รู้จัก 'ช้างน้าว' ไหม?
ไม่ได้จะพาไปรู้จักกับช้างพันธุ์ไหน แต่คือชื่อของพรรณไม้ชนิดหนึ่ง และเป็นต้นไม้และดอกไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร "ต้นช้างน้าว"
ต้นช้างน้าว เป็นพรรณไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ประเภทไม้ผลัดใบ แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ทรงพุ่มกลม มีลำต้นสูง 3-8 เมตร มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดมุกดาหาร มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น ภาคกลางเรียก กำลังช้างสาร ระนองเรียก กระแจะ จันทบุรีเรียก ขมิ้นพระต้น ทางเหนือเรียก ตาลเหลือง สามารถทนไฟป่าได้ดี
ลักษณะทั่วไปของต้นไม้ชนิดนี้ ตามปลายกิ่งของต้นจะมีกาบหุ้มตาที่แข็งและแหลม ส่วนใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอกเรียงแบบสลับ ขอบขนานใบ กว้าง 4 - 7 ซม. ยาว 8 - 18 ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน โคนใบสอบแหลม ขอบหยักและถี่ แผ่นใบเรียบเกลี้ยงเป็นมันทั้ง 2 ด้าน ดอกมีสีเหลือง ออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งและปลายยอด มีดอกย่อย 2-8 ดอก เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 ซม. ออกดอกช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. หลุดร่วงได้ง่าย ดอกจะบานอยู่ 4-7 วัน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ส่วนใหญ่ผลัดใบก่อนแล้วออกดอกพร้อมกันทั้งต้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ผลกลม เมื่อสุกมีสีดำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ติดอยู่บนฐานรองดอกสีแดง มีเมล็ด 1 - 3 เมล็ด สีเขียว เมื่อแก่เต็มที่เมล็ดมีสีแดง
ต้นไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือ ปักชำกิ่งก็ได้ ปลูกได้ดีในสภาพดินทุกชนิด โดยต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ชอบแดดจัด สามารถทนแล้งได้ดี ส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ก็มีประโยชน์อื่น ๆ เช่น ราก มีประโยชน์ในการใช้ขับพยาธิ แก้น้ำเหลืองเสีย เปลือกต้นมีรสขม นำไปปรุงยาช่วยให้เจริญอาหาร