อาการจุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึง โรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหาร หรือ เกิร์ด (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร หากเป็นเรื้อรังอาจทำให้หลอดอาหารอักเสบ มีเลือดออกจากหลอดอาหาร ปลายหลอดอาหารอาจตีบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ เยื่อบุหลอดอาหาร หากอาการรุนแรงขึ้นอาจกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารในที่สุด
อาการที่สำคัญ ได้แก่ รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ เกิดจากการยกของหนัก นอนหงายหรือรับประทานอาหาร มื้อหนัก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอและมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
กรณีที่กรดไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง อาจทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีอาการจุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ มีอาการหืดหอบ เสียงแหบ และเจ็บคอ อีกทั้งอาจมีอาการอื่น เช่น ท้องอืด แน่นท้อง อาเจียนหลังรับประทานอาหารร่วมด้วย
สาเหตุสำคัญของโรคเกิร์ด เกิดจากความผิดปกติของ หูรูดส่วนปลายหลอด อาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันหูรูดต่ำ ซึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารประเภทไขมันสูง การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และกินยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
หากหลอดอาหารบีบตัวผิดปกติจะทำให้อาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารยาวนานกว่าปกติ พันธุกรรมยังเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเกิร์ดที่พบบ่อยในชาวตะวันตกมากกว่าคนตะวันออก
โอกาสการเกิดโรคเกิร์ดมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กเล็กจะอาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หืดหอบในเวลากลางคืน ปวดอักเสบเรื้อรัง เด็กบางรายอาจหยุดหายใจขณะหลับ
การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการส่องกล้องทางเดินอาหาร เอกซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหารซึ่งให้ผลการวินิจฉัยไวที่สุด
การรักษาควรเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยการระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากหรืออ้วนเกินไป เพราะคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม หรืออาหารรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง และช็อก โกแลต รับประทานอาหารมื้อเย็นปริมาณน้อย และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เวลานอนควรหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดรูปจนเกินไป ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพยายามหลีกเลี่ยงความเครียด
โรคกรดไหลย้อนรักษาให้หายได้โดยกินยาเคลือบกระเพาะอาหารรักษาแผล ช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร และยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร รวมถึงยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น ควรกินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยาหรือหยุดยาเอง และควรพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลารักษานาน 1-3 เดือนกว่าอาการจะดีขึ้น
ควรหลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากขึ้น หรือทำให้หูรูดหย่อน เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน NSAID และวิตามินซี
ส่วนการรักษาโดยการผ่าตัดผูกหูรูดกระเพาะอาหารเพื่อไม่ให้กรดไหลย้อนจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และเมื่อการปรับปรุงพฤติกรรมและการใช้ยาไม่ได้ผล