เขื่อนขุนด่านปราการชล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก เดิมมีชื่อว่า "เขื่อนคลองท่าด่าน" เป็นเขื่อนคอนกรีตอัดบดยาวที่สุดในโลก
ตัวเขื่อนมีความยาวรวม 2,593 เมตร ความสูง 93 เมตร รับน้ำที่ไหลจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผ่านน้ำตกเหวนรกลงสู่อ่างเก็บน้ำมีความจุ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2536 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พระราชดำริให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน พิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน โดยดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2542 จะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี และเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อน คลองท่าด่าน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2549
ตั้งแต่สร้างเขื่อนนี้ นครนายกไม่เกิดน้ำท่วมอีกเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้นครนายกเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง เนื่องจากมีลุ่มน้ำนครนายกซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ รับน้ำที่มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จากบริเวณต้นน้ำจนถึงอ่างเก็บน้ำคลองท่าด่าน มีลักษณะเป็นหุบเขาแคบๆ และพื้นที่สูงชัน พื้นที่ส่วนขยายของโครงการชลประทานท่าด่านเป็นที่ราบ มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น บริเวณนี้เป็นพื้นที่ลาดเทค่อนข้างมาก ทำให้น้ำไหลบ่ารุนแรงในช่วงฤดูฝนและขังอยู่เป็นเวลานาน แต่ในฤดูแล้งมีปัญหาน้ำขาดแคลน เพราะลำน้ำนครนายกไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้เพื่อชลประทานได้ อีกทั้งดินที่ถูกน้ำแช่ขังอยู่นานเปลี่ยนเป็นกรด เรียกว่า ดินเปรี้ยว ก่อผลเสียแก่การเกษตร
ชื่อ "เขื่อนขุนด่านปราการชล" ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเชิดชูเกียรติ เจ้าพ่อขุนด่าน ตามตำนานเล่าขานกันว่า ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพจากพม่าแล้ว พระยาละแวกตีตลบหลังไทยกวาดต้อนขนทรัพย์สินมีค่าไปเมืองเขมร ขุนหาญพิทักษ์ไพรวันหรือขุนด่าน ทราบข่าวกองทัพเขมรจะตีนครนายก ได้รวบรวมคนไทยซุ่มโจมตีทัพพระยาละแวกอย่างห้าวหาญจนทัพเขมรแตกพ่ายไป
ต่อมาเมื่อขุนด่านถึงแก่อนิจกรรม ชาวบ้านร่วมใจสร้างศาลาประดิษฐานอัฐิไว้ที่บริเวณเขาชะโงก ต.พรหมณี อ.เมือง จ.นครนายก ปัจจุบันเป็นโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ
นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นรถรางชมทัศนียภาพบนสันเขื่อนได้ และจะเห็นภาพสองฟากฝั่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้านหน้าเขื่อนสวยงามด้วยระลอกคลื่นน้อยๆ และเกาะต่างๆ โอบล้อมด้วยทิวเขา นักท่องเที่ยวนั่งเรือหางยาวชมความงามของเขื่อนได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงน้ำมาก เดือนพ.ย.-ธ.ค เรือหางยาวจะพาเข้าไปชมความงามได้จนถึงน้ำตกเหวนรกเลยทีเดียว
ส่วนด้านหลังเขื่อนเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยและทำการเกษตร มองเห็นลำน้ำที่นิยมล่องแก่ง
บริเวณเขื่อนจะจัดงานเทศกาลบอลลูนนานาชาติประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยปี 2553 จัดเป็นครั้งที่ 4 และในอนาคตมีโครงการ จะสร้างแก่งเทียมเพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา และเป็นสนามสลาลมนานาชาติซึ่งจะเป็นแห่งเดียวในภูมิภาคนี้