วันนี้เรายังอยู่ทางตอนใต้ของรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกากันต่อนะครับ แถวนี้มีธรรมชาติที่งดงามอีกหลายแห่ง ไม่ไกลนักจากอุทยานแห่งชาติไซออน จะพบอุทยานแห่งชาติขนาดเล็ก ๆ อีกแห่งหนึ่งในรัฐยูทาห์ ชื่อว่าไบรซ์แคนยอน (Bryce Canyon National Park)
เอกลักษณ์ที่สำคัญของไบรซ์แคนยอนคือแท่งหินยอดแหลม ๆ เรียกว่าฮูดู (Hoodoos) ที่ขึ้นเรียงกันเป็นแนว มีรูปร่างรูปทรงแปลกประหลาด ชวนให้ผู้พบเห็นเกิดจินตนาการไปต่าง ๆ นานาถึงที่มาของแท่งหินเหล่านี้ ตำนานของพวกอินเดียนแดงกล่าวว่าแท่งหินเหล่านี้เกิดจากมนุษย์ที่ต้องคำสาปกลายเป็นหิน
แต่จริง ๆ แล้ว แท่งหินเหล่านี้เกิดจากการกัดเซาะและผุพังของชั้นหินจากลม ฝน และหิมะ เนื่องจากเป็นหน้าผาสูงชัน เมื่อน้ำไหลผ่านจึงเพิ่มความเร็วของน้ำและพลังงานในการกัดเซาะ
นอกจากนั้น ที่นี่มีภูมิประเทศอยู่ในระดับสูงมีหิมะตก วัฏจักรการแข็งตัวของน้ำแข็งตอนกลางคืน ละลายตอนกลางวัน แล้วแข็งตัวใหม่ตอนกลางคืน เช่นนี้เรื่อย ๆ ทำให้เกิดเป็นลิ่มน้ำแข็งแทรกในเนื้อหิน แยกเนื้อหินออกจากกันเป็นแท่งหินฮูดูดังกล่าว
ไบรซ์แคนยอน ตั้งชื่อตามผู้บุกเบิกนิกายมอร์มอนชื่อ Ebenezer Bryce ซึ่งได้เข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้ในปี ค.ศ.1875
ภูมิประเทศของไบรซ์แคนยอนเป็นหน้าผาสูง อยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึง 8000-9000 ฟุต (2400-2700 เมตร) ขณะที่แกรนด์แคนยอนสูงเพียง 7000 ฟุต
นักท่องเที่ยวที่ต้องการสำรวจไบรซ์แคนยอนแบบเจาะลึก ควรใช้เวลาในการเดิน trail ลงไปในหุบเขา จะได้เห็นไบรซ์แคนยอนในอีกแง่มุมหนึ่ง เส้นทางนี้เรียกว่า Navajo loop trail
ในรูปนักเดินป่าตัวเล็กนิดเดียวเมื่อผ่านช่วงที่เรียกว่า Wall Street มีใครจะแวะซื้อหุ้นไหมครับ กำลังร่วงระนาวเลย
ต้นสนที่ขึ้นใน Navajo loop trail
ฮูดูแท่งนี้สูงเด่นกว่าใครเพื่อนในละแวกเดียวกัน ฝรั่งมองแล้วเหมือนค้อน เลยเรียกว่า Thor’s Hammer หรือค้อนของเทพเจ้าทอร์ ที่เป็นเทพเจ้าแห่งฟ้าผ่าในนิยายของพวกไวกิ้ง แต่ผมว่าเหมือนกลองยาวของไทยมากกว่านะ
เหมือนหรือไม่ ดูกันเองนะครับ
ในฤดูหนาว หิมะจะปกคลุมทั่วไบรซ์แคนยอนราวกับผ้าห่มสีขาวผืนใหญ่ ตัดกับฟ้าใสสีคราม
เวลาที่ไบรซ์แคนยอนงดงามที่สุดคือแรกอรุณยามเช้าตอนพระอาทิตย์ขึ้น แสงอาทิตย์อ่อน ๆ ตกกระทบกับหุบเขาจนเป็นสีทองไปทั่วบริเวณ อากาศสบาย ๆ ที่สดชื่นยามเช้า กับวิวที่น่าอัศจรรย์ตรงหน้า นี่คือสวรรค์บนดินจริง ๆ
จบตอนครับ