สรรพคุณมิใช่แค่แซบ 'พริกแก้ปวด' อีกงานวิจัย

 

 

 

 

 

 

สรรพคุณมิใช่แค่แซบ 'พริกแก้ปวด' อีกงานวิจัย

 

 

"ลดประสิทธิภาพการทำงานของตัวรับความรู้สึกปวด และลดปริมาณสารสื่อประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่ตอบสนองต่อการส่งความรู้สึกปวด ส่งผลให้อาการปวดและอักเสบลดลง” ...นี่เป็นอีกหนึ่งสรรพคุณของพืชอาหารกึ่งสมุนไพรที่ในประเทศไทยมีอยู่มากมาย และคนไทยรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
   
นี่คืออีกหนึ่งสรรพคุณที่น่าสนใจของ ’พริก“
   
พืชผักสมุนไพรที่อยู่คู่กับครัวไทยมาช้านาน...
   
ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นพืชผักสมุนไพรที่คนไทยนิยมนำมาปรุงอาหารไทยมากมายหลายชนิดแล้ว ในอีกด้านที่นอกเหนือจากการเป็นเครื่องปรุงให้มีรสเผ็ด-รสแซบ “พริก” ยังมีสรรพคุณในทางการแพทย์ด้วย เช่น สารสำคัญที่มีในพริก คือ “แคปไซซิน” สามารถ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหารได้ นอกจากนั้น พริกยังช่วย ลดการอุดตันของเส้นเลือด ลดการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน อีกทั้งพริกยังช่วย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากพริกเป็นพืชผักที่มีวิตามินซีสูง    
   
ไม่เท่านั้น สารแคปไซซินในพริกยังสามารถช่วย เสริมสร้างสุขภาพและอารมณ์ให้ดีขึ้น ได้ เนื่องจากสารตัวนี้เป็นสารที่มีส่วนในการส่งสัญญาณให้ต่อมใต้สมองสร้างสาร “เอนดอร์ฟิน” ซึ่งมีคุณสมบัติบางประการที่สำคัญคล้ายมอร์ฟีน คือ ’บรรเทาอาการเจ็บปวด“ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น
   
และบรรเทาอาการเจ็บปวดนี่ในไทยก็มีงานวิจัย
   
ปัจจุบันมีผลการวิจัยออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว!!
   
ว่ากันถึงสารแคปไซซิน สารที่ใน “พริก” ก็มีนั้น ที่ผ่านมามีการใช้สารนี้อย่างแพร่หลายในทางการแพทย์แถบทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย โดยอดีตในเมืองไทยมีการใช้ประโยชน์จากสารตัวนี้น้อย อย่างไรก็ตาม ทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกับกลุ่มเภสัชกรไทย โดยบริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด ริเริ่มวิจัยและพัฒนาพันธุ์พริกเพื่อให้ได้พันธุ์พริกที่ให้ปริมาณสารแคปไซซินสูงสุดได้สำเร็จ และได้จดสิทธิบัตรเป็นพืชพันธุ์ใหม่ของโลกแล้ว คือ “พริกพันธุ์ยอดสนเข็ม 80” รวมถึงได้นำสารตัวนี้มาพัฒนาเป็นยาทาบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ได้แก่ อาการปวดข้อเสื่อม, อาการปวดกล้ามเนื้อ, อาการปวดปลายประสาทอักเสบ
   
กับอาการปวดข้อเสื่อม ได้มีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาทาที่ใช้สารนี้เป็นวัตถุดิบ โดย ศ.นพ.วีระชัย โควสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งพบว่าสามารถลดอาการปวดข้อเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง
   
ส่วนอาการปวดกล้ามเนื้อ นพ.คณิต ออตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ศึกษาการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างเรื้อรังโดยใช้ยาทาที่ใช้สารนี้เป็นวัตถุดิบ เป็นยาร่วม ผลการศึกษาพบว่าสามารถลดอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังได้ดีกว่าการใช้ยานวดที่เคยมีการใช้กันอยู่
   
ขณะที่อาการปวดปลายประสาทอักเสบ ซึ่งเป็นอาการปวดที่ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานมาก ซึ่งพบมากในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยาทาที่ใช้สารนี้เป็นวัตถุดิบก็ใช้ลดอาการอย่างได้ผล ซึ่งก็มีการศึกษาแพร่หลายในทวีปยุโรปและอเมริกา ส่วนในประเทศไทยมีการศึกษาโดย พญ.มนัญญา วรรณไพสิฐกุล โรงพยาบาลบ้านโป่ง จ.ราชบุรี
   
สารแคปไซซิน ซึ่งใน ’พริก“ มีอยู่ ช่วยลดประสิทธิภาพการทำงานของตัวรับความรู้สึกปวด และลดปริมาณสารสื่อประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่ตอบสนองต่อการส่งความรู้สึกปวด ส่งผลให้อาการปวดและอักเสบลดลง ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้สารนี้อย่างแพร่หลาย อย่างเช่น สหพันธ์แพทย์ยุโรปเพื่อต่อต้านโรคไขข้ออักเสบ (EULAR) ได้มีการบรรจุยาทาที่ใช้สารนี้เป็นวัตถุดิบ ให้อยู่ในแนวทางการรักษาโรคข้อเสื่อม
   
สำหรับในไทยก็มีผลวิจัย-มีการใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งก็สามารถที่จะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
   
’ตลอดระยะเวลาหลายปี ที่มีการผลิตและจำหน่ายยาทาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของสารสกัดตัวนี้ ใช้พริกที่เกษตรกรไทยปลูกในไทยทั้งสิ้น จึงลดการนำเข้าวัตถุดิบผลิตยาจากต่างประเทศ“ ...นี่เป็นการระบุของ เภสัชกร สุนชัย พจมานเหมาะ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท บางกอก ดรัก จำกัด ซึ่งได้สิทธิเกี่ยวกับยาทาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของสารแคปไซซินจากพริกพันธุ์ยอดสนเข็ม 80 ที่ได้จากการพัฒนาพันธุ์
   
ทั้งนี้ ผลจากการวิจัยและพัฒนาในเรื่องนี้ นอกจากปัจจุบันจะมีการใช้อย่างกว้างขวางในวงการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการปวด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในเมืองไทยแล้ว ยังมีการส่งออกไปต่างประเทศด้วย เช่น ลาว กัมพูชา ไนจีเรีย ซึ่งก็ตอกย้ำความไม่ธรรมดาของสรรพคุณ ’พริก“

 

 

Credit: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.html
18 ก.ค. 54 เวลา 11:10 7,241 4 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...