเลสูง และผลกระทบจากน้ำท่วมจะรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องงบประมาณดำเนินการนั้น อาจเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน
“โครงการนี้เป็นหนึ่งในหลายแนวทางที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม และเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน เพราะได้เคยหารือเบื้องต้นกับวิศวกรบ้างแล้ว แต่สิ่งที่เป็นห่วงสำหรับโครงการนี้คือ ปัญหาน้ำทะเลชายฝั่งที่ถูกกั้นไว้จะสกปรก เพราะส่วนหนึ่งเป็นน้ำเสียที่ถูกทิ้งจากบ้านเรือน แต่เชื่อว่า จะไม่กระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณแนวชายฝั่ง เพราะสะพานดังกล่าวยื่นออกไปในทะเล ไม่เกะกะชายฝั่ง โดยจะมีเนื้อที่จากชายฝั่งถึงสะพานลัดฝั่งอ่าวไทยประมาณ 2 00,000 ไร่” พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการกั้นน้ำทะเลนั้น จะมีประตูระบายน้ำ และประตูเปิดปิด สำหรับให้เรือบรรทุกสินค้าผ่านเข้าออก โดยแนวทางนี้มีหลายประเทศที่ดำเนินการแล้ว เช่น เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถดำเนินการได้ ต่างจากโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ เพราะโครงสร้างของโครงการใหม่จะอยู่ไกลในทะเล ไม่ได้อยู่เลียบชายฝั่ง ซึ่งจะไม่กระทบต่อป่าชายเลนสำหรับแนวทางอื่นๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม เช่น การสร้างเกาะและทำประตูกั้นน้ำ ซึ่งแนวทางที่รัฐบาลจะเลือก ต้องเป็นแนวทางที่ลงทุนน้อย และคุ้มค่าที่สุด โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในทะเลฝั่งอ่าวไทย สามารถดำเนินการได้ไม่ยาก เพราะน้ำทะเลมีความลึกไม่มากประมาณ 16-17 เมตร