สนามหลวง ห้ามชุมนุม ห้ามเล่นว่าว คุณคิดยังไง
สนามหลวง ห้ามชุมนุม ห้ามเล่นว่าว คุณคิดยังไง
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
คน เล่นว่าวโวย กทม. สั่งห้ามเล่นว่าวที่สนามหลวง ชี้ทำลายเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่มีมาแต่ช้านาน พร้อมขอค้านให้ถึงที่สุด ด้านกทม.ยันห้ามจัดกิจกรรมกีฬาทุกชนิด อย่ายึดติดกับภาพเก่า ๆ เพราะว่าวไม่จำเป็นต้องเล่นที่สนามหลวง
หลัง จากที่ทาง กทม.ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ท้องสนามหลวงเสร็จแล้ว และมีกำหนดการจัดพิธีเปิดสนามหลวงอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 สิงหาคม 2554 ที่จะถึงนี้ พร้อมประกาศกฎในการใช้สนามหลวงเบื้องต้นว่า ห้ามเล่นกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ เพราะจะเน้นในสนามหลวงเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและงานรัฐพิธีที่สำคัญ แต่จะอนุญาตให้ใช้เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อน หรือเดินเล่นและขี่จักรยานได้นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายปริญญา สุขชิต อุปนายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้คร่ำวอดในวงการเล่นว่าว กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะห้ามเล่นว่าวในสนามหลวง เพราะการเล่นว่าวนั้นถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยที่อยู่คู่กับสนามหลวงมาเป็น เวลานาน เป็นกีฬาที่สร้างความสุขราคาถูก ซึ่งตลอดชีวิตที่ผ่านมาของตน ตนมีความผูกพันอยู่กับสนามหลวงตั้งแต่เด็ก ๆ และคิดว่าคนอื่น ๆ ก็คงมีความคิดเห็นเหมือนกัน ทั้ง นี้ การปรับปรุงภาพลักษณ์ของสนามหลวงให้สะอาด สวยงาม และไม่เป็นแหล่งเสื่อมโทรมนั้น ตนเห็นด้วยเป็นอย่างมาก แต่ไม่อยากให้ทาง กทม.มาปิดกั้นการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพราะสนามหลวงเคยเป็นศูนย์กลางของการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นตระกร้อ และเล่นว่าว อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาชีพให้กับพ่อค้าแม่ค้าขายว่าวจำนวนมาก
นายปริญญา ยังกล่าวอีกว่า ประวัติของการเล่นว่าวที่สนามหลวงนั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาถึงปัจจุบัน ท่านทรงจัดแข่งขันเล่นว่าวชิงถ้วยทอง อีกทั้งรัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงเล่นว่าวด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันสนามหลวงก็ถือเป็นเวทีของการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้า ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประจำทุกปี แต่เมื่อทาง กทม.สั่งปรับปรุงภูมิทัศน์ การแข่งว่าวก็ต้องย้ายไปแข่งที่อื่น ตนเคยไปจัดที่สวนรถไฟ แต่ก็ไม่มีคนไปดูจึงจำเป็นให้ต้องยกเลิกไป อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การแข่งว่าวก็ยังไม่สามารถจัดที่สนามหลวงได้ จึงใช้พื้นที่สวนนคราภิรมย์ สวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเตียน เป็นที่จัดการแข่งขันแทน
ทั้งนี้ นายปริญญา ยังได้เสนอแนวทางในการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่สนามหลวงว่า ตนอยากเสนอให้ทางกทม.อนุญาตให้เล่นว่าวได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เพราะเป็นฤดูเล่นว่าวที่ดีที่สุด ส่วนช่วงเวลาอื่น ๆ จะห้ามตนก็ไม่ขัดข้อง สำหรับมาตรการห้ามขายว่าวที่สนามหลวง ตนคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งธนาคารว่าวด้านนอกสนามหลวง เพื่อให้คนที่สนใจมายืมว่าวไปเล่นได้ แต่ถ้าห้ามจริง ๆ ก็คงต้องฝ่าฝืนเข้าไปเล่นให้ได้ และคัดค้านให้ถึงที่สุด เพื่อจะรักษาภาพของสนามหลวงให้มีเสน่ห์เช่นในอดีต มีว่าวหลากสีสันรูปแบบต่างๆ ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าสดใส เบื้องหลังเป็นภาพพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว เหมาะสำหรับการพักผ่อนมากที่สุด
ด้าน นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกรมศิลปากรได้เสนอให้ กทม.ปูพื้นหญ้าทั่วสนามหลวง เนื่องจากต้องการรักษารูปแบบดั้งเดิมของสนามหลวง จึงสั่งห้ามทำพื้นที่คอนกรีต แต่การทำกิจกรรมใด ๆ ทางกรมศิลปากรไม่ขัดข้องอยู่แล้ว สำหรับสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว เช่น ศาลาสำหรับการจัดงานพระราชพิธีวันพืชมงคล เป็นอำนาจของ กทม.พิจารณา อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าการเล่นว่าวและกีฬาต่าง ๆ เช่น ตะกร้อ คงจะไม่ทำลายพื้นหญ้าหรือทำให้โบราณสถานชำรุดเสียหายแต่อย่างใด
ขณะที่ นายสุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการเขตพระนคร ได้ออกมากล่าวว่า ตนจะไม่อนุญาตให้มีการจัดแข่งขันว่าวในพื้นที่สนามหลวงอย่างแน่นอน คนเล่นว่าวไม่ควรยึดติดกับภาพเก่า ๆ ว่าจะต้องเล่นว่าวได้แค่ที่สนามหลวงเท่านั้น สถานที่อื่น ๆ ก็มีอีกเยอะแยะ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องมีนโยบายจากทางผู้บริหาร กทม.ให้ชัดเจนก่อน ส่วนการจัดกิจกรรมชุมนุมในสนามหลวง ผู้บริหาร กทม.มีนโยบายห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งทางกทม.จะจัดเวรยามช่วงละ 30 คน ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าหากมีการฝ่าฝืนจะเข้าแจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
Credit:
กระปุกดอดคอม