ไม้เท้านำทางอาร์เอฟไอดี

 

 

 

 

 

ไม้เท้านำทางอาร์เอฟไอดี

 

 

ฉลาดที่จะคิด..สำหรับการนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี  มาประยุกต์ใช้งานกับด้านสถาปัตยกรรม
   
กับ “ระบบนำทางภายในอาคารเพื่อผู้พิการทางสายตาด้วยเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี”  ผลงานของนายรพี  โพธิชัย   นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
   
อาจจะดูง่าย ๆ เหมือนกับการสร้างเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการทั่วไป
     
แต่นี่...ก็คือแนวคิดที่ไม่ธรรมดา  เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบอาคารอัจฉริยะ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการนำทางให้ผู้พิการทางสายตา
      
น้องรพี  บอกว่า  งานวิจัยนี้เป็นการผสมผสานองค์ความรู้ในเชิงเทคโนโลยีและงานสถาปัตยกรรม  ซึ่งปัจจุบันแม้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีจะเริ่มมีการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่กับงานด้านสถาปัตยกรรมแล้วยังถือว่ามีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะใช้ในเรื่องของโฮม ออโต้เมชั่น หรือระบบสั่งงานระบบไฟฟ้าอัจฉริยะที่ใช้ในบ้านยุคใหม่
    
ทั้งนี้สำหรับผู้พิการทางสายตา การใช้งานในอาคารที่ไม่เคยใช้มาก่อนและการเดินทางในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ยังคงเป็นเรื่องยากลำบาก   เนื่องจากขาดข้อมูลนำทางหรือบ่งบอกตำแหน่ง  ผู้พิการทางสายตาจึงจำเป็นต้องมีคนนำทางและคอยอธิบายเส้นทาง จึงสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในอาคารได้อย่างทั่วถึง  ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เส้นทางในอาคารเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับอาคารจึงจะสามารถเดินทางภายในอาคารได้โดยลำพัง
    
ผู้วิจัยจึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี เพื่อพัฒนา ระบบนำทางภายในอาคารสำหรับผู้พิการทางสายตา  โดยเป็นต้นแบบให้ผู้พิการทางสายตา  ได้ใช้งานในอาคาร ผ่าน ไม้เท้านำทางที่ติดเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดี
    
น้องรพี อธิบายถึงหลักการทำงานของระบบต้นแบบนี้ ว่า ประกอบไปด้วยองค์ประกอบสามส่วนหลัก ๆ ด้วยกัน คือ 1.ส่วนป้ายสัญญาณและแผ่นพื้นต่างสัมผัส ซึ่งประกอบด้วยป้ายสัญญาณอาร์เอฟไอดี ขนาด 5x10 ซม. ที่ฝังอยู่ใต้แผ่นพื้นต่างสัมผัสซึ่งบรรจุข้อมูลพิกัดตำแหน่งอาคาร  2. ส่วนอ่านป้ายสัญญาณ  ประกอบด้วยเครื่องอ่านสัญญาณอาร์เอฟไอดี ซึ่งติดตั้งอยู่ที่บริเวณปลายไม้เท้า โดยใช้สายสัญญาณเชื่อมต่อไปที่ส่วนประมวลผลและข้อมูลเสียง
    
และ 3.ส่วนประมวลผลและข้อมูลเสียงประกอบไปด้วย ไมโครคอนโทรลเลอร์ ซึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณมาจากเครื่องอ่านสัญญาณอาร์เอฟไอดี มาประมวลผลเปรียบเทียบเลขรหัสป้ายสัญญาณกับข้อมูลเสียง จากนั้นส่งต่อไปยังส่วนสังเคราะห์ข้อมูลเสียง ซึ่งจะบรรจุไฟล์เสียงตามประเภทของสิ่งกีดขวาง ทำหน้าที่บ่งบอกข้อมูลสิ่งกีดขวาง ตำแหน่งปัจจุบันและสภาพแวดล้อมเป็นข้อมูลคำพูดผ่านหูฟังมายังผู้ใช้งาน
    
จุดเด่นของผลงาน น้องรพีบอกว่า เป็น การบูรณาการองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและด้านเทคโนโลยีเพื่อออกแบบระบบนำทาง   ที่สามารถใช้งานในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด  ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาระบบนำทางในด้านเครื่องมือนำทางดังที่กล่าวแล้ว ในงานวิจัยนี้ ยังครอบคลุมถึงแนวทางการออกแบบอาคารเพื่อรองรับการใช้งานของระบบนำทางนี้ด้วย  โดยเลือกองค์พื้นฐานทางสถาปัตยกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น ทางแยก ทางเลี้ยว โถงทางเดิน ฯลฯ อันเป็นองค์ประกอบหน่วยย่อยซึ่งพบเห็นได้ในสถาปัตยกรรมรูปแบบต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาว่า การวางป้ายสัญญาณนั้น ควรวางอยู่ที่ตำแหน่งใด วางอย่างไร และข้อมูลที่บ่งบอกกับผู้พิการทางสายตานั้น ควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
   
ปัจจุบันแม้จะเป็นเพียงโครงงานงานวิจัย ที่ยังไม่มีการนำไปพัฒนาใช้งานจริง  เนื่องจากต้องผ่านการทดสอบในสภาพแวดล้อมที่ใหญ่ขึ้น  และมีรายละเอียดมากขึ้นแต่งานวิจัยชิ้นนี้...ก็คือจุดเริ่มต้น อีกหนึ่งมุมมองที่แสดงให้เห็นว่า แนวคิด “สถาปัตยกรรมพูดได้” ไม่ไกลเกินความจริง
    
สนใจ...  ผลงานชิ้นนี้จะนำแสดงในงาน  “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554” ที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่26-30 สิงหาคม  นี้ที่ ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรับเวิลด์ ราชประสงค์

 

 

Credit: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.html
10 ส.ค. 54 เวลา 15:00 11,648 5 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...