พระอุชวัล ศากยะ แห่งศากยวงศ์
ผ่านมาเกินกว่าครึ่งพุทธกาล ศากยะ อาณาจักรโบราณและเป็นสายตระกูลประสูติขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงสืบทอดเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน
อุชวัล ศากยะ เป็นหนึ่งในเชื้อสายชาวศากยะ และปัจจุบันได้ครองเพศบรรพชิตเพื่อศึกษาพุทธศาสนา เพื่อเผยแผ่คำสอนสืบทอดหลักธรรมและสัจธรรมของพุทธศาสนาต่อไป
อาราธนาพระคุณเจ้าเล่าประวัติของท่านให้ฟังหน่อย
พูดตามตรง อาตมาเองตอนเด็กๆ ก็ไม่รู้ว่าตระกูลศากยะสืบเชื้อสายมาจากพระพุทธองค์เพราะว่า ตอนเด็กเรื่องของศาสนายังไม่ได้สนใจอะไร ครอบครัวอาตมาอาศัยอยู่ที่เมืองปาตัน
เดิมทางบ้านติดต่อกับพระสงฆ์ทางพุทธอยู่แล้ว ทางบ้านนับถือศาสนาฮินดูผสมผสานกับพุทธศาสนา จนแยกไม่ออก พุทธก็นับถือนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน และมีสวดมนต์เหมือนไทย และนับถือของฮินดูด้วย ผสมผสานกันไป ตอนนั้นก็ไม่รู้เรื่องราวทางพุทธศาสนาคืออะไร เป็นเหมือนเด็กทั่วไป จนอายุ 13 ปีได้บวชเป็นสามเณรที่วัดมุนิวิหาร (เมืองภักตปูร์ ประเทศเนปาล)
ท่านบวชตามประเพณี หรือบวชเพื่อศึกษาพุทธศาสนา
ยายเป็นคนมาถามว่าจะบวชไหม ยายเป็นคนเข้าวัดเข้าวาบ่อย ท่านรู้จักกับท่านอาจารย์วิปัสสี (พระวิปัสสี ธมฺมาราโม ภิกษุสงฆ์เนปาลรุ่นแรกที่มาบวชในไทย และปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักเลขานุการแห่งสมเด็จพระสังฆราช)
สืบเนื่องมาจากหลวงพ่อวัดทางนครศรีธรรมราช ต้องการให้สามเณรเนปาลมาศึกษาที่นครศรีธรรมราช ท่านได้ติดต่อท่านอาจารย์วิปัสสีที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นชาวเนปาลีเหมือนกัน ท่านอาจารย์วิปัสสีรู้จักยายที่บ้านที่เนปาล ท่านวิปัสสีติดต่อหาสามเณรมาบวชที่เมืองไทย ทางบ้านก็มาถามอาตมาว่าจะบวชหรือเปล่า ตอนนั้นอาตมาเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บวชคืออะไร ทางบ้านอยากให้บวชก็บวช ไม่ได้คิดอะไรมากมาย บวชเป็นสามเณรที่อยู่ที่เนปาลเดือนสองเดือนก็มาอยู่เมืองไทย
ตอนนั้นรู้จักประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน
รู้ว่ามีเมืองไทย แต่ไม่ได้รู้อะไรมากมาย อายุประมาณ 13 ยังพูดไทยไม่ได้ มาอยู่วัดบวรนิเวศฯ หนึ่งเดือนเพื่อปรับตัว เรื่องอาหาร เรื่องภาษา ท่านวิปัสสีเป็นคนช่วยสอนให้
ตอนเด็กไม่ได้ทราบประวัติตระกูลว่าสืบสายศากยะ ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับพระพุทธเจ้า และพระอานนท์?
ตามตรง อาตมาเองก็ไม่ทราบเรื่องของต้นตระกูล รู้จักคำว่าศากยวงศ์ตอนมาเมืองไทยแล้ว ก่อนนั้นรู้จักแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ประวัติของตัวเองเพราะว่า ตอนนั้นยังเด็กมาก ยังไม่ได้สนใจอะไร พวกพี่น้องเขาก็อาจจะยังไม่รู้เหมือนกัน แต่หลังจากมาเมืองไทยแล้วหลายคนถามถึงทำไมนามสกุลนี้ มีหลายคนมากที่ถาม เลยศึกษาที่มาของตนเอง ทำให้อยากรู้ว่าตนเองเป็นใครมาจากไหน และได้รู้ว่าอาจสืบทอดมาจากทางพระอานนท์
โดยบันทึกทางประวัติครอบครัวมีบันทึกไว้หรือเปล่า
ต้องบอกว่า ศากยะไม่ได้มีอยู่เมืองเดียว ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาแล้ว จะมีศากยะทางศากยวงศ์เอง มีทางโกลิยวงศ์ และทางมาละก็มีศากยะเหมือนกัน เหมือนกับว่า เขาก็เป็น ศากยะ เราก็เป็นศากยะ แต่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน
พุทธศาสนาที่เนปาล เหมือนหรือต่างจากเมืองไทยไหม
ถ้าพูดถึงพุทธศาสนาในเนปาล พุทธศาสนาสาวัชรยาน สายทิเบต แพร่หลายมากกว่าเถรวาท เถรวาทในเนปาลได้รับการฟื้นฟูจากประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง เพราะสายเถรวาทในเนปาลหายไปช่วงหนึ่ง แต่ต่อมาก็ได้รับฟื้นฟูจากพระสงฆ์ฝั่งไทย เพราะฉะนั้นรูปแบบของเถรวาทจึงมีลักษณะคล้ายกับเถรวาทในไทย
ท่านเล่าว่าอยู่วัดบวรนิเวศวิหารหนึ่งเดือน แล้วหลังจากนั้น…
อยู่ได้เดือนเดียว แล้วไปเป็นสามเณรวัดนครศรีธรรมราชเลย อยู่มา 6 ปี เรียนพระปริยัติธรรม เทียบเท่ากับโรงเรียนก็ระดับมัธยม 1 ถึงมัธยม 6
โรงเรียนพระปริยัติธรรมเรียนสายเปรียญบวกกับสายธรรมะ มีวิชาเหมือนเด็กนักเรียนทั่วไป มีสอนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แต่มีเรียนนักธรรม และภาษาบาลีเพิ่มเข้ามา
หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนพระปริยัติแล้วท่านเรียนต่อสายไหน
อาตมามาศึกษาต่อที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก่อตั้งโดย คุณยายน้ำทอง ท่านมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาแก่พระสงฆ์ไทยไม่ว่านิกายไหนก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม ท่านต้องการให้มาเรียน โดยสร้างสถาบันการศึกษาแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ที่มาเรียนคณะนี้สามารถเข้าเรียนได้ทุกนิกาย โดยเปิดให้สอบเข้า วัตถุประสงค์แรกคือให้พระมาเรียน แต่เปิดให้ฆราวาสเรียนด้วยได้ โดยพระสงฆ์ได้รับทุนศึกษาจากมูลนิธิน้ำทอง
ตอนนี้ท่านเรียนอยู่ปีไหนครับ
อยู่ปี 4 เป็นปีสุดท้ายแล้ว ตามเงื่อนไขของวิทยาลัยศาสนาศึกษากำหนดว่า เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยฯ อย่างน้อยต้องไปเป็นบัณฑิตอาสาหนึ่งปี ไปสอนที่ไหนก็ได้ เหมือนกับว่า ไปเผยแพร่พุทธศาสนาหนึ่งปี จะไปสอนที่โรงเรียนหรือสอนที่มหาวิทยาลัยก็ได้
ท่านจะครองผ้าเหลืองกี่ปี เคยตั้งปณิธานไว้หรือไม่ จะบวชเป็นพระตลอดชีวิตหรือไม่
เรื่องอนาคต อาตมาก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ตอนนี้อาตมาอยากศึกษาพุทธศาสนาให้มาก ถ้าเป็นไปได้อยากจะกลับบ้าน อยากไปเผยแพร่พุทธศาสนาให้เป็นไปตามหลักที่แท้จริง
ทางพุทธศาสนามีเรื่องเล่าถึงพุทธทำนายจากองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าว่า หลังจากกึ่งพุทธกาลไปแล้วพุทธศาสนาจะเสื่อมลง ท่านมีทัศนะเรื่องนี้อย่างไร
ความเสื่อมสลายเป็นเรื่องธรรมดาของวัฏจักรอยู่แล้ว พุทธศาสนาในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก สังคมเราเองก็พัฒนาทางวัตถุไปเยอะ กระแสของบริโภคนิยมทุนนิยมรุนแรง ทำให้พุทธศาสนาห่างเหินจากชุมชน ห่างเหินจากจิตใจของเราเอง เหมือนกับวัตถุเข้ามาแทนที่ศาสนา ยึดติดกับวัตถุมากจนศาสนาเริ่มจะห่าง
ทำอย่างไรถึงช่วยค้ำจุนพุทธศาสนาให้อยู่นานมากที่สุด
ความเสื่อมสลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่พุทธศาสนาก็ยังอยู่ ไม่ได้สลายไป สิ่งที่สลายคือคนที่จะนับถือ คนที่ศรัทธา คนที่จะรู้จักศาสนาจะน้อยลง ศาสนายังคงเดิม พุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบันก็เหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนคือคน มุมมองเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย
ถามว่าจะคงพุทธศาสนาให้ยืนยาวได้อีกนานเท่าไร คงต้องมองที่คนอันดับแรก คนที่ว่าหมายถึง พระสงฆ์ คณะสงฆ์ต้องมาอันดับแรก พระสงฆ์ต้องพัฒนาตัวเอง ถ้าพระไม่รู้โลกข้างนอกก็ไม่รู้จะไปสอนอะไร เหมือนกับตัวเองยังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นต้องติดตามกระแสภายนอก และต้องปรับพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมได้ ทำให้คนรู้จักแยกแยะระหว่างยึดติดกับวัตถุนิยม และพุทธศาสนา อะไรสำคัญกว่ากัน
วัตถุนิยมเป็นเรื่องภายนอก ซึ่งให้ความสุขได้ชั่วครั้งคราว พระเองต้องเน้นการศึกษาและเผยแพร่ให้คนรู้จักตัวเองมากขึ้น อยู่กับตัวเองมากขึ้น
ไม่ได้หมายความเฉพาะพระสงฆ์อย่างเดียว ฆราวาสด้วยเช่นกัน เหมือนกับพุทธศาสนากล่าวถึงบริษัทสี่ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คือเสาหลักของพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นทั้งหมดต้องอยู่ร่วมด้วยกัน พุทธศาสนาถึงอยู่ได้
ที่ท่านบอกว่าพระสงฆ์ต้องก้าวตามทันกระแสโลก หมายความว่าอย่างไร
สังคมภายนอกปรับตัวเร็ว พัฒนาเร็ว พุทธศาสนาต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสให้ได้ ไม่ใช่มาสอนแบบโบราณ คนสมัยใหม่ก็ไม่รู้เรื่อง เหมือนพูดแต่บาลี พระเทศน์ไป คนฟังก็ได้แต่ฟังเฉยๆ ไม่ได้อะไร พระที่ต้องเผยแผ่ต้องเรียนรู้ด้วยว่าคนต้องการแบบไหน
ระยะหลังมีพระหลายท่านเทศน์ในแนวสนุกสนานมีเปรียบเทียบให้สนุกสนานตลกครื้นเครง อย่างนี้ถือว่าเป็นการปรับตัวเข้ากับโลกหรือเปล่า
อาตมาถือว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง แต่มันขึ้นอยู่กับความเหมาะหรือไม่เหมาะ เหมือนกับว่าเราเอาอะไรมาสอน มันเหมาะไหม ถ้าดูแล้วไม่ใช่ก็ไม่ควร ไม่ใช่สอนธรรมะแต่ไม่ได้ธรรมะอะไรเลย มีแต่ความสนุกสนานมันก็ไม่เหมาะสม
ชาวพุทธจำนวนมากนับถือพุทธศาสนาอย่างผิวเผิน ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธตามทะเบียนบ้าน ท่านมองอย่างไร
พุทธศาสนาไม่ได้บังคับให้คนต้องมานับถือพุทธ พุทธศาสนาบอกว่า มาลอง มาลองดูก่อน ถ้าได้ผลก็ค่อยมาปฏิบัติตาม ถามว่า มีชื่อว่าเป็นชาวพุทธ แต่ไม่รู้เกี่ยวกับพุทธศาสนามันก็เป็นได้แค่ในนามเฉยๆ
ท่านมีความเห็นอย่างไรกับกระแสบวชภิกษุณีมากขึ้น
ถ้าพิจารณาเฉพาะประเทศไทยต้องบอกว่ายังไม่มีภิกษุณี เพราะสงฆ์ไทยยังไม่ยอมรับเพราะว่าสายของภิกษุณีขาดหายไปแล้ว เมื่อขาดหายไปก็ไม่มีคนมาบวชให้ แต่ที่เห็นปรากฏการณ์บวชภิกษุณีในไทยเป็นภิกษุณีที่บวชจากศรีลังกาและมาอยู่เมืองไทย
ท่านมองว่าการบวชภิกษุณีจะช่วยค้ำจุนพุทธศาสนาได้อีกแรงไหม
ต้องมองว่าเขามาบวชเพราะอะไร บวชเพราะผิดหวังในชีวิต อยากอยู่เงียบๆ หนีปัญหา หรือจะมาสนใจพุทธศาสนาแท้จริง แล้วมาพัฒนาพุทธศาสนา ก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้ หากสนใจเผยแพร่พุทธศาสนาและมาบวชเป็นภิกษุณีก็ถือเป็นเรื่องดี ทำให้เพิ่มความเข้มแข็งให้พุทธศาสนามากขึ้น
พุทธศาสนาเคยถูกบางคนมองว่า แบ่งแยกหญิงกับชาย ท่านมองอย่างไร
โลกอยากให้ทั้งสองเพศเท่าเทียมกัน พุทธศาสนาเองไม่ได้กดขี่ผู้หญิงต่ำต้อยกว่าผู้ชาย ผู้ชายกับผู้หญิงมีศักยภาพที่จะบรรลุคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่ากัน โดยธรรมชาติของมนุษย์ผู้ชายกับผู้หญิงมีความแตกต่างกันอยู่ ต้องยอมรับ โดยธรรมชาติผู้ชายจะแข็งแรงกว่าผู้หญิง พุทธศาสนาไม่ได้มองผู้หญิงต่ำต้อย แต่ในทางปฏิบัติของผู้หญิงอาจจะยากกว่า
ถ้ามีเด็กรุ่นใหม่พวกเจเนอเรชั่น วาย มาถามว่า แก่นแท้ของพุทธศาสนาคืออะไร ท่านจะบอกกับพวกเขาอย่างไร
พุทธศาสนาที่แท้จริงคือ การทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความทุกข์ เราอยู่ในสังคมเหมือนมีความสุข แต่ความสุขเป็นเรื่องชั่วคราว พุทธศาสนาสอนให้ไม่ยึดติดกับสิ่งของ หากเราสามารถละสิ่งของที่ไม่ใช่ของแท้ออกจากตัวเรา เราจะมีความสุขได้
การไม่ผูกติดไม่ได้หมายความว่า ปล่อยไป ไม่สนใจอะไรเลย มันหมายความว่า เราอยู่ได้ถึงแม้ว่า เรารักอะไรก็ตาม แต่เวลาเสียไปก็ไม่เสียใจเกินไป เหมือนคนรักจากไปแล้วเราก็วางได้
มนุษย์เราไม่มีศาสนาได้ไหม ไม่นับถืออะไรเลยได้ไหมครับ
ถ้าเขาประกาศตัวไม่นับถืออะไรก็ไม่เป็นไร แต่เรื่องของคุณธรรมจริยธรรมก็มีตามสังคม ถึงแม้ว่าไม่มีศาสนา เรื่องของความดีความชั่วมันก็มีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่สูงกว่านั้นก็เป็นเรื่องของศาสนาแต่ละศาสนากันไป
พุทธศาสนาสอนให้ไม่ทำร้ายอยู่แล้ว ไม่ฆ่ากันอยู่แล้ว มันเป็นศีลข้อแรก พุทธศาสนาประนีประนอมมากกว่า คุณจะนับถือก็ได้ไม่นับถือก็ได้ ขึ้นอยู่กับตัวคุณว่าจะยอมรับหรือไม่
พุทธศาสนาสอนชีวิตหลังความตาย สอนเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ สอนเรื่องกรรม การชดใช้กรรม โดยเท็จจริง โลกหลังความตายมีจริงหรือไม่
ศาสนาพุทธสอนว่า อย่าเพิ่งไปสนใจชาติหน้า เอาชาตินี้ให้ดีก่อน คุณทำดี ชาตินี้คุณก็ได้ดีอยู่แล้ว และความดีส่งผลต่อๆ ไป และไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้ดี เมื่อทำดีแล้วต้องได้ดี แต่ถามว่า ชาตินี้ไม่ทำดีทำชั่ว เปรียบเสมือนว่าตัวเราไม่มีเสบียงที่จะไปต่อ หากชาตินี้ทำกุศลก็ส่งผลชาติต่อไปอยู่แล้ว
วัฏสงสารย่อมมีการเกิด เจ็บ ตาย เวียนว่ายอยู่แล้ว ถ้าดับแล้วศูนย์ก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นก็มีการเวียนว่ายอยู่ตลอด
แล้วทำอย่างไรถึงหลุดพ้นล่ะครับ
เป้าหมายหลักของพุทธศาสนาคือ การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ หรือนิพพานนั่นเอง
จำเป็นหรือไม่ที่ต้องครองเพศบรรพชิตตามกระบวนการหรือขั้นตอนที่เรียกว่า มรรค 8
ไม่จำเป็น ในพุทธกาลเองก็มีหลายท่านที่บรรลุอรหันต์ในฆราวาสก็มี บิดาของพระพุทธเจ้าเองก็นิพพาน เมื่อบรรลุอรหันต์แล้ว แต่ต้องรู้ด้วยว่าเพศฆราวาสรองรับภาวะอรหันต์ไม่ได้ เมื่อเป็นอรหันต์แล้วต้องปรินิพพานในกี่วันก็ว่ากันไป หรือไม่ก็บวช เพราะสภาพฆราวาสไม่เหมาะที่จะเป็น
เมื่อเป็นฆราวาสบังคับให้ต้องมีกิจอื่นๆ กิจของครอบครัว กิจที่ต้องปฏิบัติงาน ไม่ใช่สภาพบรรพชิตที่ต้องมุ่งสู่ความเป็นสมถะ
พุทธศาสนาเถรวาทถูกมองจากอีกฝ่ายว่า เอาตัวรอดเพียงคนเดียว ไม่เหมือนมหายานที่ช่วยให้คนอื่นบรรลุก่อนตัวเองถึงค่อยบรรลุตาม
สายเถรวาทเน้นปฏิบัติให้ตัวเองบรรลุก่อน ส่วนสายมหายานรอให้ทุกคนบรรลุแล้วค่อยไปที่หลัง อธิบายง่ายๆ ว่า เราจะสอนให้คนอื่นว่ายน้ำเราต้องว่ายน้ำเป็นก่อน ถ้าตัวเองยังว่าไม่เป็น จะไปสอนเขาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เถรวาทบอกว่า ตัวเองบรรลุ รู้หมดทุกอย่างแล้วค่อยไปสอน เมื่อตัวเองยังไม่รู้เลยจะไปสอนเขาได้อย่างไร
เรื่องของการหลุดพ้นต้องมาจากตัวเองก่อน เวลาแผ่เมตตาก็ต้องแผ่เมตตาให้ตัวเองก่อน