เสาตอม่อร้างกลางกรุง

โคนเสาตอม่อเลียบสถานีรถไฟสามเสนไปจนถึงสถานีรถไฟดอน เมืองเป็นโครงการรถไฟฟ้าใน "โครงการโฮปเวลล์" หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกทม. เป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการโดย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ในเครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ บริษัทสัญชาติฮ่องกง ของ นายกอร์ดอน วู

โครงการก่อสร้างประกอบด้วย โครงสร้างยกระดับทางรถไฟขึ้นไปเหนือผิวการจราจร เพื่อลดจุดตัดกับทางรถยนต์เพื่อลดปัญหาการให้รถยนต์ต้องหยุดรอรถไฟ ก่อสร้างคร่อมทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระยะทางทั้งสิ้น 60.1 ก.ม. ใช้เงินลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยเปิดประมูลสัมปทานโครงการในสมัยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายก รัฐมนตรี อายุของสัมปทาน 30 ปี กำหนดระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.2534 - 5 ธ.ค.2542

การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ เศรษฐกิจซบเซา อีกทั้งมีปัญหาเรื่องจุดตัดกับโครงการถนนยกระดับวิภาวดีรังสิต (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และการก่อสร้างล่าช้า ก่อสร้างมานาน 7 ปี คืบหน้าเพียงร้อยละ 13.77 ขณะที่แผนงานกำหนดว่าควรจะคืบหน้าร้อยละ 89.75

ต่อมา ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2540 ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังจากบริษัทโฮปเวลล์หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เดือน ส.ค.2540 ต่อมาในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 หลังดำเนินการ กระทรวงคมนาคมได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2541

หลังจากบอกเลิกสัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทยถือว่าโครง สร้างทุกอย่างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ และพยายามนำโครงสร้างที่สร้างเสร็จแล้วบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต

ส่วนตอม่อกลางเกาะถนนเกษตร-นวมินทร์ มีประมาณ 280 กว่าต้นนั้น พ.ท.ทวีสิน รักกตัญญู ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่าเสาตอม่อดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อฐานรากสำหรับโครงการก่อสร้างระบบทางด่วนขั้นที่ 3 โดยเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ตอน N2 มีเส้นทางซ้อนทับบนเกาะกลางถนนตัดใหม่เกษตร-นวมินทร์ของกรมทางหลวง เริ่มต้นจากสี่แยกเกษตรศาสตร์ถึงถนนนวมินทร์ ระยะทาง 9.2 ก.ม. ขณะนี้กทพ.อยู่ระหว่างกำหนดร่างขอบเขตงานหรือทีโออาร์เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาวงเงิน 84 ล้านบาท ศึกษาทบทวนแบบก่อสร้าง หลังจากศึกษามานานหลายปีแล้วแต่ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง เพราะได้รับเสียงคัดค้านจากประชาชนที่กลัวเรื่องการเวนคืนที่ดินในจุดขึ้นลงทางด่วน ทำให้โครงการหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2543

สาเหตุที่ต้องสร้างเสาตอม่อถนนเกษตร-นวมินทร์ไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานาน เนื่องจากในช่วงนั้นกรมทางหลวงเตรียมตัดถนนเส้นใหม่ตั้งแต่สี่แยกเกษตรศาสตร์ ถนนพหลโยธิน ไปถึงถนนนวมินทร์ ขณะเดียวกันกทพ.มีโครงการก่อสร้างระบบทางด่วนขั้นที่ 3 เชื่อมต่อถนนดังกล่าว จึงทำเสาตอม่อทางด่วนลงเกาะกลางถนนรอไว้ก่อนที่กรมทางหลวงจะสร้างถนนตัดใหม่ เพื่อประหยัดงบประมาณ หากสร้างถนนก่อนแล้วค่อยทำทางด่วนจะทำให้ถนนเสียหายและสูญเสียค่าใช้จ่าย
 

30 ก.ค. 54 เวลา 22:48 1,729
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...