'สนามหลวง'วันนี้-ปิดตำนาน'สวรรค์คนจน' หลักเกณฑ์การใช้พื้นที่สำหรับประชาชนทั่วไป

ภายหลังจากที่กรุงเทพมหานคร สั่งปิดปรับปรุงท้องสนามหลวงมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี

วันที่ 9 ส.ค.นี้ สนามหลวง จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่พ่อค้าแม่ค้า ผู้ชุมนุมทางการเมือง และกลุ่มคนเร่รอน ต่างครอบครองสนามหลวงมานานหลายปี จนกลายเป็นแหล่งอาชญากร กทม.จึงมีคำสั่งปิดท้องสนามหลวงสวนสาธารณะ และโบราณสถานใจ กลางเมือง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2553

เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ตามนโยบายกทม.น่าอยู่ของม.ร.ว.สุขุม พันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องการให้สนามหลวงเป็นที่จัดพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ของประเทศ

รวมทั้งเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมและกิจกรรมต่างๆ ให้กับคนเมืองกรุง เพื่อจะทำให้บรรยากาศในวันวานกลับฟื้นคืนมาอีกครั้งโดยมอบหมายให้หน่วยทหารพัฒนา เข้ามาดำเนินการ รวมเวลา 300 วันใช้งบประมาณทั้งหมด 180 ล้านบาท

ในโอกาสเปิดใช้สนามหลวงอย่างเป็นทาง การนี้ กทม.ได้กำหนดจัดพิธีทำบุญสนามหลวง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนม พรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554

โดยวันที่ 9 ส.ค. ช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตัก บาตร พระสงฆ์ 1,985 รูป เพื่อความเป็นสิริมงคล มี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน จากนั้นเวลา 08.09 น. มีพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า

นอกจากนี้ กทม. จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 13 ส.ค. เนื่องในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 ส.ค. ซึ่งถือว่าเป็นงานแรกของการเปิดใช้พื้นที่สนามหลวง

ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้สนามหลวงรูปแบบใหม่นี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกทม.และกรมศิลปากร สำนักงานเขตพระนคร จึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่สำหรับประชาชนทั่วไปดังนี้ 1.อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ในช่วงเวลา 05.00-22.00 น. และตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น. อนุญาตให้ใช้เฉพาะพื้นที่บริเวณถนนผ่ากลางเพื่อใช้ในการสัญจรของประชาชนเท่านั้น

2. การใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและการออกกำลังกายตามปกติ การพักผ่อนหย่อนใจ หมายถึง การใช้พื้นที่สำหรับการนั่ง ยืน เดิน โดยไม่มีการติดตั้งเต็นท์ ร่ม หรือกระทำสิ่งใดที่มีลักษณะเป็นการยึด ขุด เจาะในบริเวณพื้นที่ท้องสนามหลวง

การออกกำลังกาย หมายถึง การเดิน วิ่ง หรือการเคลื่อนที่เพื่อการบริหารร่างกายตามเทคนิคเฉพาะ เช่น การรำมวยจีน การรำกระบี่กระบอง การรำไท้เก๊ก หรือกิจกรรมเข้าจังหวะใดๆ ที่ไม่เป็นเหตุให้บริเวณพื้นที่ท้องสนามหลวงเสียหาย อย่างไรก็ตามสำหรับกีฬาประเพณีไทยอย่างเล่นว่าวยังอนุญาตให้เข้าไปเล่นได้

3. ข้อห้ามในการใช้พื้นที่ อาทิ ห้ามขายหรือจำหน่ายสินค้า หรือให้เช่าหรือบริการใดๆ ทุกชนิด ห้ามนอน หรือประกอบกิจการนวด ห้ามทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ห้ามถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ห้ามอาบน้ำหรือซักล้างสิ่งใดๆ

ห้ามขูด กะเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏซึ่งข้อความหรือรูปรอยใดๆ บนรั้วกำแพง ต้นไม้หรือสิ่งค้ำยันต้นไม้ หรือทรัพย์สินของทางราชการ ห้ามโค่นต้นไม้ ตัด เด็ด หรือทำให้เกิดความเสียหาย

ห้ามปีนป่าย นั่ง หรือขึ้นไปบนรั้ว กำแพง ต้นไม้หรือสิ่งค้ำยันต้นไม้ ห้ามเล่นฟุตบอล ตะกร้อ หรือจัดการแข่งขันกีฬาใดๆ ยกเว้นได้รับอนุญาต ห้ามเล่นการพนันทุกชนิด ห้ามดื่มสุรา น้ำเมา หรือใช้สารเสพติด ห้ามจอดรถทุกชนิด

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ให้เหตุผลถึงการกำหนดกฎระเบียบการใช้พื้นที่อย่างเคร่งครัดว่า เพื่อให้สนามหลวงมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เหมือนที่ผ่านมา

เบื้องต้นกทม.ได้หารือกับกรมศิลปากร ในการออกระเบียบต่างๆ โดยการขึ้นทะเบียนสนามหลวงเป็นโบราณสถาน หากมีผู้บุกรุกจะมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504

นอกจากนี้ ได้ติดตั้งรั้วชั่วคราว เพื่อป้องกันผู้บุกรุกและกำหนดเวลาเปิด-ปิดสนามหลวงตั้งแต่เวลา 05.00 - 22.00 น. รวมทั้งตั้งศูนย์อำนวยการชั่วคราวและหอกระจายเสียง ไฟส่องสว่าง ม้านั่งสาธารณะ พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) โดยรอบ

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงภูมิทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะคนไร้บ้านนั้น กทม.ได้จัดพื้นที่บริเวณสำนักงานประปานครหลวง สาขาแม้นศรี ซึ่งรองรับได้มากกว่า 300 คน โดยต้องลงทะเบียนเข้าพักเป็นรายวัน ขณะเดียวกันได้ประสานขอความร่วมมือกับภาคเอกชน องค์กร และมูลนิธิต่างๆ เพื่อดูแลให้ความช่วยเหลือ ส่วนคนเร่ร่อนต่างด้าวจะประ สานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันออกไป

สำหรับผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยโดยรอบ ได้จัดพื้นที่บริเวณคลองหลอดให้ค้าขายชั่วคราว และจะขอเป็นจุดผ่อนผันต่อไป รวมทั้งผลักดันให้พื้นที่บริเวณถนนราชินี ถนนอัษฎางค์ และริมคลองคูเมืองเดิม เป็นถนนคนเดินในเวลากลางคืนด้วย ส่วนปัญหานกพิราบ ได้จับนกพิราบกว่า 20,000 ตัว ใส่กรง โดยแยกตัวผู้และตัวเมียออกจากกันเพื่อป้องกันการผสมพันธุ์

นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังได้ปูหญ้าทางด้านทิศเหนือ เพื่อไม่ให้มีการจอดรถ โดยจะเปิดให้จอดได้ในบริเวณรอบสนามหลวงและถนนผ่ากลาง

ขณะที่ปัญหาโสเภณีผมรู้สึกกังวลมากที่สุด ต้องยอม รับว่าแก้ไขยาก ควรแก้ปัญหาในระยะยาว โดยใช้การศึกษาเข้ามาช่วย ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ด้าน นายสุวพร เจิมรังสี ผอ.เขตพระนคร กล่าวว่า ทางสำนักงานเขตได้เตรียมมาตรการดูแลพื้นที่สนามหลวงหลังจากเปิดใช้อย่างเป็นทางการ โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจเฝ้าพื้นที่ 100 นาย แบ่งเป็น 3 กะ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้ง ผู้บริหารกทม.ได้อนุมัติงบในการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากบริษัทเอกชน 98 นาย เป็นจำนวนเงินปีละ 10 ล้านบาท แต่คาดว่าคงไม่เพียงพอ ผมจะของบเพิ่มเป็น 14 ล้านบาท

พ.ต.ท.เอกรัตน์ เปาอินทร์ รองผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม กล่าวว่า การแก้ปัญหาโสเภณีวิธีที่ดีที่สุดคือให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาดำเนินการ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรง

เมื่อสนามหลวงปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประชาชนทุกคนควรใช้พื้นที่อย่าง ทะนุถนอม

ไม่ให้เละเทะเหมือนในอดีต

8 ส.ค. 54 เวลา 11:20 2,907 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...