พสกนิกรไทยโศกสลด
สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ สิ้นพระชนม์
เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 27 กรกฎาคม สำนักพระราชวังได้ออกประกาศ "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์" ความว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต ณ ตึก 84 ปี ชั้น 5 ด้านตะวันออก โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2554
แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.37 น. วันที่ 27 กรกฎาคม รวมพระชันษา 85 ปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพ ถวายเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวายเป็นเวลา 100 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป
อนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคมเป็นต้นไป
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2468 เวลา 12.52 น. เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง
ในขณะที่ใกล้มีพระประสูติการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) ในยามนั้นพระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด เมื่อมีพระประสูติการ "พระราชธิดา" แล้ว ชาวประโคม ประโคมสังข์ แตร ปี่พาทย์ ตามราชประเพณี ต่อมาในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประสูติ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ" เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า "ก็ดีเหมือนกัน"
รุ่งขึ้นวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน เวลากลางวัน เจ้าพระยารามราฆพ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมชนกนาถผู้ทรงพระประชวรหนักบนพระแท่น เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้ เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ ก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอมาเฝ้าฯ เป็นคำรบที่สอง และเป็นคำรบสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ณ คืนนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง
สำหรับพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 นั้น ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468 สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยมีคำนำพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ" ซึ่งคำว่า ภาติกา หมายถึง หลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย กระทั่งในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีประกาศเปลี่ยนคำนำพระนาม สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้เป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี" จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงปฎิบัติพระกรณียกิจแบ่งเบาพระราชภาระในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลเดชมากมาย โดยเฉพาะในด้านสังคมสงเคราะห์ เสด็จออกเยี่ยมราษฎรทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ อีกทั้งทรงรับสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการศึกษา ไว้ในพระอุปถัมภ์ไว้กว่า 30แห่ง
ในส่วนพระจริยวัตรส่วนพระองค์นั้น กล่าวได้ว่าทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่มีพระจริยวัตรงดงามยิ่ง ทรงศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา ได้เคยเสด็จไปทรงศึกษาธรรมะกับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นอกจากนี้ ยังมีพระอุปนิสัยทรงเคร่งครัดในการตรงต่อเวลา ทรงปฏิบัติพระกิจวัตรประจำวันเป็นเวลาและไม่ทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ทรงประหยัดอดออมและโปรดความเรียบง่าย ทั้งยังทรงนิยมและภาคภูมิพระทัยในความเป็นไทย โปรดเครื่องใช้รวมถึงฉลองพระองค์ที่ผลิตในประเทศ ส่วนการใช้ภาษาไทยนั้น ก็เป็นที่ทราบกันในหมู่ข้าราชบริพารว่าไม่โปรดให้ผู้ใดกราบทูลภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ และโดยส่วนพระองค์เองก็มีรับสั่งภาษาไทยถูกต้องชัดเจนเสมอ จะมีรับสั่งภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสกับชาวต่างประเทศเท่านั้น
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ดังนี้ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ฝ่ายใน)เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่6 ชั้นที่1 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่7 ชั้นที่1 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่1และเหรียญกาชาดสรรเสริญ