เจาะข้อเท็จ-จริง ทฤษฎีวันโลกแตก!

กระแสข่าวลือ-ข่าวลวง-ข่าวเขย่าขวัญ ทำนองว่า

'โลกมนุษย์' จะถึงคราวดับสูญไปในปีนั้น ปีนี้ หรืออนาคตอันใกล้อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็ยังคงมีให้ได้เห็นได้ยินอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะใน 'โลกไซเบอร์' รวมถึงอีเมล์ลูกโซ่ ที่มีมือมืดพยายามปั่น 'ทฤษฎีโลกแตก' สารพัดชนิด ทั้งในแง่มุมวิทยาศาสตร์ เช่น สนามแม่เหล็กโลกกลับขั้ว มุมภูตผีปีศาจเหนือธรรม ชาติ หรือพยากรณ์กันตามปฏิทินมายา ออกมาเขย่าให้ผู้คนหวาดผวาอยู่เป็นระยะๆ

อย่างล่าสุด ก็ลือกันทั่วอินเตอร์เน็ตว่า โลกอาจจะแตกในปี ค.ศ.2012 หรือพ.ศ. 2555!?

ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา แวดวงวิชาการไทยได้ต้อนรับศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง 'โจเซลิน เบล เบอร์เนล' นักดาราศาสตร์หญิงชั้นแนวหน้า ชาวอังกฤษ สาขาดาราศาสตร์วิทยุ จากมหา วิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมวิชาการสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 11 (APRIM 2011) จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี

และระหว่างร่วมงานดังกล่าว ศ.เบอร์เนลได้สละเวลาขึ้นเวทีอธิบายไขปริศนาโลกแตก ภายใต้หัวข้อ 'ฤๅโลกดับแน่แล้ว...ไม่แคล้วปีหน้า'

ยกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แบบชัดๆ ขึ้นมาอธิบายว่า ทฤษฎีโลกแตกต่างๆ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ขอบอกว่าชื่อชั้นของ ศ.เบอร์เนล นั้นไม่ธรรมดา เพราะมีสถานะเป็นถึงผู้ค้นพบ 'พัลซาร์' หรือดาวนิวตรอนที่แผ่คลื่นวิทยุ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ได้รับการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแวดวงดวงดาวระดับสากลกันเลยทีเดียว!

เริ่มต้นกับการตั้งคำถามว่า ปัจจัยอะไรที่อยู่ดีๆ มนุษย์เราถึงพากันเชื่อว่าโลกจะแตก

เป็นเพราะกระแสปฏิทินมายาโบราณ ซึ่งบังเอิญเวียนมาบรรจบครบรอบ ในปี 2555 หรือเพราะภาพยนตร์ที่โกยเงินจากการเกาะกระแสความกลัวของผู้คน กระทั่งตอกย้ำสร้างภาพความเชื่อผิดๆ ปลูกฝังจนเป็นค่านิยมความตื่นกลัว ผสมผสานกับทฤษฎีอีกสารพัดอย่างที่ฟังมาจากปากต่อปาก จากเว็บสู่เว็บ

ศ.เบอร์เนล ให้คำตอบว่า

"หนึ่งในประเด็นหลักเรื่องโลกแตกคงหนีไม่พ้นปรากฏการณ์ 'การกลับขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์' หรือกระบวนการที่ขั้วแม่เหล็กเหนือใต้สลับตำแหน่งกัน ผกผันไปตามจุดซันสปอต หรือจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่กระจายอย่างไม่เป็นระเบียบนั้น จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นทุกๆ 11 ปี และเพิ่งจะเกิดขึ้นสดๆ ร้อนในปี 2552 ที่การวิจัยในครั้งนั้นได้ยืนยันแล้วว่า ไม่พบข้อมูลผลกระทบที่มนุษย์ได้รับจากปรากฏการณ์ดังกล่าว แถมต้องรออีกนานถึงปี 2564 กว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง"

ขณะที่ "พายุสุริยะ" เปลวก๊าซร้อนๆ ที่พวยพุ่งออกมาจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์นั้น ศ.เบอร์เนล กล่าวว่า

"พายุนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่ากลัวก็จริง แต่น่ากลัวสำหรับนักบินอวกาศที่ออกไปทำงานนอกชั้นบรรยากาศเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องสัมผัสกับรังสีและอนุภาคไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนที่เราพบเห็นพายุสุริยะมากขึ้น ก็ไม่ได้อ้างอิงความเกี่ยวข้องกับการสิ้นโลกแต่อย่างใด เพราะเปลวก๊าซเหล่านี้จะค่อยๆ พัฒนาเพิ่มขึ้นไปเรื่อย จนเข้าสู่จุดสูงสุดในปี 2013 หรือ 2556 ซึ่งก็ไม่ใช่ปี 2012 อย่างที่เข้าใจ และในครั้งนี้ก็จะมีปริมาณน้อยกว่าครั้งอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกว่าครึ่งหนึ่งอีกด้วย"

นอกจากนั้น ศ.เบอร์เนล ยังขยายความถึงปรากฏการณ์ 'สนามแม่เหล็กโลก' ที่เชื่อว่าในอนาคตจะกลับทิศทางจนโลกหมุนสลับขั้ว สร้างความแปรปรวนในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เมืองร้อนมีหิมะตก เมืองหนาวกลายเป็นทะเลทราย ไม่ก็น้ำท่วมโลกหรือธรณีสูบ ด้วยว่า

จริงๆ แล้วสนามแม่เหล็กของโลกมีการกลับตัวทุกๆ ประมาณ 3 แสนปี มนุษยชาติเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อราวๆ 2.5 ล้านปีมาแล้ว ดังนั้น จึงมีการกลับทิศลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังไม่พบว่ามีผลกระทบต่อผู้คน หรือโลกกลมๆ ใบนี้

การกลับทิศของสนามแม่เหล็ก เป็นกระ บวนการที่ต้องใช้เวลานานถึง 5,000 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์ในแต่ละครั้ง โดยเริ่มจากการลดลงอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปของสนามแม่เหล็กโลก และที่มันกำลังอ่อนตัวลงในปัจจุบัน นั่นอาจหมายถึงการเข้าสู่ช่วงกลับทิศครั้งใหม่ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทิศการหมุนของโลกด้วยซ้ำไป

อีกหนึ่งทฤษฎีวันสิ้นโลกที่ร่ำลือติดอันดับฮิตไม่แพ้กัน ก็คือ ความหวาดวิตกปรากฏการณ์ 'การเรียงตัวของดาวเคราะห์ทั้งหมดในเอกภพ' ซึ่งศ.เบอร์เนล ได้ให้ข้อคิด ไว้ว่า "ในปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ที่จะถึงนี้ อย่างไรแล้วก็ไม่ใช่ปีที่จะมีการเรียงตัวของดาวทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะจากข้อมูลกว่า 5 พันล้านปีที่ผ่านมา การเรียงตัวของดาวเคราะห์ที่มีมากที่สุด 5 ดวงตรงแนวโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์คือเมื่อ ก.พ.2505 และล่าสุดใน พ.ค.2534 ที่ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์อีก 5 ดวงก็วนมาเจอกันอีกรอบ แต่ยังไม่มีทีท่าว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดจะมาเรียงเป็นระนาบเดียวกันเลย ส่วนการเรียงตัวลักษณะนี้ในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2583 และ พ.ศ. 3218 ไม่ใช่ปีหน้า แถมการเรียงตัวที่เกิดขึ้นมาตลอดเหล่านี้ยังไม่เคยส่งผลกระทบทั้งในด้านแรงโน้มถ่วง หรือแรงน้ำขึ้นน้ำลงของโลกอีกด้วย"

ส่วนประเด็นความเชื่อตามเรื่องเล่าของ 'ดาวเคราะห์นิบิรุ' ที่เคยตกเป็นข่าวฮือฮาว่า มีความเป็นไปได้สูงจะพุ่งชนโลกเข้าสักวัน ศ.เบอร์เนล ชี้ว่า

"ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกสังเกตโดยชาวสุเมเรียน เมื่อ 2,500 ก่อนคริสตกาล และอ้างว่าดาวดวงนี้แหละที่จะมีคาบการโคจรเป็นวงรีในระยะเวลา 3,600 ปี พร้อมจะพุ่งชนโลกในวันที่ 21 ธ.ค. 2555 ตามเวลาที่ค้นพบนั้น ถ้าวิเคราะห์ตามหลักดาราศาสตร์แล้ว นิบิรุอยู่ห่างออกไปกว่า 400 หน่วยดาราศาสตร์เอยู หรือหน่วยวัดระยะห่างเฉลี่ยของโลกและดวงอาทิตย์ หรือประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 10 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดาวพลูโต ซึ่งเราไม่สามารถเห็นมันได้ด้วยตาเปล่าตามที่ชาวสุเมเรียนระบุไว้ จึงสรุปได้ว่าดาวเคราะห์นิบิรุไม่มีอยู่จริงนั่นเอง"

"ตามมาติดๆ ด้วยความกลัวของซีรีส์การถูกชนจากวัตถุนอกโลก อย่างดาวเคราะห์น้อยที่เคยสร้างความเสียหายให้แก่โลก จากการพุ่งชนของดวงดาวขนาดย่อมประมาณ 100 กิโลเมตร เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว จนเป็นหลุมอุกกาบาตชิก ซูลูปที่ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าการชนในครั้งนั้นอาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ยุคไดโนเสาร์ แต่จริงๆ แล้วการชนแบบนี้ จะเกิดขึ้นทุกๆ 50-100 ล้านปี และมีผลกระทบทำให้เกิดฝุ่นละอองครอบคลุมชั้นบรรยากาศ พืชจึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ชีวิตความเป็นอยู่บนโลกจึงค่อยๆ ล้มตาย แต่เรามีโครงการเฝ้าระวังอวกาศที่คอยสังเกตท้องฟ้าอยู่แล้ว หากมีวัตถุขนาดใหญ่เคลื่อนที่มายังโลกจริง เราต้องรับรู้ถึงความคืบหน้าเป็นเวลาหลายปีก่อนที่มันจะพุ่งชนโลก และสามารถหาแนวทางกำจัดดวงดาวเหล่านั้นได้ทันท่วงที ซึ่งตอนนี้เราเหลือเวลาอีกแค่ปีครึ่งก็จะถึง ธ.ค. 2012 ยังไม่เห็นมีใครระบุว่าพบวัตถุต้องสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น" ศ.เบอร์เนล ย้ำ

ศ.เบอร์เนล กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของ 'หลุมดำใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก' ที่คาดว่าโลก ดวงอาทิตย์ และหลุมดำ จะเรียงเป็นเส้นตรง ส่งผลให้โลกกับดวงอาทิตย์ตกลงสู่หลุมดำนั้น

ปรากฏการณ์โคจรในระนาบเดียวกันนี้ เกิดขึ้นวันที่ 21 ธ.ค. ของทุกปี แต่หลุมดำซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 260,000 ปีแสง ทำให้สมมติฐานดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือเข้าไปใหญ่ เพราะการเคลื่อนที่เข้าสู่หลุมดำนี้โลกจะต้องใช้เวลานานกว่า 260,000 ปี

แล้ววันหนึ่ง 'จักรวาล' ของเราจะดับสิ้นจริงหรือไม่นั้น ศ.เบอร์เนลให้แง่คิดว่า

"แน่นอนว่าเอกภพและดวงอาทิตย์ย่อมต้องมีวันหมดอายุขัย แต่ไม่ใช่ดับวูบแล้วแตกออกเป็นเสี่ยงๆ วิวัฒนาการทางธรรมชาติมีความพอดีแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกราวๆ 1 พันล้านปีข้างหน้าที่ดวงอาทิตย์จะเริ่มร้อนขึ้นจนเผาผลาญน้ำบนโลกและดาวดวงอื่นๆ ถ้าตอนนั้นเรายังอยู่กันได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหามาเสียเวลากังวลกับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น เทคโนโลยีในอีก 1 พันล้านปีคงจะมีคำตอบหาทางออกที่ดีที่สุดได้ แต่ถ้าวันนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ดิฉันว่าทางรอดทางเดียวคือหาดาวดวงใหม่เป็นที่อยู่อาศัยแทนโลก"

ถามว่า ถ้าอย่างนั้นการที่เราพยายามรักษาสภาพแวดล้อมบนโลกใบนี้เอาไว้ จะกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ในอนาคตรึเปล่า?

"ต้องบอกก่อนว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในวันนี้มันเกี่ยวข้องกับจักรวาลน้อยมาก ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว หรือสึนามิก็เป็นผลกระทบจากภายในที่เราเอาแต่ใช้ประโยชน์จากโลกโดยไม่คิดถึงปัญหาที่ตามมา สิ่งที่เราพยายามรณรงค์ทั้งประหยัดพลังงาน หาวัสดุทดแทน ปลูกป่ารักษาต้นน้ำ ล้วนเป็นการแก้ไขปลายเหตุ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ฉุกคิดทำอะไรเพื่อโลก เราทำวันนี้ก็เพื่อให้ลูกหลานอยู่ต่อบนโลกได้อย่างปกติที่สุด แต่แน่นอนว่าเรายังทำไม่เพียงพอ" ศ.เบอร์เนล กล่าว

2 ส.ค. 54 เวลา 15:25 1,762
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...