นาค คนเปลื่อยดึกดําบรรพ์ ชาติพันธุ์บรรพชนคนไทย

"นาค" คนเปลือยดึกดำบรรพ์ ชาติพันธุ์บรรพชนคนไทย



มติชน

คนสุวรรณภูมิ มีบรรพบุรุษคือ มนุษย์อุษาคเนย์ ที่เป็นเจ้าของซากอวัยวะ เช่น โครงกระดูก และเป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่เหลือซากสิ่งของต่างๆ เช่น เครื่องมือหิน เครื่องปั้นดินเผา โลหะ ฯลฯ เหล่านั้น อาจจำแนกได้เป็นอย่างน้อย 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ คนที่สืบมาตั้งแต่ยุค "แผ่นดินซุนดา" นับแสนปีมาแล้ว กับคนที่เคลื่อนย้ายจากที่หลายแห่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่ยุค "โลหปฏิวัติ" ราว 3,000-4,000 ปีมาแล้ว


คนทั้งหมดล้วนเป็นบรรพบุรุษของคนปัจจุบัน

ยุคนั้นยังไม่มี "ชาติ" ทางการเมืองอย่างทุกวันนี้ และยังไม่มีชื่อสมมุติอย่างปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งที่แสดงความแตกต่างบางประการ คือ ภาษา ที่แม้จะเป็น "เครือญาติ" มีรากเหง้าเดียวกัน แต่จำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เรียก "ตระกูลภาษา" ได้ราว 5 ตระกูล ดังนี้


1.ตระกูลมอญ-เขมร หรือ ออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic Language Family) เช่น พวกมอญ เขมร ลัวะ ละว้า และบรรดากลุ่มที่คนอื่นๆ เรียกอย่างดูถูกว่า ข่า ส่วย ม้อย ฯลฯ แยกเป็นภาษาหลัก และภาษาถิ่นย่อยๆ อีกมาก ล้วนมีหลักแหล่งดั้งเดิมบนผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์


2.ตระกูลชวา-มลายู หรือ ออสโตรเนเซียน หรือ มาลาโยโพลินีเซียน (Austronesian Malayo-Polynesian Language Family) เช่น พวกชวาและหมู่เกาะอินโดนีเซียมลายู จาม ฯลฯ มีหลักแหล่งตามชายฝั่ง และหมู่เกาะทางตอนใต้ของอุษาคเนย์ รวมทั้งมอเก็นหรือ "ชาวเล" และ "เงาะ"


3.ตระกูลไทย-ลาว (Tai-Lao Language Family) เช่น พวกไทย ลาว จ้วง หลี อาหม ฯลฯ มีหลักแหล่งทั้งหุบเขาและทุ่งราบบนผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ บริเวณตะวันออก-ตะวันตกสองฝั่งโขง


4.ตระกูลจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan Language Family) เช่น กะเหรี่ยง อะข่า(อีก้อ) ปะดอง ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีพวกพม่า-ทิเบตด้วย


5.ตระกูลม้ง-เมี่ยน หรือ แม้ว-เย้า (Hmong Mien or Miao-Yao Language Family) เช่น ม้ง(แม้ว) เมี่ยน(เย้า) มีหลักแหล่งอยู่บนดอยสูงทางตอนเหนือของผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์


คนทั้ง 5 พวกนี้ล้วนเป็น "เครือญาติ" กันหมดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เครือญาติชาติพันธุ์ เครือญาติชาติภาษา เป็นต้น ดังนิทานกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุงมีคน 5 จำพวกด้วย


คนพื้นเมืองดั้งเดิมสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ที่อาศัยอยู่ที่เกาะถลาง จังหวัดภูเก็ต



"นาค"คือคนพื้นเมือง เปลือยเปล่าเหมือนงู

ชาวชมพูทวีป(หรืออินเดีย) ที่เอาศาสนาและอารยธรรมเข้ามาเผยแพร่ให้ชาวสุวรรณภูมิเลือกรับไว้ เรียกคนพื้นเมืองด้วยคำอารยันว่า นาค หมายถึง คนเปลือย หรือ แก้ผ้า เพราะเห็นคนพื้นเมืองมีเครื่องนุ่งห่มน้อยชิ้นจนเกือบเปลือยเปล่าเหมือนงูเงี้ยวที่เป็นสัตว์ร้ายทั่วไป

การ เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าไปสู่คนพื้นเมืองท้องถิ่นต่างๆ ย่อมยากลำบากและเกิดการขัดแย้งมากมาย เพราะระบบความเชื่อผีดั้งเดิมยังแข็งแรง แล้วยังมีปัญหาการสื่อสารด้วยภาษาที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้สำนึกของคนแต่ก่อนบันทึกเหตุการณ์ พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรมานนาค และปราบนาคตามท้องถิ่นหลายท้องที่ จนบรรดานาคทั้งหลายยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา แล้วน้อมรับทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาสืบมา

 

เมื่อคนพื้นเมืองผู้เลื่อมใสออกบวชเป็นภิกษุ จึงเกิดประเพณีเรียกอย่างพื้นเมืองว่า "บวชนาค" ขึ้นมา เช่น มีการทำขวัญนาค เป็นต้น ซึ่งไม่มีในพุทธบัญญัติและไม่เคยมีในอินเดีย แสดงว่าระบบความเชื่อของพื้นเมืองยังมีอิทธิพลจนพุทธศาสนาต้องยอมรับเข้ามา ผสมผสานในพิธีกรรมของพุทธศาสนา

 

นาคหมายถึง คนเปลือง ชาวสยามแต่ก่อนรู้จัก (จากคำบอกเล่า) ว่ามีเกาะแห่งหนึ่งอยู่กึ่งกลางมหาสมุทรไปลังกาเป็นถิ่นของคนเปลือย เลยเรียกชื่อว่า เกาะนาควารี อยู่กลางทะเลอันดามัน สุนทนภู่ใช้เป็นฉากเรียกเกาะแก้วพิสดารในจินตนาการแต่งเรื่องพระอภัยมณี ปัจจุบันชาวตะวันตกเรียก เกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) (ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิกรมศิลปากร)

 



"สุวรรณภูมิ"สยามประเทศไทย

มนุษย์อุษาคเนย์ เป็นบรรพบุรุษของ คนสุวรรณภูมิ ที่ชาวชมพูทวีปเรียก "นาค"(หมายถึงคนพื้นเมืองเปลือยเปล่าเหมือนงู) ผู้เป็นเครือญาติชาติพันธุ์ และชาติภาษา มีรากเหง้าเดียวกันมาแต่ดึกดำบรรพ์

ต่อมาภายหลังตั้งชื่อ "สมมุติ" เรียกชนเผ่าและชนชาติต่างกันตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและการเมืองการปกครอง ฯลฯ เช่น เรียก รามัญประเทศ ของชนชาติ มอญ เรียก กัมพุชประเทศ ของชนชาติ เขมร และเรียก มาลัยประเทศ ของชนชาติ มลายู เป็นต้น

ส่วน สยาม เป็นชื่อดินแดนที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน แต่มักเป็นที่รับรู้กันทั่วไปทั้งภายในและภายนอกยุคนั้น ว่าหมายถึงพื้นที่บริเวณที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้  แต่อาจล้ำซ้ำซ้อนพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงบางแห่งด้วย แล้วมีชื่อในตำนานสมัยหลังๆ ว่า สยามประเทศ คนที่อยู่ในดินแดนสยามเรียกว่า ชาวสยาม โดยไม่ระบุชาติพันธุ์ชนเผ่าเหล่ากอใดโดยเฉพาะ


ฉะนั้น บรรดากลุ่มชาติพันธุ์ มนุษย์อุษาคเนย์ หรือ ชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ อย่างน้อยใน 5 ตระกูลภาษา คือ มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ไท-ลาว, จีน-ทิเบต, ม้ง-เย้า, ที่มีหลักแหล่งเคล้าคละปะปนอยู่ด้วยกันในดินแดน สยาม ล้วนถูกเรียกเป็น ชาวสยาม ทั้งนั้น ดังมีตัวอย่าง "เสียมกุก" ภาพสลักขบวนแห่ชาวสยามที่ระเบียงทิศใต้ ปีกตะวันตกของปราสาทนครวัด ล้วนเป็นเครือญาติชาติพันธุ์และชาติภาษาที่มีหลักแหล่งมั่นคงอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณเวียงจันกับพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ เป็นต้น

แต่มีชาวสยามกลุ่มหนึ่งใน ตระกูลไท-ลาว ที่อยู่ปะปนกับชาติพันธุ์อื่นๆ มาแต่ดึกดำบรรพ์ 3,000 ปีมาแล้ว ผ่านยุคสุวรรณภูมิและยุคหลังๆ ต่อมา จนมีอำนาจเป็นชนชั้นปกครองเรียกพวกของตนว่า "คนไทย" แล้วร่วมกับเครือญาติ "ขอม" ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแห่งเมืองละโว้(ลพบุรี) สถาปนา ราชอาณาจักรสยาม เป็น "รัฐประชาชาติ" แห่งแรก เรียกชื่อ กรุงศรีอยุธยา สืบมาเป็น กรุงธนบุรี ถึง กรุงรัตนโกสินทร์ จนเป็น ประเทศไทย ทุกวันนี้

นับ แต่นั้นกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าเหล่ากอหลายกลุ่ม ได้ผสมกลมกลืนเป็น "คนไทย" ไปด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง แต่มีกลุ่มชาติพันธุ์อีกไม่น้อยที่ยังดำรงชาติพันธุ์และชาติภาษาของตนไว้ อย่างสืบเนื่องและภาคภูมิถึงปัจจุบัน

 



ม้อย คนพื้นเมืองดั้งเดิม บริเวณลาว-เวียดนาม กับข่า บริเวณสองฝั่งโขง แต่งตัวเปลือยเปล่ายเป็น "นาค" มีผ้าเตี่ยวคาดเอว ปล่อยชายสองข้างเหมือนคนบนหน้ากลองมโหระทึก เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว

 

 

 


ม้อย กลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมในเวียดนาม นุ่งผ้าปล่อยชาย 2 ข้าง เหมือนลายเส้นบนหน้ากลองมโหระทึกเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ภาพนี้เป็นแถวรับเสด็จรัชกาลที่ 7 เสด็จเวียดนาม เมื่อ พ.ศ. 2473

 

 

 

 

คิดทุกคำที่พูด แต่อย่าพูดทุกคำที่คิด

Credit: เปิดโลกพิศวง
#บรรพชน
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
22 ก.ค. 54 เวลา 06:54 10,253 6 100
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...