แพ้ถั่วลิสง

 

 

 

 

 

แพ้ถั่วลิสง

 

ใครจะไปคิดว่าถั่วลิสงเม็ดเล็ก ๆ จะทำให้คนเสียชีวิตได้ ที่พูดตรงนี้มิได้หมายความว่ากินถั่วลิสงแล้วติดคอ แต่หมายถึงการแพ้ถั่วลิสงรุนแรงต่างหาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี หน่วยโรคภูมิแพ้ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจเด็กนักเรียน ม.ปลาย ในกรุงเทพฯ จำนวน 6,000 คน เมื่อปี 2552 พบเด็กแพ้ถั่วลิสงประมาณ 0.2% หรือ ใน 1,000 คนมี 2 คนที่แพ้ถั่วลิสง ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศไทยยังไม่มีการรายงานชัดเจน ซึ่งอุบัติการณ์แพ้ถั่วลิสงในบ้านเราถือว่าน้อยกว่าอเมริกาที่มีอัตราสูงมาก โดย 1,000 คนจะมีคนแพ้ถั่วลิสงประมาณ 14 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการแพ้ถั่วลิสงกว่า 100 คนต่อปี

เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายแพ้ถั่วลิสงได้พอ ๆ กัน พบได้ตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบขึ้นไป พอเกิดอาการแพ้ครั้งหนึ่งมักจะไม่หายและมักจะแพ้ไปตลอดชีวิต

สาเหตุของการแพ้ถั่วลิสงเกิดจากภูมิคุ้มกันของคนคนนั้นแปรปรวน ทำให้ไม่สามารถรับโปรตีนที่เป็นอาหารปกติของคนธรรมดาได้จนเกิดการแพ้โปรตีนในถั่วลิสง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันแปรปรวนยังไม่สามารถบอกแน่ชัดได้ ในขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ก็พยายามศึกษาหาสาเหตุอยู่ โดยเฉพาะอเมริกาเนื่องจากการแพ้ถั่วลิสงเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตจากการแพ้อาหาร

คนที่แพ้ถั่วลิสงจะแพ้ถั่วเปลือกแข็งทุกชนิดหรือไม่? รศ.พญ.พรรณทิพา กล่าวว่า คนที่แพ้ถั่วลิสงมีโอกาสจะแพ้ถั่วเปลือกแข็งอย่างอื่นประมาณ 30% หรือ 1 ใน 3 เท่านั้น ส่วนอีก 70% กินถั่วอย่างอื่นได้ คนที่แพ้ถั่วลิสงเขาจะรู้เองว่า แพ้ถั่วอย่างอื่นด้วยหรือไม่ อย่างบางคนกินถั่วลิสงไม่ได้ กินแอลมอนด์ไม่ได้ แต่กินวอลนัท หรือแมคคาดาเมียได้ แต่ละคนจะมีการแพ้จำเพาะที่ไม่เหมือนกัน

กินถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วลันเตา ได้หรือไม่? รศ.พญ.พรรณทิพา กล่าวว่า ถั่วที่กล่าวมาเป็นถั่วฝักอ่อน ไม่ใช่ถั่วเปลือกแข็ง ดังนั้นคนที่แพ้ถั่วลิสงมักจะกินได้

การแพ้โปรตีนจากถั่วลิสงจะแพ้โปรตีนจากอาหารชนิดอื่นด้วยหรือไม่? รศ.พญ.พรรณทิพา กล่าวว่า โปรตีนจากอาหารแต่ละอย่างโครงสร้างไม่เหมือนกัน ถ้าแพ้โปรตีนอย่างหนึ่งก็ไม่จำเป็นที่จะแพ้โปรตีนอย่างอื่น อย่างแพ้โปรตีนถั่วลิสงแต่พอไปกินโปรตีนจากปลา จากนมก็ไม่แพ้

อาการของคนไข้ที่แพ้ถั่วลิสง ถ้าแพ้ไม่รุนแรง อาจมีผื่นคันที่ผิวหนัง เป็นลมพิษ ตามตัว ตามข้อพับแขน ข้อพับเข่า กรณีนี้กินยาแก้แพ้ก็หาย แต่ถ้าแพ้รุนแรงอาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ โดยคนไข้อาจมีอาการปากบวม ตาบวม หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ขาดอากาศหายใจ ความดันตก จนเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิต ดังนั้นจะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรอยู่ที่บ้าน เพราะถ้าบวมมาก ๆ จะทำให้หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก ขาดอากาศหายใจ

การรักษาคนไข้ที่แพ้รุนแรงแพทย์จะฉีดยาให้ แต่ถ้าแพ้ไม่รุนแรงอาจให้ยารับประทาน โดยแพทย์จะตรวจร่างกายคนไข้ก่อนว่าอาการมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาโรงพยาบาลมักจะรู้สาเหตุว่าเกิดจากการกินถั่วลิสง

ทำไมคนไข้รู้ว่าแพ้แล้วยังกินถั่วลิสงอยู่ ไม่กลัวตายหรืออย่างไร?

รศ.พญ.พรรณทิพา กล่าวว่า การแพ้ถั่วลิสงจะต่างจากการแพ้อย่างอื่น บางทีถั่วลิสงอาจปนมาในอาหารโดยที่คนไข้ไม่รู้ เช่น อาจจะบดเป็นไส้อาหาร อยู่ในน้ำจิ้มที่บดละเอียด อยู่ในขนมเด็กที่กวน ๆ รวมกัน อยู่ในคุกกี้ หรืออยู่ในช็อกโกแลตที่อาจจะผลิตในโรงงานที่ทำช็อกโกแลตที่ถั่วลิสง แล้วช็อกโกแลตที่คนไข้กินมองดูก็ไม่มีถั่วลิสง แต่บังเอิญผลิตโดยใช้เครื่องจักรเดียวกับที่ผลิตช็อกโกแลตถั่วลิสง อาจมีเศษเล็ก ๆ ของถั่วลิสงติดมา คนไข้อาจเผลอกินโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะไม่รู้ว่ามีถั่วลิสงปนอยู่ กินเข้าไปแล้วถึงรู้เพราะจะแสดงอาการ บางคนกินนิดเดียวอาจทำให้เสียชีวิตได้ อย่างที่อเมริกา หรืออังกฤษมีรายงานการเสียชีวิตบ่อย ๆ

เห็นข่าวว่า หน่วยโรคภูมิแพ้ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้บริการตรวจการแพ้ถั่วลิสงใครควรที่จะไปตรวจบ้าง ?

รศ.พญ.พรรณทิพา กล่าวว่า คนที่กินแล้วมีอาการปากบวม ตาบวม คันคอ คัดจมูก แน่นจมูก คันตามตัว ผื่นขึ้น ควรไปตรวจยืนยันว่าแพ้ถั่วลิสงจริงหรือไม่ ซึ่งแพทย์อาจจะตรวจเพิ่มว่าคนไข้แพ้ถั่วชนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น แอลมอนด์ แมคคาดาเมีย วอลนัท เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมไปถึงถั่วเหลืองที่แม้โอกาสแพ้จะน้อยแต่ก็จะตรวจร่วมด้วย คือ วันดีคืนดีคนไข้อาจจะไปกินถั่วเปลือกแข็งชนิดอื่นและแพ้ได้

วิธีตรวจการแพ้ถั่วลิสงจะใช้สารจำเพาะสะกิดที่ผิวหนัง วิธีนี้จะทราบผลทันทีว่าแพ้ถั่วลิสงหรือไม่ หรืออาจใช้วิธีตรวจเลือดซึ่งจะทราบผลใน 2-3 สัปดาห์ ชีวิตคนไข้กลุ่มนี้เสี่ยงมาก ทั่วโลกมีอัตราการแพ้ถั่วลิสงเพิ่มขึ้น รวมถึงประเทศไทย ดังนั้นควรจะตรวจดูว่านอกจากถั่วลิสงแล้วแพ้ถั่วอย่างอื่นด้วยหรือไม่

รศ.พญ.พรรณทิพา กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจเด็กนักเรียน ม.ปลาย ในกรุงเทพฯ จำนวน 6,000 คน นอกจากพบว่า เด็กแพ้ถั่วลิสง 0.2% แล้ว ยังพบว่า 8% หรือ 8 ใน 100 คนแพ้อาหารอย่างอื่น โดยเฉพาะอาหารทะเล คือ การแพ้อาหารจะเป็นไปตามอายุ อย่างในเด็กโตหรือวัยรุ่นส่วนใหญ่แพ้อาหารทะเล เด็กเล็กมักจะแพ้นมและไข่ ส่วนผู้สูงอายุจะแพ้อาหารทะเล แต่ถ้าพูดถึงความรุนแรง การแพ้ถั่วลิสงจะมีอาการรุนแรงที่สุด จากผลการวิจัยดังกล่าวได้มีการให้ความรู้กับครูในโรงเรียนต่าง ๆ ในการดูแลเบื้องต้นเด็กที่แพ้อาหารด้วย

นอกจากนี้ยังได้มีการทำวิจัยเชิงลึกในกลุ่มตัวอย่างอายุ 6 เดือน -60 ปี ว่าโปรตีนชนิดใดในถั่วลิสงที่ทำให้คนไทยแพ้ พบว่า ชนิดของโปรตีนที่คนไทยแพ้แตกต่างจากอเมริกา โดยโปรตีนที่คนไทยแพ้มีชื่อว่า “แอลทีพี” ส่วนโปรตีนที่คนอเมริกันแพ้ชื่อ “เออาร์เอเอช 2” แต่โปรตีนในถั่วลิสงที่ทำให้แพ้ได้มีกว่า 10 ชนิดด้วยกัน แต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นแต่ละประเทศก็ต้องหาว่าคนของตัวเองแพ้โปรตีนถั่วลิสงชนิดใดเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ข้อมูลตรงนี้อธิบายได้ว่าโปรตีนที่คนไทยแพ้นั้นอาการจะรุนแรงน้อยกว่าต่างชาติ เพราะแพ้คนละตัวกัน การค้นพบโปรตีนที่ทำให้แพ้ตรงนี้มีความสำคัญมากเพราะนำไปสู่การตรวจหาภูมิแพ้ต่อโปรตีนแอลทีพีในเลือดของคนไข้ที่แพ้ถั่วลิสง ขณะเดียวกันก็พบว่าคนไทยที่แพ้ผลไม้ เช่น เงาะ ลำไย กล้วย ก็อาจมีภูมิแพ้ต่อโปรตีนแอลทีพีในเลือดเช่นกัน นั่นหมายความว่า แอลทีพีที่มีอยู่ในผลไม้หลายอย่าง ดังนั้นคนที่กินผลไม้แล้วแพ้ มีอาการคันคอ คันปาก ก็สามารถจะอธิบายถึงที่มาอาการดังกล่าวได้ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะแพ้ถั่วลิสง หรือแพ้อาหารอื่น ๆ อย่างเช่น ผลไม้ กุ้ง นม ไข่ หรือ แป้งสาลี สามารถปรึกษาได้ที่ หน่วยโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โทร. 0-2256-4933

 

 

Credit: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.html
7 ส.ค. 54 เวลา 14:38 5,349 6 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...