รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือชื่อเป็นทางการ "รถไฟฟ้ามหานคร" เปิดใช้เส้นทางแรก "สายเฉลิมรัชมงคล" (นามพระราชทาน แปลว่า งานเฉลิมฉลองความเป็นมงคลแห่งพระราชา) สัญลักษณ์หลักคือตัวอักษร M มาจากคำย่อ M.R.T. ซึ่งคำเต็มคือ Mass Rapid Transit ดำเนินงานโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ก่อนมาเป็นรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล รถไฟฟ้ามหานครสายหัวลำโพง-ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์-บางซื่อ (สายสีน้ำเงิน) ถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางบนดิน แต่เปลี่ยนแปลงให้ลงไปใต้ดินตามมติคณะรัฐมนตรี 12 กันยายน 2538 ทำให้กลายเป็นเส้นทางขนส่งมวลชนแบบใต้ดินสายแรกของประเทศไทย การก่อสร้างเป็นไปอย่างยาวนานจนที่สุดได้ฤกษ์เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2547
ถึงทุกวันนี้มีสถานี 18 แห่ง จัดแบ่งไว้เป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนใต้ 9 สถานี สัญลักษณ์และสีประจำสถานี คือ 1.1 สถานีหัวลำโพง (Hua Lam phong) สัญลักษณ์คือรูปทรงของอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง/สีแดง บอกถึงความเป็นย่านธุรกิจ/ตลาด 1.2 สถานีสามย่าน (Sam Yan) สัญลักษณ์เป็นรูปทรงหลังคาอาคารหอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/สีชมพู 1.3 สถานีสีลม (Si Lom) จุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าลอยฟ้า สัญลักษณ์เป็นรูปพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่อยู่ทางด้านหน้าของสวนลุมพินี/สีน้ำเงิน
1.4 สถานีลุมพินี (Lumphini) เป็นสถานีที่เชื่อมต่อออกไปยังสวนลุมพินี สัญลักษณ์รูปดอกบัว/สีเขียว หมายถึงสวนสาธารณะ 1.5 สถานีคลองเตย (Khlong Toei) สัญลักษณ์หลังคาเรือนไทย แทนค่า "ตำหนักปลายเนิน" บนถนนพระราม 4/สีส้ม บ่งบอกถึงสถานีที่อยู่ในพื้นที่ย่านการค้าหนาแน่น 1.6 สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Centre) สัญลักษณ์อาคารของศูนย์การประชุมฯ/สีเหลือง หมายถึงสถานีที่อยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับราชวงศ์
1.7 สถานีสุขุมวิท (Sukhumvit) เป็นอีกหนึ่งสถานีที่มีจุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าลอยฟ้า จึงใช้สีน้ำเงิน สัญลักษณ์เป็นกาแล สื่อความหมายถึง "เรือนคำเที่ยง" พิพิธภัณฑ์ในสยามสมาคม ถนนสุขุมวิท (อโศก) ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบกาแลที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ 1.8 สถานีเพชรบุรี (Phetcha buri) สัญลักษณ์เป็นรูปคลื่นน้ำ หมายถึงคลองแสนแสบ/สีฟ้า หมายถึงน้ำ 1.9 สถานีพระราม 9 (Phra Ram 9) ใช้สัญลักษณ์เลข 9 ไทย/สีแดง มีความหมายเดียวกับสถานีหัวลำโพง
2.ส่วนเหนือ มี 9 สถานี ไม่มีสัญลักษณ์ประจำสถานี ใช้เพียงสีเป็นตัวบ่งบอก ทั้งนี้ เพราะสถานี 2 ส่วนผู้ได้รับสัมปทานจัดสร้างเป็นผู้รับเหมาคนละบริษัท และบริเวณ 9 สถานีที่เหลือไม่มีเอกลักษณ์หรือสถานที่สำคัญใดๆ พอจะนำมาเป็นสัญลักษณ์ได้ สำหรับสีสัญลักษณ์แต่ละสถานี มีดังนี้ 2.1 สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Cultural Centre) สีน้ำเงิน เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) 2.2 สถานีห้วย ขวาง (Huai Khwang) สีส้ม หมายถึงพื้นที่ที่อยู่ในย่านการค้าหนาแน่น 2.3 สถานีสุทธิสาร (Sutthisan) สีแดง ความหมายเดียวกับสถานีหัวลำโพงและสถานีพระราม 9
2.4 สถานีรัชดาภิเษก (Ratchadaphisek) สีชมพู 2.5 สถานีลาดพร้าว (Lat Phrao) สีฟ้า 2.6 สถานีพหลโยธิน (Phahon Yothin) สีเหลือง ความหมายเดียวกับสถานีศูนย์การประชุมฯ เนื่องจากสถานีอยู่ใน "สวนสมเด็จย่า 84" 2.7 สถานีสวนจตุจักร (Chatuchak Park) สีน้ำเงิน หมายถึงจุดเชื่อมต่อ โดยต่อกับระบบรถไฟฟ้าลอยฟ้า 2.8 สถานีกำแพงเพชร (Kamphaeng Phet) สีแดง 2.9 สถานีบางซื่อ (Bang Sue) สีน้ำเงิน เป็นจุดเชื่อมต่อกับโครงการสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ
สีที่บอกสัญลักษณ์ของแต่ละสถานีจะปรากฏอยู่ตามเสา ผนัง และขอบด้านบนของแนวประตูกั้นชานชาลา ส่วนสถานี 9 สถานีด้านใต้ที่มีสัญลักษณ์ ใช้วิธีประดับกระเบื้องเป็นสีตามสถานีนั้นๆ โดยสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใช้สีทองแทนสีเหลือง