สมเด็จหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ โครงการ"พุทธอุทยานมหาราช"

โครงการพุทธอุทยานมหาราช หลักก.ม.ที่ 44 ถ.สายเอเชีย ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา สถานที่ประดิษฐาน "สมเด็จหลวงพ่อทวด" เหยียบนํ้าทะเลจืด แห่งกรุงศรีอยุธยา องค์ใหญ่ขนาดหน้าตัก 24 เมตร สูง 51 เมตร จัดสร้างโดย มูลนิธิพระเทวราชโพธิสัตว์ ที่มี "นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์" ประธานมูลนิธิซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างองค์พระใกล้สำเร็จสมบูรณ์แล้ว

นายวัชรพงศ์ กล่าวว่า โครงการพุทธอุทยานมหาราช เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการเห็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยมีหลักการตามหลักการ "บวร" อันหมายถึง บ้าน วัด โรงเรียน หรือรวมถึงราชการ และองค์กรเอกชน มูลนิธิ ซึ่งแต่ละภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น บ. บ้าน อันหมายถึงชุมชน บุคคล หรือชาวบ้าน ว. วัด หรือคณะสงฆ์ อันเป็นหน่วยงานภาคส่วนที่ส่งเสริมคุณธรรม และธำรงไว้ซึ่งหน้าที่ในการสร้างเสริมความเป็นคนดีมีศีลธรรม และ ร. โรงเรียน องค์กรด้านการศึกษา หน่วยงานราชการ ได้มีการรวมตัวกันสร้างกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ได้ทำในสิ่งที่เป็นมิติใหม่ของสังคมให้เป็นต้นแบบตัวอย่างของการบริหารจัดการในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำแต่มีเป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน คือประโยชน์สุขของสังคม ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อชุมชน สังคม และประชาชน ด้วยวิธีการที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นด้วยการเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนรวมถึงกำลังทรัพย์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นโครงการเพื่อสังคม

"เริ่มจากการซื้อที่ดินจำนวน 200 ไร่ จากบสก. ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีที่ได้ที่ดินที่เหมาะสม ทั้งขนาด ทำเล และสภาพแวดล้อมที่ยังคงเป็นธรรมชาติ จึงได้หารือร่วมกับคณะสงฆ์ธรรมยุต โดยมี สมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต วัดบวรนิเวศ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส เลขาธิการคณะสงฆ์ธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม ตลอดจนพระเถระผู้ใหญ่หลายรูป ซึ่งทางคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ก็ได้เห็นชอบและมีหลักการเป้าหมายเดียวกันเพื่อดำเนินการตั้งวัดขึ้นมาใหม่ รวมถึงสร้างโรงเรียนขึ้นมาในพื้นที่เดียวกัน นอกจากนี้ ทางคณะสงฆ์ยังมีความตั้งใจจะให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาส 84 พรรษา และเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ"

สำหรับแผนดำเนินงานพร้อมจุดประสงค์ 1.สร้างสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดแรงดึงดูดคนมาเป็นอันดับแรกและเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้จากการท่องเที่ยวซึ่งจะมีความยั่งยืน จึงได้สร้างรูปเหมือนหลวงพ่อทวดเหยียบนํ้าทะเลจืด ซึ่งเป็นพระเถระที่ประชาชนทั่วประเทศมีความศรัทธา และจะเป็นรูปเหมือนตัวแทนพระสงฆ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตัก 24 เมตร ความสูงรวมฐาน 51 เมตร สร้างด้วยปูนหุ้มโลหะสำริดเคลือบสีทอง ซึ่งตามประวัติในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลวงพ่อทวดเคยได้เดินทางมาพำนักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งเป็นการนำประวัติศาสตร์มาประยุกต์เข้ากับสถานที่ได้อย่างเหมาะสม ผู้รับผิดชอบ มูลนิธิพระเทวราชโพธิสัตว์ โดยนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธานมูลนิธิ ระยะเวลาดำเนินการปีพ.ศ. 2551-2554

2.การสร้างวัดใหม่ขึ้นมาทั้งหมด ประกอบด้วย อุโบสถ กุฏิสงฆ์ หอฉัน เสนาสนะ ศาลาอเนกประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้รับผิดชอบ คณะสงฆ์ธรรมยุต โดยมี สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศ เป็นประธานอำนวยการ สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิริน ทราวาส เป็นประธานดำเนินการ พร้อมด้วยคณะกรรมการมหาเถรสมาคมสายธรรมยุตทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2555

3.การสร้างโรงเรียนระดับชั้นมัธยม ดำเนินการต่อเนื่องหลังจากสร้างวัดเรียบร้อยแล้ว 4.พื้นที่การค้าสำหรับชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่ขายสินค้าชุมชน สินค้าโอท็อป ซึ่งต้องใช้หลักดึงคนมาก่อนเพื่อให้ชาวบ้านได้ค้าขายได้อย่างยั่งยืน ให้มีความหลากหลาย ช่วยคนให้มีที่ทำกินและระบายสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน และสร้างโอกาสให้กับผลผลิตท้องถิ่น ซึ่งจะต้องสร้างชุมชนใหม่ขึ้นมาผนวกกับชุมชนดั้งเดิมและปลูกฝังให้เกิดการรับผิดชอบต่อการอยู่ร่วมกันในชุมชน

5.พื้นที่เกษตร และการอนุรักษ์ธรรมชาติคืนสู่หลักการ ในนํ้ามีปลา ในนามีข้าว เน้นความเขียวสดชื่นตามธรรมชาติแนวอนุรักษ์ แหล่งนํ้าและต้นไม้ มีการทำนา ปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้กินได้ ไม่ทำลายธรรมชาติ นำเสนอทฤษฎีบ้านนอกคอกนา พาชีวิตเป็น สุข สงบ ร่ม เย็น ผู้รับผิดชอบ นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธานมูล นิธิพระเทวราชโพธิสัตว์

นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลีกย่อยอีกหลายอย่างที่จะให้เกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ เช่น ฮับการท่องเที่ยว ที่จะช่วยประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว ในรัศมี 50 ก.ม. จากพุทธอุทยานมหาราชว่ามีอะไรบ้าง ในรูปแบบแผนที่และเอกสารการท่องเที่ยวอันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เป็นต้น

พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไป สามารถร่วมบริจาคสมทบการสร้างได้ที่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ทั่วประเทศ

หรือที่สำนักงานรับบริจาคที่โครงการ ทุกวัน
 

4 ส.ค. 54 เวลา 12:20 3,963
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...