กฏจราจรที่คนไทย(ยังคง)ละเลย

 

           กฏจราจรที่คนไทย(ยังคง)ละเลย

                                              

กฎจราจรมีไว้เพื่อให้ทุกคน สามารถใช้ถนนสาธารณะร่วมกันได้อย่างเป็นระเบียบและปลอดภัย ในแต่ละประเทศมีกฎจราจรพื้นฐานคล้ายกัน แต่ต่างกันที่รายละเอียดและความเข้มงวดในการปฏิบัติ บทความนี้รวบรวมกฎจราจรของไทยหรือลักษณะการขับรถยนต์ที่คนไทยละเลย ไม่ปฏิบัติตามจนกลายเป็นเรื่องปกติ หรือถ้าใครเคร่งครัดก็อาจจะถูกด่าหรือชนได้

ทั้งหมดเป็นเพียงการรวบรวมให้ทราบ แต่คงยากที่จะชักจูงให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตราบใดที่ยังมีสินบน! หลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับ


ขับชิดซ้าย

ไม่ได้พบแต่ตามถนนโล่งต่างจังหวัดเท่านั้น บนทางด่วนหรือทางลอยฟ้าในกรุงเทพฯ ก็พบได้บ่อยๆ เพราะคำว่าช้า และมีกฎหมายจำกัดความเร็วสูงสุดไว้จึงทำให้หลายคนคิดว่าเมื่อไรที่รู้สึกด้วยตัวเองว่าเร็วแล้ว หรือขับเกินความเร็วที่กฎหมายจำกัดไว้ ก็จะขับแช่อยู่ในเลนขวาได้ เพราะในเมื่อไม่ได้คิดว่าขับช้าก็ไม่ต้องชิดซ้าย

วิธีที่ถูกต้อง คือ แซงแล้วต้องชิดซ้าย เลนขวามีไว้แซงเท่านั้น หรือราชการควรเปลี่ยนประโยคใหม่ เพิ่มคำว่า กว่า เข้าไปจากขับช้าชิดซ้าย เปลี่ยนประโยคเป็นขับช้ากว่าชิดซ้าย คือ ไม่ว่าจะขับด้วยความเร็วเท่าใดในเลนขวา ถ้ามีรถยนต์ที่ตามมาขับเร็วกว่า ก็ต้องหลบซ้ายให้ไม่ต้องทำตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตัดสินผู้อื่นว่า หากตนเองขับเร็วตามกฎหมายแล้วไม่ต้องหลบให้ใคร

แนะนำว่าไม่ต้องคิดเช่นนั้น เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา หากมีรถยนต์ที่เร็วกว่า ก็ควรหลบเข้าเลนซ้ายให้ ถึงแม้เลนซ้ายในช่วงนั้นจะขรุขระบ้าง  แต่ถ้าไม่ถึงกับแย่จนทนขับไม่ได้ก็ควรหลบเข้าเลนซ้ายชั่วคราว พอถูกแซงผ่านไปและว่างก็ค่อยกลับมาเลนขวา 



ขับเร็วเกินกำหนด

กฎหมายไทยจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ต่ำ คือ 90-120 กม./ชม. แล้วแต่ว่าจะเป็นถนนใด ถ้าเป็นถนนหลวงใช้ฟรี มักถูกจำกัดแค่ 90 กม. /ชม.

คนส่วนใหญ่มองว่ากฎหมายล้าหลัง ไม่ปรับปรุงตามสมรรถนะของรถยนต์ และบนถนนจริงในการเดินทางไกล ก็แทบไม่มีใครทนขับช้าอย่างนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเรียกจับ ก็โดนกันเกือบทุกคัน

นับเป็นเรื่องที่หวานอมขมกลืน เพราะยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ ซึ่งก็ดีในแง่หนึ่งที่จะได้ความปลอดภัย
เพราะคนไทยหลายสิบเปอร์เซ็นต์ขับรถยนต์โดยมีพื้นฐานที่ไม่ดี ยิ่งเร็วก็ยิ่งอันตราย แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เท่ากับเป็นกฎหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ใครจะไปทนขับเป็นเต่า 90 กม./ชม. แม้แต่ข้าราชการนักการเมืองใหญ่ๆ ก็ยังไม่เห็นใช้ความเร็วในการเดินทางต่ำอย่างนี้



ไม่เปิดไฟเลี้ยว

บางคนหลงลืม บางคนไม่เปิดเป็นนิสัย บางคนตั้งใจไม่เปิด เพราะเคยพบกับคนอื่นที่นิสัยไร้น้ำใจ ซึ่งทำให้การเปิดไฟเลี้ยวที่น่าจะเป็น การเตือนให้ทราบหรือขอทาง แต่กลับเป็นการเตือนให้รู้ตัวและก็เร่งความเร็วมาปิดช่องว่าง

หลายคนจึงไม่เปิดไฟเลี้ยวด้วยเหตุผลสั้นๆ คือ ไม่อยากให้คนอื่นรู้ตัว ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นควรเปิด เพราะจะได้ความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และก็คงไม่พบกับคนไร้น้ำใจกันทั้งถนน



ป้ายหยุดแต่ไม่หยุด

ในไทยใช้คำว่า หยุด ส่วนในหลายประเทศ เป็นป้าย STOP และต้องปฏิบัติตามป้ายอย่างเคร่งครัด เช่น สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะอยู่บนถนนใหญ่หรือซอยเล็กกลางวันหรือดึก ไม่ว่าจะดูคึกคักหรือเปลี่ยว หากมีป้ายนี้ต้องเบรกรถยนต์ให้ล้อหยุดหมุน จะสักครึ่งหรือ 1 วินาทีก็ยังดี

หากดูแล้วทางโล่งก็ค่อยขับต่อไป ไม่มีการปล่อยไหลช้าๆ ล้อต้องหยุดสนิทชั่วคราว ไม่งั้นถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจซุ่มอยู่จะจับกุมได้ทันที แม้ถนนจะโล่ง ดึกและเปลี่ยว รวมถึงไม่มีรถยนต์อื่นในบริเวณแยกนั้นเลยก็ตาม

นับเป็นความปลอดภัยที่ชัดเจน เพราะการหยุดพร้อมกับดูความโล่งของเส้นทางที่จะไป ย่อมดีกว่าปล่อยรถยนต์ไหลๆ พร้อมกับดู
น่าแปลกที่คนไทยไม่เคยจอดรถยนต์ตาม กำหนดของป้ายหยุดนี้เลย บางคนมองเห็นและทราบว่ามีแยกอยู่ข้างหน้า และต้องดูเส้นทางว่าว่างไหมแต่ไม่เคยคิดจะให้ล้อหยุดหมุนสักครู่เลย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่เคยจับ

บางคนแทบไม่เคยเห็น ไม่สนใจป้ายนี้ หรือเห็นแล้วไม่คิดว่าจะต้องเบรกจนล้อหยุดหมุนเลย รวมถึงหากขับรถยนต์ไหลๆ มาเป็นแถว ถ้าบริเวณแยกนั้นเส้นทางว่าง หากใครพบป้ายนี้แล้วเบรกจนหยุด ก็อาจโดนบีบแตรไล่หรือถูกชนท้ายได้

ป้ายหยุดสำหรับคนไทยจึงกลายเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก หรือบางคนบอกว่าไร้สาระจะติดไปทำไม



ผ่าไฟเหลือง

ในไทยเห็นไฟเหลืองแล้วต้องเร่งส่ง ขณะที่ในหลายประเทศคือไฟหยุด เห็นไฟเหลืองแล้ว ต้องหยุด ในไทยขืนไม่เร่งส่ง ก็อาจโดนบีบแตรไล่หรือถูกชนท้ายได้ เรื่องนี้คงยากที่จะแก้ไข เพราะถ้าพิสดารทำอยู่คนเดียวก็อาจถูกชนท้ายได้ 

                                         

ที่มา    http://www.coronathai.com

16 ก.ค. 54 เวลา 19:10 12,090 15 140
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...