อย่าเชื่อในสี่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์

อย่าเชื่อในสิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์
พรรณไพร (60,803 views) first post: Wed 19 March 2008 last update: Wed 6 July 2011
จากผลของการศึกษานี้ ก่อให้เกิดศาสตร์ใหม่ทางด้านเคมีอีกสาขาคือ สเตริโอเคมี (stereochemistry) การค้นพบนี้นำชื่อเสียงมาสู่ตัวปาสเตอร์อย่างมาก ต่อมา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการด้านการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของ Ecole Nomale ในปารีสอีกตำแหน่ง
สารบัญ
หน้า : 1 ถ้าไม่ลองก็ต้องตาย
หน้า : 2 ทฤษฎีเชื้อโรค

 

หน้าที่ 1 - ถ้าไม่ลองก็ต้องตาย
 

พรรณไพร

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของนิตยสาร @ll Biotech และ วิชาการ.คอม
http://www.biotec.or.th/Guru/

 

 

            เช้าวัน หนึ่งของวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 หนูน้อยวัย 9 ขวบถูกมารดาพามายังบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านวัย 63 เปิดประตูต้อนรับจึงทราบว่าหนูน้อยคนนี้มีชื่อว่า โจเซฟ ไมสเตอร์ (Joseph Meister) “เอ.. ลักษณะท่าทางก็ปกตินี่” เจ้าของบ้านคิดในใจ แต่เมื่อสังเกตดีดีก็พบว่า หนูน้อยคนนี้มีสีหน้าไม่สู้ดีนัก ตาบวมเหมือนผ่านการร้องไห้มาทั้งคืน มารดาอ้อนวอนให้เจ้าของบ้านช่วยเหลือ แม้จะรู้ว่าลูกน้อยที่พามาติดเชื้อโรคร้ายเห็นท่าจะไปไม่รอดก็ตาม 

              ณ นาทีต่อมา  เจ้าของบ้านรับปากมารดาว่าจะช่วย แต่ไม่ขอรับประกันว่าจะช่วยสำเร็จหรือไม่ และถามมารดาว่ายอมที่จะให้เขาทดลองอะไรบางอย่างกับบุตรชายของเธอหรือไม่  ในที่สุดมารดาก็ตอบตกลงเพราะ “ถ้าไม่ลองก็ต้องตาย” เจ้าของบ้านแม้จะถามชิมลางออกไป แต่ในใจก็คิดว่าต้องช่วยหนูน้อยคนนี้ให้สำเร็จ เพราะอย่างน้อยๆ เขาและเพื่อนก็เคยลองเอาเจ้าสิ่งนี้ให้กับสุนัข แล้วก็พบว่าสุนัขไม่ติดโรค  …แต่ครั้งนี้ช่างต่างกับครั้งก่อนๆ นัก เพราะถือเป็นการทดลองในคนเป็นครั้งแรก

 

            เขาเชื้อเชิญแขกผู้มาเยือนเข้ามาในบ้าน  ต่อมาจึงให้ทีมงานของเขานำสิ่งหนึ่งออกมา เจ้าสิ่งนี้มีลักษณะเป็นของเหลว ซึ่งได้มาจากไขสันหลังของกระต่ายตัวหนึ่งที่ตายไปเมื่อ 15 วันก่อน เขาและทีมงานจัดแจงฉีดเจ้าสิ่งนี้ให้หนูน้อยเพียงหนึ่งเข็ม และฉีดเพิ่มอีกในวันถัดๆ ไปจนครบ 14 เข็ม

              เมื่อ 100 กว่าปีก่อน คนที่ติดเชื้อโรคกลัวน้ำหรือพิษสุนัขบ้าแล้ว ต้องเรียกว่าเสียชีวิตอย่างเดียว (เหมือนกับคนที่เป็นเอดส์ในสมัยนี้) แต่หนูน้อยไมสเตอร์สามารถรอดชีวิตมาได้ราวกับปาฏิหาริย์และมีสุขภาพแข็งแรง สิ่งที่ฉีดในวันนั้น ก็คือเชื้อไวรัสสาเหตุโรคที่ทำให้อ่อนแอลงไปมากแล้ว หรือที่เรียกว่า "วัคซีน" นั่นเอง สำหรับสาเหตุที่ต้องฉีดวัคซีนถึง 14 เข็มก็เพราะต้องใช้เวลาในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค ชนิดนี้นี้ขึ้นมา เหตุการณ์ในครั้งนั้นนับว่าเป็นการทดลองวัคซีนในมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก แม้จะเป็นการเสี่ยงไม่น้อยเลย แต่เจ้าของบ้านก็ตัดสินใจเสี่ยง และพบว่าได้ผลดีจริงๆ 

 

             สำหรับเจ้าของบ้านที่ทดลองฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคนนั้นก็คือ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ผลงานด้านวัคซีนของปาสเตอร์ในครั้งนั้น ช่วยเบิกทางสู่แพทยศาสตร์สาขา "วิทยาภูมิคุ้มกัน" (immunology) ให้ก้าวหน้าจนถึงทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ในยุคต่อๆ มาได้ประยุกต์ใช้หลักการของปาสเตอร์ผลิตวัคซีนชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันโรคทั้งในสัตว์และคนหลายชนิดดังเช่นที่เราเห็นในปัจจุบัน อันตรายของโรคพิษสุนัขบ้าและโรคอื่นๆ ต่อมนุษย์จึงลดลงอย่างรวดเร็ว ต้องถือว่า โลกเป็นหนี้บุญคุณ หลุยส์ ปาสเตอร์อย่างมากทีเดียว
             ตลอดชีวิตของปาสเตอร์ทุ่มเทให้กับการทำงานซึ่งต่อมาเป็นที่ทราบกันว่า งานที่ปรากฎล้วนเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก ปาสเตอร์ศึกษาจนรู้ลึกในเรื่องต่างๆ และสำเร็จได้เพราะมีความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองเป็นเหตุจูงใจ ไม่เพียงเท่านั้นเขายังอยากให้งานของเขาเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย เขาเคยเขียนบันทึกไว้ว่าหลักการทำงานของเขาก็คือ  “Do not put forward anything that you cannot prove by experimentation” หรือ "อย่าเชื่อในสิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์" เขาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2438 ในประเทศฝรั่งเศส ขณะมีอายุได้ 73 ปี 

            ปาสเตอร์เกิดที่เมืองโดเล ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2437 บิดาเป็นช่างฟอกหนังชื่อ จีน โจเซฟ ปาสเตอร์ เคยเป็นทหารผ่านศึกสมัยพระเจ้านโปเลียน ครอบครัวมีฐานะยากจน ในช่วงประถมปาสเตอร์ไม่ใช่คนที่สนใจเรียนมากนัก ชอบยิงนกตกปลาเหมือนเด็กทั่วไป  เมื่อเข้าเรียนในระดับมัธยมปลายกลับมีฝีมือในด้านขีดๆ เขียน สามารถวาดรูปเพื่อนๆ ได้สวยงามเหมือนมืออาชีพ  หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาต้องเป็นจิตรกรมือเอกแน่ๆ  แต่เมื่อเรียนไปเรียนไป ปาสเตอร์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบสักที จนบิดารู้สึกกังวลต่ออนาคตของปาสเตอร์ ความหวังสูงสุดของผู้เป็นบิดาในขณะนั้น ขอเพียงลูกเรียนจบ มีอาชีพเป็นครู และอยู่ใกล้ๆ พ่อก็พอแล้ว  ต่อมาเมื่อเขาได้มีโอกาสศึกษาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ ปาสเตอร์กลับพุ่งความสนใจไปที่วิชาเหล่านี้โดยเฉพาะวิชาเคมีเป็นพิเศษ
           ชีวิตของปาสเตอร์เริ่มผกผันเมื่อครูใหญ่ของโรงเรียนเห็นแววฉลาดทางด้านวิทยา ศาสตร์ของเขา จึงแนะนำให้ไปสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อที่คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ใน the Ecole Normale Sup rieure  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากในกรุงปารีส  และที่นี่เองคือสถานที่ที่บ่มเพาะและจุดประกายความเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้กับ เขา ซึ่งต่อมาทำให้เขากลายเป็นบิดาแห่งจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน และเป็นนักวิทยาศาสตร์ของโลก

 

           ภายหลังจากสำเร็จปริญญาตรีแล้ว ปาสเตอร์ในวัย 26 ปีเริ่มทำงานวิจัยด้านเคมีที่ห้องปฏิบัติการ Antoine Balard โดยเน้นศึกษาโครงสร้างโมเลกุลของผลึกอินทรียสาร ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่ของสาขาเคมีที่เรียกว่า คริสตัลโลกราฟี (Crystallography) ซึ่งขณะนั้นมีผู้ทำการวิจัยไม่มากนัก  ผลงานสำคัญชิ้นแรกของปาสเตอร์คือการค้นพบว่า กรดตาร์ตาริก (tartaric acid) ซึ่งมีสูตรโมเลกุลเหมือนกัน (ประกอบด้วย อะตอมชนิดต่างๆ เหมือนกันในจำนวนที่เท่ากัน) มีสูตรโครงสร้างเหมือนกัน แต่กลับมีการจัดเรียงตัวแตกต่างกันซึ่งเรียกว่า ไอโซเมอร์ (isomer) โดยไอโซเมอร์ของอินทรีย์สารนี้จะเป็นภาพในกระจกซึ่งกันและกันหรือกลับซ้าย ขวากันที่เรียกว่า Mirror image จากผลของการศึกษานี้เองก่อให้เกิดศาสตร์ใหม่ทางด้านเคมีอีกสาขาคือ สเตริโอเคมี (stereochemistry) การค้นพบนี้นำชื่อเสียงมาสู่ตัวปาสเตอร์อย่างมาก

 

            ต่อมาปาสเตอร์ย้ายไปเป็นศาสตราจารย์วิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยแห่งเมือง Strasbourg และที่แห่งนี้นี่เองที่ปาสเตอร์ได้พบรักกับบุตรสาวคนที่สองของอธิการบดี ของมหาวิทยาลัย …มารี เลอรองต์ (Marie Laurent) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคู่ทุกข์คู่ยากตลอดชีวิตของปาสเตอร์

 

            ในวัยเพียง 32 ปี  ปาสเตอร์ก็เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ที่ University of Lille ในเมือง Lille ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตแอลกอฮออล์ของฝรั่งเศส  ในสายตาของลูกศิษย์ปาสเตอร์เป็นอาจารย์ที่ต่างจากอาจารย์คนอื่น เพราะนอกจากการสอนภาคทฤษฎีแล้ว เขายังชอบพานักศึกษาไปทัศนศึกษาในโรงงานต่างๆ  เพื่อรับทราบปัญหาจริง แล้วนำมาเป็นประเด็นถกเถียงกันในห้องเรียน  ในบรรดาเจ้าของโรงงานผลิตแอลกอฮอล์จากหัวบีทที่เขาพาลูกศิษย์ไปเยี่ยมชม มีโรงงานหนึ่งเป็นของนายบิโก (M. Bigot) ซึ่งบังเอิญเป็นบิดาของลูกศิษย์ปาสเตอร์ บิโกได้เข้ามาปรึกษาปาสเตอร์ในเรื่องที่โรงงานของเขาประสบปัญหาเกี่ยวกับผล ผลิตไม่เป็นไปตามความต้องการ  คือแทนที่จะได้แอลกอฮอล์กลับได้สารอื่นที่มีรสเปรี้ยวแทน บิโกได้ขอร้องให้ปาสเตอร์ช่วยหาสาเหตุของปัญหาดังกล่าวให้ด้วย  หลังจากได้รับการร้องขอ  ปาสเตอร์ได้นำตัวอย่างจากโรงงานมาศึกษาผ่านกล้องจุลทรรศน์  ในที่สุดเขาก็สรุปว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของโรงงานมีรสเปรี้ยวก็ เนื่องมาจากสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วหรือจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในระหว่างกระบวน การผลิต ต่อมาเขาก็นำน้ำนม น้ำส้มสายชูที่เสียมาศึกษาผ่านกล้องจุลทรรศน์ก็พบจุลินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ เช่นกัน

3 ปีต่อมา เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการด้านการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของ Ecole Nomale ในปารีสอีกตำแหน่ง


 

หน้าที่ 2 - ทฤษฎีเชื้อโรค
 

            ในสมัยนั้น นักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดมาจากสิ่งไม่มี ชีวิต ไม่ใช่โดยวิวัฒนาการ เช่น เชื่อว่าปลาเกิดมาจากโคลนตม หนอนเกิดจากกองเสื้อผ้าที่หมักหมม ซึ่งเรียกแนวคิดนี้ว่า "Spontaneous generation" แต่ปาสเตอร์ไม่เชื่อเช่นนั้น เขาเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตน่าจะเกิดจากสิ่งมีชีวิตด้วยกัน และเขาต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความเชื่อของเขาเป็นจริง เขาลงทุนปีนเขาไปศึกษาวิจัยถึงบนเถือกเขาแอลป์ จนในที่สุดสรุปว่าสิ่งมีชีวิตมิได้อุบัติขึ้นเอง จะต้องเกิดมาจากสิ่งมีชีวิตด้วยกัน การหมักเหล้า การบูดเน่า ก็เป็นผลของสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เห็นได้โดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา
           นักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมาวิจารณ์ว่า แนวคิดหรือสมมติฐานของปาสเตอร์นั้นเกินจริง ข้อสรุปของปาสเตอร์เป็นการคุยโม้โอ้อวดเท่านั้น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2407 ปาสเตอร์ได้พยายามอธิบายทั้งเหตุและผลจากการทดลองที่สนับสนุนแนวคิดของเขา ต่อหน้านักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่มหาวิทยาลัยปารีส  แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนก็ยังไม่ยอมรับแนวคิดของเขา

 

 

           ไม่นานนัก เขาก็เสนอแนวคิดอีกว่า คนเราที่เป็นโรคต่างๆ นั้น ก็เนื่องมาจากการติดเชื้อจุลินทรีย์ จนตั้งเป็นทฤษฎีเชื้อโรคหรือ Germ Theory of Disease อีกเหตุผลหนึ่งที่คาดเดากันว่า ทำให้ปาสเตอร์ทุ่มเทใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเชื้อโรคในคนก็คือ การที่บุตรสาวของเขา 2 คน เสียชีวิตจากโรคอหิวาตกโรค ซึ่งปาสเตอร์เข้าใจว่ามีจุลินทรีย์เป็นสาเหตุของโรค
            ในสมัยเดียวกับปาสเตอร์ โรเบิร์ต คอช (Robert Koch) ชาวเยอรมันผู้อ่อนวัยกว่าปาสเตอร์ ก็เป็นบุคคลแรกที่พิสูจน์ให้เห็นว่าแบคทีเรียบางชนิดเป็นสาเหตุของโรคติดต่อ และสามารถเพาะเลี้ยงด้วยอาหารในหลอดแก้วได้ เป็นที่น่าเสียดายที่นักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเทใจที่จะเชื่อ โรเบิร์ต คอช มากกว่าเพราะคอชจบมาทางด้านแพทยศาสตร์ ส่วนปาสเตอร์จบทางด้านเคมี หลายคนกล่าวว่า ทั้งสองเป็นเหมือนคู่แข่งกัน แต่จริงๆ แล้วไม่น่าจะใช่ เพราะต่างคนต่างก็ทำงานวิจัยของตน วันหนึ่ง ปาสเตอร์ในวัย 59 ได้มีโอกาสพบกับคอชในงานประชุมที่ลอนดอน ปาสเตอร์ได้ปรารภกับคอชว่า “งานของเราที่เดินมาในแนวทางเดียวกันกำลังก้าวหน้า และเป็นประโยชน์อย่างมาก

 

 

             งานที่นับว่าปาสเตอร์ภูมิใจอีกงานหนึ่งก็คือ พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปาสเตอร์หาสาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ ไวน์ในโรงงานต่างๆเสีย และมีรสชาติเพี้ยนจากที่ควรจะเป็น เนื่องจากทำความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของฝรั่งเศสที่เป็นประเทศที่ส่งออก ไวน์เป็นอย่างมาก ปาสเตอร์ในวัย 42 ทุ่มเทแรงกายและใจให้กับงานนี้มาก ถึงขนาดเข้าไปคลุกคลีในไร่องุ่นด้วยตนเอง จนในที่สุดพบจุลินทรีย์สาเหตุโรค อีกทั้งยังศึกษาจนทราบวิธีทำลายจุลินทรีย์นี้โดยให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส  เป็นเวลา 2-3 นาที  ต่อมานักวิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบการได้นำวิธีของปาสเตอร์มาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนม น้ำผลไม้ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม พาสเจอร์ไรเซชัน (Pasteurization) ซึ่งใช้กันแพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบัน

              ปาสเตอร์ได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาภูมิคุ้มกันก็เนื่องมาจากการศึกษา เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคในคนและสัตว์ เขาเชื่อว่า ถ้าเขาสามารถผลิตวัคซีนสำเร็จ จะสามารถช่วยชีวิตคนและสัตว์ได้มากมาย อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ไม่เชื่อมือของปาสเตอร์ซึ่งไม่มีความรู้ ทางด้านการแพทย์เลย ด้วยเหตุนี้เอง ปาสเตอร์จึงพยายามลบจุดด้อยของตน โดยการคัดสรรนายแพทย์หนุ่ม 2 คน ซึ่งมีความสามารถสูงเข้าร่วมทีมกับเขา
              ในปีพ.ศ. 2424 ปาสเตอร์และทีมงาน ประกาศว่าค้นพบวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ไก่ และโรคแอนแทรกซ์ แต่เหตุการณ์ก็เหมือนเช่นเคย หลายคนกล่าวว่าเขาคุยโม้โอ้อวด จนในปีถัดมาเขาก็พิสูจน์ความเชื่อของเขาโดยทดลองฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอ นแทรกซ์ในสัตว์ ผลออกมาเป็นไปตามที่ปาสเตอร์คาดหมาย หนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษถึงกับยกย่องปาสเตอร์ว่าเป็น “one of the Scientific glories of France” ทีเดียว
              ภายหลังประสบความสำเร็จกับวัคซีนในสัตว์ เขาก็ใช้หลักการเดียวกันในการศึกษาวัคซีนในคน โดยเริ่มต้นด้วยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพราะในขณะนั้น มีผู้เป็นโรคนี้จำนวนมาก เขาและทีมงานทดลองวัคซีนในสุนัขจำนวน 50 ตัว และประสบผลสำเร็จ ต่อมาด้วยเหตุบังเอิญทำให้มีการทดลองฉีดวัคซีนให้กับหนูน้อยไมสเตอร์ และประสบความสำเร็จ เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วฝรั่งเศสและยุโรป

              แม้ภาพรวมของปาสเตอร์คือการประสบความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างมากมาย แต่เขาก็เป็นปุถุชนธรรมดาทั่วไปที่ต้องพบกับความผิดหวังบ้าง ในช่วงหนึ่งของชีวิตเขาถูกกดดันจากคนในสังคมอย่างหนัก เมื่อทดลองฉีดวัคซีนให้กับเด็กหญิงคนหนึ่งที่ผู้ปกครองแจ้งต่อเขาว่าถูก สิงโตที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด  อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สิงโตตัวที่กัดเด็กคนนี้ไม่ได้มีเชื้อพิษสุนัขบ้าจริง ดังนั้นจึงเท่ากับว่า วัคซีนที่เขาฉีดเข้าไปเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กหญิงคนนี้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ขึ้นมา
           …ปาสเตอร์ยืนเฝ้า เด็กหญิง อยู่ข้างเตียงจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ภาพของหนูน้อยที่ดิ้นทุรนทุรายน้ำลายฟูมปากติดตาปาสเตอร์อยู่เป็นเวลานาน ผู้ใกล้ชิดของปาสเตอร์บันทึกไว้ว่า พอปาสเตอร์เดินพ้นบ้านของเด็กหญิงผู้เคราะห์ร้ายคนนั้นมาได้ไม่ถึงเสี้ยว นาที เขาก็ปล่อยโฮออกมา และร้องไห้อย่างหนักมาตลอดทาง จากเหตุการณ์นี้ช่วยตอกย้ำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ยิ่งไม่เชื่อฝีมือ ของปาสเตอร์มากขึ้น บทเรียนราคาแพงครั้งนี้ช่วยสอนให้ปาสเตอร์รู้ว่า แม้เขาจะเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าใช่ก็ตาม แต่สิ่งนั้นก็ต้องกระทำอย่างรอบคอบด้วย บทเรียนอีกอย่างที่เขาได้รับจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ ความมั่นใจในตนเองว่าตัดสินใจถูกเพราะไม่เคยตัดสินใจผิดสักครั้ง และไม่มีใครมาหยุดเขาได้ อาจนำความหายนะมาสู่ตัวเขาหรือผู้อื่นได้ ความผิดพลาดในครั้งนั้นจึงเป็นความผิดพลาดที่ปาสเตอร์ไม่ยอมให้เกิดขึ้นมา อีกตลอดชีวิตของเขา

             ตลอดระยะเวลาที่ทุ่มเทให้กับงานกว่า 35 ปี ปาสเตอร์มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์มากมาย หลายคนในรัฐบาลฝรั่งเศสเห็นความสำคัญของสิ่งที่เขาทำ จึงผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันปาสเตอร์ในกรุงปารีสขึ้นใน พ.ศ. 2431 งานในระยะแรก คือการค้นคว้าวิจัยเรื่องวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต่อมามีการขยายขอบเขตงานวิจัยในสถาบันฯ ออกไปหลายด้านและมีสถาบันเครือข่ายในหลายประเทศ ปัจจุบันงานวิจัยของสถาบันฯ ครอบคลุมทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งด้านจีโนมด้วย
              ในช่วงปลายชีวิตปาสเตอร์ต้องเจ็บป่วยด้วยสาเหตุเส้นเลือดในสมองแตกเป็นเหตุ ให้ร่างกายซีกซ้ายทำงานได้ไม่ปกติ  ทั้งๆ ที่มีอายุร่วม 73 ปีแล้ว แถมมีสภาพกึ่งอัมพาต แต่กระนั้นเขาก็ยังอุทิศชีวิตการทำงานให้กับสถาบันแห่งนี้จวบจนกระทั่งถึง แก่กรรม ศพของเขาฝังไว้ในสุสานหินอ่อนในสถาบันปาสเตอร์นี่เอง

 

              โดยภาพรวมแม้จะมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่รักปาสเตอร์ เพราะคิดว่าปาสเตอร์เป็นคนดื้อรั้น  เป็นคนที่มีความรู้ทางเคมีแต่ทำวิจัยทางชีวภาพได้  คนที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น คนฉลาด คนเก่ง คนมีความคิดต่างๆ นานา แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับว่า เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เฉลียวฉลาดมาก เป็นคนที่มีอิทธิพลทางด้านวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสในขณะที่เขายังมีชีวิต อยู่  และเป็นนักวิทยาศาสตร์ของโลก ขณะที่เขาเหลือแต่ชื่อและผลงานทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง

 

หากมองในอีกมุมหนึ่งปาสเตอร์ก็เป็นบุคคลที่มีคนรักและเทิดทูนเขามากจนถึงกับยอมสละชีวิตของตัวเองเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของเขาไว้

 

…จากบันทึกทางประวัติศาสตร์พบว่า นายโจเซฟ ไมสเตอร์ อายุ 54 ปี พนักงานเฝ้าประตูของสถาบันปาสเตอร์ และเป็นผู้ที่ปาสเตอร์ตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เมื่อวัยเด็ก นั้น ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เมื่อถูกทหารเยอรมันที่บุกกรุงปารีสบังคับให้เปิดสุสานของคนคนหนึ่ง


 

*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา เท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและแหล่งข้อมูลทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา
สงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
ท่านสามารถนำเนื้อหาในส่วนบทความไปใช้ แสดง เผยแพร่ โดยต้องอ้างอิงที่มา ห้ามใช้เพื่อการค้าและห้ามดัดแปลง
Credit: วิชาการดอดคอม
#วิทยาศาสตร์
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
11 ก.ค. 54 เวลา 06:02 2,943 2 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...