ในสายตาของใครหลายๆคน การหย่าร้างนั้นนับเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ในชีวิต ทว่าในมุมกลับกันเรื่องดังกล่าวอาจจะไม่ที่เลวร้ายหรือเศร้าสร้อยมากอย่าง ที่คิด หากเราเลือกที่จะจากกันด้วยดี เคลียร์เรื่องที่ค้างคาใจจนหมดสิ้น... ซึ่งแนวคิดนี้เองเป็นที่มาของการให้บริการจัดพิธีหย่าในญี่ปุ่น
ภาพคู่สามี ภรรยา ยืนคู่กันต่อหน้าชายที่แต่งกายคล้ายบาทหลวง ห้อมล้อมรอบไปด้วยเพื่อนฝูงที่มาเป็นสักขีพยาน อาจดูละม้ายคล้ายบรรยากาศในงานแต่งงานที่คู่รักพร้อมที่จะเอ่ยคำว่า "รับค่ะ" "รับครับ" แต่ หารู้ไม่ ในความเป็นจริงแล้วคนคู่นี้กำลังจะบอกลาความสัมพันธ์ฉันสามี ภรรยา เมื่อชายในชุดบาทหลวงยื่นค้อนให้ทั้งคู่ช่วยกันทุบแหวนแต่งงาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการยุติความสัมพันธ์
ชายผู้อยู่เบื้องหลังพิธีหย่าร้างที่ว่านี้ก็คือ ฮิโรกิ เทราอิ ที่ รับหน้าที่ทั้งดำเนินพิธีและเตรียมการต่างๆ ซึ่งในระหว่างพิธีเทราอิจะเชิญชวนให้คู่สามี ภรรยา เปิดใจและเผยความไม่พอใจหรือสิ่งที่บาดหมางใจซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะแยกทางจากกันไป
เทราอิ เผยว่าเขาไม่ได้คิดว่าแนวคิดเรื่องการหย่าร้างเป็นสิ่งที่ไม่ดี อีกทั้งยังกล่าวเสริมว่า แทนที่แต่ละคู่จะใช้เวลามานั่งทะเลาะกัน การปิดฉากความสัมพันธ์และเริ่มต้นชีวิตใหม่แบบแยกจากกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดี กว่ามาก
ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ. 2503) อัตราการหย่าร้างในญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโดยเฉลี่ย 70,000 คู่ในแต่ละปี เป็นประมาณ 253,000 คู่ ในปี 2009 (พ.ศ. 2552) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า
เทราอิ ในฐานะที่เป็นนักรับจัดพิธีหย่า อธิบายว่าสถิติที่สูงขึ้นนั้นมาจากแรงกดดันในเรื่องสถานภาพและความสัมพันธ์ ในครอบครัวที่น้อยลงในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนเพิ่มขึ้นเริ่มที่จะให้โอกาสตัวเองในการตั้งต้น ชีวิตใหม่
นอกจากนี้ เทราอิยังเล่าถึงที่มาที่ไปของบริการรับจัดงานหย่าว่า ตั้งแต่เด็กเขาเคยสงสัยว่าในเมื่อเรายังจัดงานแต่งงานได้แล้วทำไมจะจัดงาน หย่าไม่ได้ และตัวเขาเองก็นิยมชมชอบการจบความสัมพันธ์ฉันสามี ภรรยาด้วยดี ทั้งยังเผยอีกว่า หากวันหนึ่งเขาต้องหย่าร้าง เขาก็อยากจะจัดงานหย่าของตัวเองเช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักจัดงานหนุ่มโสดวัย 31 ปีผู้นี้ก็เพิ่งจะจัดพิธีหย่าให้กับเคนจิและเคโกะ (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นคู่รักคู่ร้างคู่ที่ 79 ที่มาใช้บริการของเทราอิ เคนจิเล่าก่อนพิธีจะเริ่มขึ้นว่า เขาและเคโกะแต่งงานอยู่กินด้วยกันมากว่า 7 ปี และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายจบความสัมพันธ์เพียงแค่จรดปากกาเซ็นใบหย่าเท่านั้น ทั้งยังคิดว่าการจัดงานหย่าจะเป็นโอกาสที่สะสางความรู้สึกที่ค้างคาอยู่ในใจ ก่อนที่แต่ละคนจะเริ่มต้นชีวิตในเส้นทางสายใหม่ของตัวเอง
ในทางกลับกัน เคโกะกลับรู้สึกกระตือรือร้นน้อยกว่ากับกิจกรรมนี้เมื่อเทียบกับเคนจิ เธอบอกว่า เธอเข้าร่วมพิธีหย่านี้เพื่อเอาใจเคนจิผู้ที่จะกลายเป็นอดีตสามีในไม่ช้า
พิธีเริ่มต้นโดยเคนจิและเคโกะมาในชุดสีดำเพื่อไว้ทุกข์ให้กับชีวิตสมรส ที่กำลังจะสิ้นสุดลง ทั้งสองขึ้นรถลากที่เตรียมไว้ไปยังสถานที่จัดงาน โดยมีขบวนเพื่อนๆนั่งรถลากตามมา ต่อจากนั้นเทราอิซึ่งทำหน้าที่เป็นพิธีกรดำเนินพิธีการโดยเรียกเคนจิและเค โกะว่า "อดีตเจ้าบ่าวและอดีตเจ้าสาว"
ในพิธีเทราอิจะกล่าวนำว่า "เบื้องหลังการตัดสินใจ มีเรื่องราวที่ซับซ้อนมากมายที่มีเพียงแค่พวกคุณ (เคนจิและเคโกะ) เท่านั้น ที่เข้าใจ" "เรามาร่วมอธิษฐานให้วันนี้เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของคุณทั้งคู่" ก่อนที่เทราอิจะส่งค้อนให้ทั้งคู่และบอกให้ทุบแหวนแต่งงาน ซึ่งเป็นสิ่งของชิ้นสุดท้ายที่แสดงความผูกพันของคู่แต่งงาน ก่อนจะตามมาด้วยเสียงปรบมือของเพื่อนๆที่เป็นสักขีพยาน
แต่ดูเหมือนว่าช่วงท้ายของพิธีจะบีบคั้นจิตใจของอดีตเจ้าสาวอย่างเคโกะ มากเสียจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เธอยิ้มทั้งๆที่น้ำตายังอาบแก้มพร้อมเผย ความดีใจที่เธอและเคนจิผ่านช่วงพิธีมาได้
เทราอิ อธิบายว่าปฏิกิริยาของเคโกะนั้นเป็นเรื่องปกติที่มักจะเกิดขึ้นระหว่างและ หลังพิธีหย่า และตามปกติหลังทำลายแหวนแต่งงานแล้ว อดีตคู่รักแต่ละคู่ดูเหมือนจะผ่อนคลาย พร้อมกับมีสีหน้าสดใส และตามมาด้วยการเฉลิมฉลองของบรรดาเพื่อนฝูงที่ร่วมพิธี
นอกจากนี้ เทราอิยังเสริมว่าเมื่อยุติความสัมพันธ์ ฝ่ายหญิงดูเหมือนจะสามารถปรับตัวและเดินหน้าต่อได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับ ฝ่ายชายที่ปล่อยวางเรื่องการหย่าร้างได้ยากกว่า เขาคิดว่าคู่รักเหล่านี้ต้องการโอกาสที่จะบอกสิ่งที่แต่ละคนยอมรับได้และยอม รับไม่ได้เกี่ยวกับคู่ของตน
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกคู่ที่มาปรึกษาเทราอิจะต้องจบลงด้วยการหันหลังเดินแยกทางเสมอไป มีคู่รักถึง 9 คู่ที่คุยไปคุยมา ก็เปลี่ยนความคิดกลายเป็นล้มเลิกแผนการหย่า
ในขณะนี้ บริการจัดงานของเทราอิไม่เพียงมีแค่ในญี่ปุ่น แต่ได้ขยายไปยังเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการหย่าร้างมากที่สุดใน เอเชียอีกด้วย
ที่มา สำนักข่าว AFP
แปลและเรียบเรียงโดย วิภาวี วิบูลย์ศิริชัย