'โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็ก ภัยร้ายใกล้ตัวที่พ่อแม่มักละเลย'

 

 

 

 

 

'โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็ก

ภัยร้ายใกล้ตัวที่พ่อแม่มักละเลย'

 

 

พ่อแม่หลายคนที่มีลูกเล็ก อาจจะสังเกตเห็นลูกร้องงอแง และบ่นปวดหู หรืออาจพบอาการปวดหูอาจจะมาพร้อมโรคไข้หวัด แต่พ่อแม่จะรู้หรือไม่ว่าโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็กอันตรายกว่าที่คิด เพราะนอกจากเป็นโรคที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กแล้ว อาจพัฒนาจนลูกน้อยหูหนวกได้ ทำให้สูญเสียการได้ยินถาวร บางรายอาจติดเชื้อรุนแรงแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และเด็กมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

“โรคหูน้ำหนวก” เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากท่อปรับความดันหูชั้นกลาง ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ ประกอบกับการสัมผัส คลุกคลีกับบุคคล และสถานที่ต่าง ๆ จึงเกิดภาวะติดเชื้อ เป็นหวัดได้บ่อย ซึ่งจากโรคหวัดที่เป็นลุกลาม ก็มีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบต่อเนื่องไปยังท่อปรับความดันหูชั้นกลาง มีผลทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันได้

สาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบ

โรคหูชั้นกลางอักเสบ สามารถเกิดได้ ทั้งจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โดยที่เกิดจากเชื้อไวรัส ร่างกายสามารถรักษาให้หายเองได้ ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้หายช้า และสามารถเป็นซ้ำได้อีก หรือเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง และใช้เวลาในการรักษานาน โดยเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบที่พบบ่อยคือ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ ซึ่งเป็นเชื้อที่พบในลำคอและโพรงจมูกของเด็กเล็ก เป็นเชื้อที่มีความรุนแรง แฝงตัวมากับเชื้อหวัดและปอดบวม

โรคหูชั้นกลางอักเสบมักมาพร้อมกับโรคหวัด พ่อแม่และกุมารแพทย์มักมุ่งไปที่การรักษาอาการไข้หวัด และมองว่าอาการเจ็บหูเป็นเพียงอาการข้างเคียง และเมื่อเด็กหายจากโรคหวัดแล้ว พ่อแม่ก็มักลืมติดตามรักษาโรคหูอักเสบของเด็ก ซึ่งอันตรายมาก เพราะหากเด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและอย่างจริงจัง โรคนี้จะมีโอกาสพัฒนาไปสู่โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อ รังซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือโรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดมีของเหลวขัง และโรคหูหนวกได้ในอนาคต

อาการและความรุนแรงของโรคหูชั้นกลางอักเสบ

อาการปวดหูมักมาพร้อมกับอาการไข้หวัด ดังนั้น หากเด็กเป็นไข้หวัด ไม่สบาย มีไข้สูง ปวดหูมาก ถ้าเป็นเด็กเล็ก จะร้องกวน เอามือกุมหูข้างที่ปวดไว้ และอาการปวดหูอาจเป็นมากขึ้นเวลากลางคืน ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์เพื่อตรวจหู เพราะอาจเป็นอาการของ โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน และหากไม่ได้รับการรักษาในขั้นนี้ แม้ว่าระยะต่อมาอาการปวดหูก็จะเริ่มทุเลา ไข้เริ่มลดลง แต่เชื้ออาจหลงเหลืออยู่ การอักเสบยังคงดำเนินต่อ และเด็กอาจจะเริ่มสูญเสียการได้ยิน คือมีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลงและพัฒนาไปสู่โรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดมีของเหลวขัง โดยในระยะนี้แก้วหูยังไม่ทะลุ หรือหากเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่มีแก้วหูทะลุ แต่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ทำให้มีหนองไหลเป็น ๆ หาย ๆ มีกลิ่นเหม็น การได้ยินลดลงเรื่อย ๆ จากนั้นอาจกลายเป็น โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจากการศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตีพิมพ์ในวารสาร “The American Journal of Otology” พบว่าในคนที่เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ตามมา เช่น ใบหน้าเป็นอัมพาต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง และติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะสามารถทำให้หายเป็นปกติได้ แต่ถ้าละเลยการรักษา เมื่อการได้ยินและประสาทหูเสื่อมลง ก็จะไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้

นอกจากนี้ โรคหูชั้นกลางอักเสบยังมีผลต่อการเรียนของเด็กด้วย เพราะพัฒนาการด้าน การได้ยินนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ จึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญของการป้องกันและรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบให้มากขึ้น แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการป้องกัน แต่เน้นไปที่การรักษาโรคมากกว่า คือรอให้ป่วยก่อนแล้วจึงรักษา ควรปรับแนวความคิดนี้เสียใหม่ เนื่องจากหูอยู่ที่ฐานสมองจึงไม่ควรมองข้าม ที่เห็นว่ามันเป็นแค่การอักเสบธรรมดาของหู เพราะมีโอกาสที่เชื้อจะลามไปที่สมองได้ หากทิ้งไว้ อาจทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และฝีในสมองได้ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว

วิธีการป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบ

เริ่มจากควรให้เด็กกินนมแม่เพื่อเสริมภูมิต้านทานตามธรรมชาติ ดูแลเด็กให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ให้เป็นหวัดบ่อย สอนให้เด็กมีสุขอนามัยที่ดี และหากเด็กเป็นไข้ไม่สบาย และมีอาการเจ็บหู หรือเวลาพูดแล้วเด็กไม่ค่อยได้ยิน เปิดทีวีเสียงดัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหู และเสริมภูมิต้านทานด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันครอบคลุมและลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคปอดบวม และโรคไอพีดีที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ ได้แล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันของลูกน้อยที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโรค ที่เข้ามาได้ โดยเฉพาะเด็กที่ป่วยเป็นหวัดบ่อย ๆ และเด็กที่พ่อแม่นำไปฝากสถานเลี้ยงเด็ก เพราะเป็นแหล่งรวมพาหะของเชื้อโรค ที่ทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบติดเชื้อได้บ่อย

ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอย่างในปัจจุบัน เด็ก ๆ ป่วยและไม่สบายกันมาก พ่อแม่จึงควรสังเกตอาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบ ที่นอกเหนือจากอาการแทรกซ้อนโรคไข้หวัดด้วย เพราะหากยิ่งรู้ และรักษาเร็วมากเท่าไหร่ โอกาสติดเชื้อที่เยื่อแก้วหูก็จะน้อยลงเท่านั้น

ข้อมูลจาก ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ ภาควิชา โสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

 

Credit: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.html
14 ส.ค. 54 เวลา 14:49 21,140 2 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...