ขึ้นค่าแรง โรงงานใหม่วูบ-ภาษีรถคันแรกส่อแววแท้ง

 

 

 

 

 

 ขึ้นค่าแรง โรงงานใหม่วูบ-ภาษีรถคันแรกส่อแววแท้ง

 

 

"กกร." นัดประชุมย้ำจุดยืนอีกรอบ ไม่เอา 300 บาททั่วประเทศทันที เจ้าสัวสหพัฒน์เสนอขึ้นปีละ 8% ตลอดอายุรัฐบาล ช็อก! นโยบายค่าจ้าง โรงงานจดทะเบียนใหม่เดือน ก.ค.ต่ำสุดในประวัติการณ์ วูบกว่า 1,400% ส่วนคืนภาษีรถคันแรกก็ส่อแววแท้งแล้ว

ในวันที่ 1 สิงหาคม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาผลกระทบของนโยบายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกครั้งหนึ่ง

โดยนายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. เผยว่า ที่ประชุมจะยังยืนยันมติไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง และจะรายงานมติดังกล่าวให้ที่ประชุมทุกฝ่ายรับทราบ เพราะการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 20 ก.ค. อาจมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบถ้วน นอกจากนี้จะนำผลสรุปของการสัมมนา " Thailand Investment : Looking Forward-Challenges for New Government" ครั้งที่ 4 ให้ที่ประชุมรับทราบ โดยเฉพาะข้อเสนอของสภาหอการค้าต่างประเทศ ที่ต้องการให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบกิจการต่างด้าวให้ต่างชาติมีสัดส่วน การถือครองหุ้นเพิ่มขึ้น ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขยายประเภทกิจการส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น ตลอดจนการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นต่าง ๆ

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ คณะกรรมการเศรษฐกิจของวุฒิสภาจะจัดสัมมนาใหญ่ในหัวข้อเรื่อง "ค่าแรง 300 บาทเศรษฐกิจไทยล้มครืน หรือยืนได้" โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชนและภาครัฐเข้ามาร่วม ทั้งตัวแทนจากสภาหอการค้าฯ กระทรวงแรงงาน และพรรคเพื่อไทย เพื่อเสนอแนวทางและหาข้อสรุปนโยบายว่ามีผลกระทบและผลดีเศรษฐกิจไทยอย่างไร บ้าง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการสัมมนาเรื่องการปรับค่าแรงแต่อย่างใด

นาย บุญชัยกล่าวว่า ข้อเสนอที่อยากให้ภาครัฐพิจารณาคือ ทยอยปรับค่าแรงแบบมีระยะเวลา ได้แก่ การปรับขึ้นใน 4 ปี อัตราการเพิ่มขึ้นปีละ 8% รวมแล้วจะปรับขึ้นค่าแรงรวม 32% ถือว่าอยู่ในระดับที่ภาคเอกชนยอมรับได้ แต่หากทันทีวันละ 300 บาท จากค่าแรงปกติในต่างจังหวัดเฉลี่ยวันละ 165 บาท ถือว่าปรับขึ้นทันที 100% ซึ่งสูงมาก ภาคเอกชนคงรับมือไม่ไหว ส่วนค่าแรงเฉลี่ยใน กทม. เองก็เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 200 บาท หากปรับเป็นวันละ 300 บาทก็ถือว่าขึ้นทันที 30% อยู่ในระดับที่สูงเช่นกัน

"ผมไม่ได้คัดค้าน การปรับขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องดี ทำให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น แต่อยากให้ทำแบบมีขั้นตอน เพราะการปรับขึ้นทันทีจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ การส่งออก และเงินเฟ้อ จึงควรทำแบบมีระยะเวลา กำหนดแต่ละปีควรปรับขึ้นเท่าไหร่ เพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้" นายบุญชัยกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเผยว่า ในเดือน ก.ค. 2554 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 4 ราย มูลค่าลงทุน 209 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,476% หรือลดลง 14 เท่าตัว ซึ่งต่ำสุดในประวัติศาสตร์ จากปกติที่กรมอนุญาตเฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท และแม้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกเดือน เม.ย.2552 ยังมีมูลค่าอนุญาตให้ประกอบกิจการกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุมาจากนักลงทุนยังช็อกกับนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท

ขณะที่นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงมีแผนผลักดันให้ผลิคภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมโตอยู่ที่ระดับ 6-7% ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้จีดีพีประเทศโตอยู่ที่ 8% ต่อปี หลังสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีอุตสาหกรรมในปี 2554 ลงเหลือ 3.5-4.5% จากเดิมที่คาดไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ระดับ 5.5-6.5% ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงไปทำแผนปฏิบัติการเสนอในวันที่ 5 ส.ค.นี้

"ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนถึง 40% ของจีดีพีประเทศ หากขยายตัวดีจะมีส่วนทำให้จีดีพีประเทศขยายตัวดีขึ้น และจะไปตรงกับแนวคิดพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้จีดีพีโต 7-8%"นายวิฑูรย์ กล่าว

นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า การเพิ่มจีดีพีอุตสาหกรรมให้อยู่ที่ 7% จะทำให้มูลค่า (เพิ่ม) ของจีดีพีอุตสาหกรรมอยู่ที่ 4.825 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.58 แสนล้านบาท ซึ่งการจะก้าวไปถึงระดับ 7% ต้องอยู่ที่การกระตุ้นจากโครงการของรัฐบาลใหม่ด้วย ทั้งเรื่องการบริโภค สาธารณูปโภค เมกะโปรเจ็กต์ ส่วนกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ก็น่าจะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ในระดับหนึ่ง เพราะทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น

สำหรับ นโยบายการคืนภาษีรถยนต์คันแรกไม่เกิน 1 แสนบาทตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตระบุว่า ในทางปฏิบัติดำเนินการได้ยาก ซึ่งกรมได้ไปศึกษาข้อกฎหมายแล้ว พบว่าภาษีรถยนต์ที่เก็บมาแล้วไม่สามารถนำไปคืนให้ผู้ซื้อรถยนต์ เพราะภาษีสรรพสามิตไม่มีการระบุให้คืนภาษีการซื้อขาย แต่หากไปเพิ่มหรือลดภาษีให้กับผู้ประกอบการลง 1 แสนบาท ก็ยังมีปัญหาว่าผู้ประกอบการจะขายรถยนต์ในราคาที่ถูกลงเท่าภาษีที่ลดไปหรือ ไม่ โดยเฉพาะการลดราคาขายรถยนต์ให้ผู้ซื้อจะเท่ากับเป็นการคืนภาษีครั้งเดียว ทั้งหมด ไม่ได้ทยอยคืน 5 ปี ซึ่งไม่สามารถป้องกันการสวมสิทธิ์มาซื้อรถถูกและไปขายต่อในราคาแพงได้

"หากต้องการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ต้องไปศึกษาการคืนภาษีในรูปแบบภาษีเงินได้ของกรมสรรพากร แต่ก็จะมีปัญหาว่า หากผู้ซื้อรถยนต์คันแรกไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ก็จะไม่ได้คืนภาษีรถยนต์ และยังมีกรณีผู้เสียภาษีเงินได้กรมสรรพากรไม่ถึงปีละ 2 หมื่นบาท ก็เท่ากับว่าภายใน 5 ปีจะได้คืนภาษีไม่ถึง 1 แสนบาท และหากต้องการคืนครบ 1 แสนบาท ก็ต้องขยายเวลาให้ได้คืนจนครบ" แหล่งข่าวกล่าว

 

Credit: http://www.toptenthailand.com/news_detail.php?id=7698
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...