“วัดแก้วฟ้า” เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าก่อสร้างสมัยช่วงกลางกรุงศรีอยุธยาราวปี พ.ศ. 2095 ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตั้งอยู่ที่ ต.บางขนุน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี อายุราว 459 ปีแล้ว
อุโบสถวัดแก้วฟ้าปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรมและมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมทุกปี ระดับน้ำเคยท่วมสูงถึง 50 เซนติเมตร จากระดับ ทางเดินเท้ารอบอุโบสถ เป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปปฏิบัติกิจของสงฆ์ ยากต่อการดูแลรักษาและยังทำให้ชำรุดทรุดโทรมยิ่งขึ้น พระครูปลัดไพศาล กิตฺติภทฺโท เจ้าอาวาส มีความเห็นว่าควรยกอุโบสถหลังนี้ขึ้นให้พ้นจากระดับน้ำที่เคยท่วมแล้วปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้ดูสวยงามเหมาะสมเป็นโบราณศาสนสถานให้ประชาชนได้เข้ามาทำบุญกราบไหว้หลวงพ่อใหญ่ที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์รวมถึงได้ชมศิลปะอยุธยาช่วงตอนกลางที่มีอายุยืนยาวนานมาถึง 459 ปี
ฐานรากของอาคารก็ทำด้วยอิฐก่อทั้งหมด เคยมีความเข้าใจว่าสมัยก่อนการก่อสร้างอาคารหลังใหญ่ ๆ จะต้องนำท่อนซุงมาวางรองรับเป็นฐานราก แต่เท่าที่ขุดดินโดยรอบแล้วพบว่าอุโบสถวัดแก้วฟ้าไม่ได้วางอยู่บนท่อนซุงดังที่คาดไว้ ส่วนที่พบคืออิฐหักถมทับตลอดแนวผนังของอุโบสถ จากนั้นเป็นฐานรากอิฐก่อลักษณะเช่นเดียวกับผนังของอุโบสถวางทับลงบนอิฐหักโดยตรง ใช้เป็นฐานรากรองรับอุโบสถที่มีความสูงถึง 7 เมตร (สูงกว่าอาคาร 2 ชั้นในปัจจุบัน)
ลักษณะอาคารเช่นอุโบสถวัดแก้วฟ้านี้ในทางวิศวกรรมเรียกว่า “อาคารชนิดผนังรับน้ำหนัก (Load-bearing wall building)” อิฐก่อทุกก้อนที่ใช้ทำผนังจะเป็นตัวรับน้ำหนักจากหลังคา ส่งถ่ายแรงเป็นลำดับลงไปจนถึงฐานรากและส่งผ่านต่อจากฐานรากลงสู่ดินด้านล่าง การจะยกอาคารเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจเรื่องของการถ่ายแรง การขุดเจาะผนังแต่ละตำแหน่งต้องผ่านการวิเคราะห์ว่าสามารถทำได้หรือไม่ หากขุดเจาะผิดตำแหน่งจะทำให้อิฐก่อเกิดการขยับตัว บิดตัวหรือแตกหักออกจากกัน
ความยากของการยกอาคารผนังอิฐก่อที่มีอายุเก่าแก่เช่นนี้มีสองส่วน คือ ขั้นตอนการทำเสาเข็มเสริมเพื่อรองรับอาคารทั้งหลัง และการยกอาคารที่จะทำอย่างไรให้อาคารไม่เกิดการแตกร้าวเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิม
เนื่องจากเป็นอาคารเก่ามีสภาพทรุดโทรมมากแล้ว เสาเข็มที่จะนำมาใช้ติดตั้งเพื่อรองรับอาคารต้องเลือกชนิดที่มีความแข็งแรงเพียงพอและขณะติดตั้งต้องไม่สั่นสะเทือนจนเป็นเหตุให้อาคารเกิดการแตกร้าว เสาเข็มที่เหมาะที่สุดคือเสาเข็มเหล็กที่ตัดต่อได้ง่ายและใช้วิธีการติดตั้งเสาเข็มลงดินด้วยแม่แรงไฮดรอลิก
การขุดเจาะฐานรากเดิมซึ่งเป็นอิฐก่อให้เป็นช่องลงไปเพื่อติดตั้งเสาเข็มใต้อุโบสถนั้นใช้วิธีการทำวงโค้งที่ผนังเหนือตำแหน่งขุดเจาะเพื่อถ่ายน้ำหนักออกไปด้านข้าง โดยเจาะทะลุผนังเป็นเส้นโค้งซึ่งมีขนาดตามที่ได้วิเคราะห์ตามหลักวิศวกรรมไว้ จากนั้นนำอิฐหักใต้วงโค้งออกทั้งหมดแล้วเทคอนกรีต เมื่อคอนกรีตแข็งตัวแล้วจะสามารถขุดดินลงไปด้านล่างเพื่อขุดเจาะฐานรากเดิมออกได้ ซึ่งการขุดดินจะทำได้เมื่อมีวงโค้งที่ผนังแล้วอย่างน้อยสองวง สำหรับการติดตั้งเสาเข็มใช้วิธีการนำแม่แรงไฮดรอลิกดันเข้าใต้แนวผนังของอุโบสถ ด้วยน้ำหนักของอุโบสถซึ่งหนักประมาณ 1,000 ตัน จะกดเสาเข็มเหล็กลงดินได้ เสาเข็มแต่ละท่อนมีความยาวประมาณ 1.00–1.50 เมตร และนำมาต่อกันด้วยการเชื่อมไฟฟ้า เสาเข็มจะถูกกดลงดินด้วยแม่แรงไฮดรอลิกจนได้ระดับความลึกที่สามารถรับน้ำหนักของอุโบสถได้
ความยากในส่วนที่สองนั้นคือการควบ คุมและตรวจวัดขณะทำการยกอุโบสถขึ้น การยกอุโบสถขึ้นโดยไม่ให้แตกร้าวจะใช้วิธียกระดับให้สูงขึ้นเท่า ๆ กันทุกตำแหน่ง เนื่องจากอิฐก่อที่มีสภาพเก่าเช่นนี้พร้อมจะแตกร้าวได้ง่ายขณะยกจึงต้องใช้เครื่องมือตรวจวัดทางอิเล็กทรอนิกส์ผสมกับการตรวจวัดพื้นฐานที่สามารถบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ทันที
การยกอุโบสถขึ้นเสร็จสิ้นแล้ว ท่านผู้ที่สนใจเข้าชมงานทางด้านวิศวกรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ยกอุโบสถเก่าแก่ถึง 459 ปี ขอเรียนเชิญชมได้ที่วัดแก้วฟ้า
อุโบสถวัดแก้วฟ้าอายุ 459 ปี สร้างในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อใหญ่ที่เล่าลือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ช่วงหน้าน้ำระดับน้ำจะท่วมสูงถึง 50 เซนติเมตร จากระดับทางเดินโดยรอบอุโบสถ
เตรียมการเจาะผนังอิฐก่อเพื่อทำแนววงโค้งตัวถ่ายแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขยับตัวของอิฐก่อของผนังด้านบน
ลักษณะการถ่ายแรงภายในผนังภายหลังจากทำวงโค้ง อิฐก่อทุกก้อนจะยังคงรับน้ำหนักแรงกดโดยไม่บิดตัวหักงอ เป็นการเปลี่ยนทิศทางของแรงไปยังตำแหน่งที่ต้องการ
ขณะติดตั้งเสาเข็มเหล็กใต้แนวผนังอิฐก่อด้วยแม่แรงไฮดรอลิก
อุโบสถทั้งหลังวางอยู่บนเสาเข็มที่ติดตั้งแล้วเสร็จ และอยู่ในสภาพที่พร้อมจะยก