เมืองบ้าป้าย กรุงเทพฯรกรุงรัง

"กรุงเทพมหานคร" นับเป็นเมืองหลวงที่มี "ป้าย" มากที่สุดแห่งหนึ่ง จากการรวบรวมเฉพาะป้ายโฆษณาขนาดใหญ่มีถึง 20,000 ป้าย ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เป็นป้ายที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมการติดตั้งป้ายอย่างชัดเจน และครอบคลุม

นี่ยังไม่นับรวมถึงบรรดาป้ายขนาดเล็กๆ ที่ติดตั้งกันตามความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาเงินกู้ ป้ายรับกำจัดปลวกตามเสาไฟฟ้า ป้ายเชิญชวนของร้านอาหาร และกิจการต่างๆ หรือแม้แต่ป้ายงานบวช ป้ายชี้ทางไปงานวัด งานปิดทองฝังลูกนิมิต

ในงานเปิดตัวหนังสือ "เมืองบ้าป้าย ไฮเวย์สกปรก บ้านเมืองรกรุงรัง"

หลังจากเปิดตัวงานหนังสือพ็อกเกต บุ๊กภายใต้ชื่อ "เมืองบ้าป้าย ไฮเวย์สกปรก บ้านเมืองรกรุงรัง" ของ อาจารย์นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกชื่อดัง และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ปีพ.ศ. 2545 ได้นำปัญหานี้มาร่วมพูดคุยกับกลุ่มสถาปนิก และบุคคลจากวิชาชีพอื่นๆ

เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองปัญหาที่เกิดจากป้าย ตลอดจนเสนอแนวทางแก้ไข โดยมุ่งหวังกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนหันมาใส่ใจความเป็นระบบระเบียบของบ้านเมือง ให้น่าอยู่และสวยงามยิ่งขึ้น

อาจารย์นิธิเริ่มต้นให้ฟังว่า เมื่อช่วงการหาเสียงเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมา การติดตั้งป้ายหาเสียงในครั้งนี้ดีกว่าครั้งก่อนๆ เพราะเกือบทุกพรรคจะใช้ป้ายหาเสียงขนาดที่เท่ากัน แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องระยะความถี่ในการติดตั้งป้ายที่มีมากจนเกินไป จนกลายเป็นมลพิษทางสายตา หรือ "ทัศนอุจาด" ที่ไร้การจัดระบบป้ายที่ดี เกิดความไม่เป็นระเบียบของเมืองและถนนหนทาง

"พื้นฐานสังคมไทยถูกสอนให้มักง่าย และเคยชินกับการดำรงชีวิต ทำให้วันนี้ธุรกิจป้ายโฆษณาเฟื่องฟูมาก มีเงินสะพัดหมื่นๆ ล้านบาทต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นป้ายเต็มบ้านเต็มเมือง จนบดบังความเป็นตัวตนของเมืองเราจนหมด และปกปิดศิลปวัฒนธรรมโดยสิ้นเชิง จนสากลโลกก็ยกย่องให้ไทยเป็น "เมืองบ้าป้าย" ที่สุดในโลก"

ขณะที่ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. สมัย นายพิจิตต รัตตกุล ในฐานะหนึ่งในผู้ผลักดันกฎหมายควบคุมป้ายโฆษณาในกรุงเทพฯ ร่วมสะท้อนว่า เพราะการเมืองไทยยังมีช่องว่างของระบบเกื้อหนุนอยู่ แม้ในเขตกทม. จะมีการควบคุมป้ายผิดกฎหมาย รวมทั้งออกบทลงโทษจากการเรียกปรับป้ายละ 5,000-6,000 บาทต่อวันแล้วก็ตาม แต่จำนวนป้ายก็ไม่ลดลง

อาจารย์ไกรศักดิ์ชี้ว่า ปัญหาคือเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานไม่โปร่งใส บางคนอ้างว่าบริษัทเจ้าของป้ายยอมเสียค่าปรับแทนที่จะเอาป้ายลง ทำให้ อะลุ้มอล่วย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือ การติดตั้งป้ายโฆษณาถาวร ที่สร้างผลกระทบในระยะยาว มากกว่าเรื่องการติดตั้งป้ายหาเสียงเพียงระยะสั้น เพราะเมื่อหมดฤดูกาลเลือกตั้งป้ายก็ย่อมถูกรื้อถอน

"ป้ายโฆษณายักษ์ใหญ่ตามท้องถนน และบนทางหลวง เหล่านี้ต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่ ยังถูกเมินค่าไร้ความใส่ใจจนทุกปีเมื่อเกิดพายุฤดูฝน เราจะเห็นป้ายหล่นมาทับคนตามที่สาธารณะ และทางด่วนเป็นประจำ ทำให้อันตรายที่เกิดจากป้ายหล่นทับ สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน เราไม่สามารถควบคุมได้เลยในทุกๆ ครั้ง"

โดยเฉพาะเรื่องป้ายขนาดยักษ์ตามทางด่วนหรือถนนหลวงนั้น อาจารย์มาดดี ตั้งพานิช จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำทับว่า เรามักถูกนายทุนละเมิดสิทธิ์การรับรู้ข่าวสารโดยไม่จำเป็น เช่น ป้ายที่พยายามกรอกความคิดว่า "บ้านสวย คอนโดหรู ชีวิตมีระดับ" ต่างก็มีอิทธิพลต่อการสร้างค่านิยมที่ผิดๆ จนทำให้เกิดการทำลายศิลปวัฒนธรรมประเทศชาติเราเองในที่สุด อีกทั้งจากการสำรวจพบว่ายังมีผลต่อสภาวะกดดัน ความเครียด อย่างไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของสังคม

ส่วน ประภากร วิทยานุกูล สถาปนิกอีกราย ก็มองว่า ไม่อยากให้เรื่องป้ายต้องกลับกลายเป็นความชินตาของคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่คงมองเป็นสีสันของเมืองๆ หนึ่ง แต่หนทางแก้ไขที่ผ่านๆ มา ไม่เคยประสบความสำเร็จ ทั้งที่เป็นปัญหาสำคัญต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

"เมื่อเปรียบเทียบกับในต่างประ เทศ ที่มีการควบ คุมเรื่องป้ายอย่างเป็นระบบ เช่น กำหนดพื้นที่ติดตั้งป้าย ถ้าหากเป็นเมืองประวัติศาสตร์ด้วยแล้ว จะไม่พบป้ายโฆษณาบดบังทัศนียภาพของเมืองเลย" ประภากร ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม ด้าน ภาณุ อิงคะวัต ก็ร่วมมองปัญหานี้ในฐานะนักโฆษณาว่า หากรัฐจะใช้วิธีเพิ่มค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น และเข้มงวดต่อความปลอดภัยของป้ายมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่รัฐสามารถกระทำได้ เพราะอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการต่างๆ ก็คงยอมลงทุน เนื่องจากเป็นหนึ่งในขั้นตอนการโฆษณาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ดีทางเลือกหนึ่ง

แต่หากจะไม่ให้มีป้ายโฆษณาเหล่านี้เลย ก็คงจะเป็นไปไม่ได้สำหรับเมืองไทย และในทุกๆ ประเทศ แม้จะมีช่องทางเทคโนโลยีสังคมออนไลน์ใหม่ๆ มาเป็นอีกตัวช่วยก็ตามที

ท้ายที่สุดของการพูดคุย ทั้งหมดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีมาตรการ หรือกฎหมายควบคุมการติดตั้งป้ายอย่างเป็นรูปธรรม

เพราะหากไม่ควบคุม นับวันจะมีแต่มากขึ้น บางป้ายขนาดยักษ์ก็เสี่ยงอันตราย มองไปทางไหนก็ล้วนเต็มไปด้วยทัศนอุจาด
 

31 ก.ค. 54 เวลา 22:15 1,744
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...