มารู้จักแม่น้ำโขงกันหน่อยครับ

ข้อมูลจากบทความเรื่อง รู้จักแม่น้ำโขง โดยเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-เชียงราย สรุปความว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายใหญ่ มีระยะทางยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก คือประมาณ 4,900 กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่บนภูเขาจี้ฟูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงทิเบต เขตจังหวัดหยู่ซู่ มณฑลฉิงไห่ ประเทศจีน โดยมีแม่น้ำจาคูและอาคูไหลมารวมกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทลื้อ ชนชาติที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงอย่างหนาแน่นในดินแดนสิบสองปันนา ว่า "แม่น้ำล้านช้าง" ขณะที่จีนทั่วไปเรียก "หลานซาง" มีความหมายว่าเป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก แม่ น้ำโขงไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้

แม่น้ำโขงมีแม่น้ำสาขาสายสำคัญดังนี้ ในเขตประเทศไทยมี แม่น้ำพอง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำสงคราม ในภาคอีสาน แม่น้ำอิง แม่น้ำกก ในภาคเหนือ ในลาวมีแม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน แม่น้ำเซกอง ส่วนกัมพูชาคือทะเลสาบโตนเลสาบ ซึ่งต่อเนื่องกับลำธารของเทือกเขาสอยดาวฝั่งตะวันออกของ จ.จันทบุรี และแม่น้ำเซซาน ในเวียดนาม โดยที่แม่น้ำโขงยุคก่อนมีความแตกต่างของระดับน้ำในฤดูแล้งกับฤดูน้ำหลากสูงถึง 20 เมตร เป็นฤดูกาลของน้ำตามธรรมชาติที่นำไปสู่วิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำสายนี้ แต่ปัจจุบันฤดูกาลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในมณฑลยูนนานของจีน และสภาวะแล้งของต้นน้ำลำธาร

อย่างไรก็ตาม ด้วยความยาวซึ่งไหลผ่านภูมิประเทศที่แตกต่าง ทำให้แม่น้ำโขงมีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำอะเมซอนในอเมริกาใต้ และแม่น้ำแซร์ในทวีปแอฟริกา โดยสำรวจพบ 1,245 ชนิด (ข้อมูลตัวเลขบันทึกในปี 2547-น้าชาติ)

แม่น้ำโขงมีพื้นที่ชุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลลงทะเลจีนใต้ในแต่ละปีเฉลี่ยสูงถึง 475,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ แม่น้ำโขงตอนบนได้รับน้ำจากการละลายของภูเขาหิมะเป็นส่วนใหญ่ เช่น จากเทือกเขาหิมะเหม่ยลี่ ในแซงกรีลา ขณะที่ตอนล่างได้รับน้ำจากเทือกเขาต่างๆ ที่ไหลสู่แม่น้ำสาขา รวมทั้งจากฝนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปีที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามซึ่งปลาย ของแม่น้ำแยกออกเป็น 9 สายก่อนไหลลงทะเลจีนใต้ คนเวียดนามเรียกว่า "9 มังกร" สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำนี้เป็นที่สะสมตะกอนดินซึ่งมีคุณค่าเป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดี จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีแห่งหนึ่งของโลก

และด้วยระยะทางยาวไกลไหลผ่านภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไปดังกล่าว นอกจากความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์พืช พันธุ์ปลา ตลอดสายแม่น้ำโขงยังมีความหลากหลายของวิถีชีวิตของผู้คนกว่า 100 ชนเผ่า ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เช่น เมืองหลวงพระบาง นครวัด-นครธม แหล่งอารยธรรมบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีเชียงแสนหลวง

สำหรับแม่น้ำโขงส่วนที่ผ่านประเทศไทย เป็นช่วงของแม่น้ำโขงตอนล่าง ไหลผ่าน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ. เชียงราย ระยะทาง 84 กิโลเมตร ก่อนเข้าสู่ประ เทศลาว แล้วไหลเป็นพรมแดนไทย-ลาว เริ่มจาก จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี รวมความยาวที่ไหลผ่านประเทศไทย 976 กิโลเมตร โดยสภาพแม่น้ำโขงในภาคเหนือเป็นแก่งหินและหน้าผา แม่น้ำไม่กว้างนัก ไหลผ่านขุนเขาสองข้างไปจนสุดแดนไทย-ลาวที่ อ.เวียงแก่น เป็นลักษณะเช่นนี้ไปจนถึงหลวงพระบางในลาว ส่วนในภาคอีสาน สายน้ำแผ่กว้างออก ประกอบด้วยชายฝั่งและหาดทราย และจะพบเกาะแก่งเป็นจำนวนมากอีกครั้งที่สี่พันดอนในลาว
 

28 ก.ค. 54 เวลา 14:15 2,380 4 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...