"โบท็อกซ์" (Botox) เป็นชื่อทางการค้าของสารชีวภาพชนิดหนึ่ง คือ "โบทูลินัม ท็อกซิน เอ" โดย "โบทูลินัม" เป็นชื่อของ คลอสทริเดียม โบทูลินัม ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษแก่มนุษย์
ส่วนคำ "ท็อกซิน" แปลตรงตัวว่า สารพิษ เป็นคำกลางๆ คืออาจจะเป็นสารพิษต่อมนุษย์หรือไม่ก็ได้ เช่น สารพิษบางอย่างเป็นพิษต่อแมลงบางชนิด แต่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ ในกรณีนี้ก็เรียกสารดังกล่าวว่าท็อกซิน ได้เช่นเดียวกัน ส่วนคำ "เอ" ระบุว่า ท็อกซินชนิดนี้เป็น 1 ใน 7 ท็อกซินที่สิ่งมีชีวิตผลิตได้
สรุป โบท็อกซ์ มีที่มาจากท็อกซินที่พบในแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษในมนุษย์ ท็อกซินชนิดนี้พบตามธรรมชาติตั้งแต่ พ.ศ.2360 โดยนายแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ จัสทินัส เคอร์ เนอร์ ท็อกซินชนิดนี้มีอัน ตรายไม่น้อย กล่าวคือ อาจมีความรุนแรงถึงขนาดทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต หรือถึงขั้นเสียชีวิต เพราะท็อกซินนี้จะออกฤทธิ์โดยการไปจับกับส่วนปลายของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประ สาทไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาท อะซีทิลโคลีนได้ มีผลทำให้กล้ามเนื้อไม่อาจหดตัวได้ ซึ่งในผู้ป่วยรายที่เสียชีวิต สาเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจากกล้ามเนื้อหน้าอกซึ่งเกี่ยวข้องกับการหายใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
โบท็อกซ์เกี่ยวข้องกับการลบรอยเหี่ยวย่นได้อย่างไร คำตอบคือ การที่กล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ (หรือเป็นอัมพาตไป) ก็จะมีผลข้างเคียงสำคัญคือ มันจะไม่สามารถทำให้เกิดรอยเหี่ยวย่นได้นั่นเอง โดยระยะแรกของการ นำโบท็อกซ์มาใช้งาน มักใช้สำหรับรักษาอาการกระตุกของกล้ามเนื้อตา อาการตาเหล่ หรือตาเข ตลอดไปจนถึงอาการปวดตึงผิดธรรมดาของกล้ามเนื้อคอ โดยมีการอนุญาตให้ใช้ได้ในสหรัฐ อเมริกาเมื่อปี 2532 แต่เรื่องการฉีดโบท็อกซ์มาฮือฮากันจริงๆ ตอนที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือเอฟ ดีเอ อนุมัติให้ใช้โบท็อกซ์เพื่อประ โยชน์ในอุตสาหกรรมความงามในเดือนเมษายน 2545
การฉีดโบท็อกซ์จะเห็นผลเร็วมาก อาจเพียงไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึง 2-3 วันภายหลังจากการฉีด แต่ผลจะไม่คงอยู่อย่างถาวร มีรายงานว่าอยู่ได้ราว 3-6 เดือน (อาจถึง 8 เดือน) หากต้องการลบรอยย่นอีกก็ต้องฉีดซ้ำอีก เป็นการฉีดโดยตรงที่กล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของท็อกซิน และนอกจากข้อควรระวัง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์อาจมีผลทำให้โบท็อกซ์ออกฤทธิ์ได้ไม่ดี หรืออาจทำให้เกิดรอยแผลบริเวณตำแหน่งที่ฉีด
คำเตือนสำคัญจากเอฟดีเอคือ ในระหว่างการฉีดโบท็อกซ์อาจเกิดผลข้างเคียง (มักจะเกิดกับคนไข้ราว 3-10 เปอร์เซ็นต์) จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ และในสถานที่ซึ่งมีเครื่องมือพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉิน
ผลข้างเคียงจากการฉีดโบท็อกซ์ มีตั้งแต่ปวดศีรษะ คลื่นไส้ คัน เจ็บคอ มีไข้ มีอาการคล้ายเป็นหวัด จนถึงเกิดอาการเจ็บปวดและเกิดแผลช้ำบริเวณที่ฉีด อาการกล้ามเนื้อเปลือกตาหย่อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน
และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด การฉีดโบท็อกซ์ที่ผิดขนาดไปมากๆ อาจทำให้เสียชีวิต ส่วนผู้ที่ฉีดโบท็อกซ์บ่อยๆ อาจมีใบหน้าที่ดูคล้ายหน้ากาก แลดูไม่มีอารมณ์ความรู้สึก คล้ายกับอาการที่พบในผู้ป่วยที่โดนพิษโบท็อกซ์ตามธรรมชาติบางรายที่เป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าบางส่วน เนื่องจากโบท็อกซ์อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายและได้มาก การควบคุมปริมาณของโบท็อกซ์ให้ถูกต้องเหมาะสม จึงสำคัญยิ่ง