กลกวนผวนคำ ชวนให้คิด ชิดให้ครวญ
สอนคำผวน ชวนให้งง และสงสัย...เริ่มหัดใหม่ ไม่ควรเกิน สามพยางค์
สระท้าย ใส่อักษรแรก แทรกแทนกัน...สลับมัน แล้วผันเสียง เรียงร้อยคำ
บันดาลใจใน"ควนผำ" ต้องลามก...สกปรก คำหวาดเสียว เปรี้ยวคมขำ
เริ่มจาก "หมีสลับหอย" ฮิตน้ำคำ...ฝึกประจำ จะเก่งได้ดั่งใจปอง...
(๒๑ ส.ค.๕๓.โดย “ครูเจ้าคุณอ๋วย”)
หลักฐานตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ หน้า ๕๔๖ ให้ความหมายไว้ว่า “ผวน ก.หวน,กลับ เช่น ผวนคำ เรียกคำที่พูดทวนกลับเช่นนั้น” และในหน้าที่ ๒๔๙ ให้ความหมายว่า “คำผวน น. คำที่พูดทวนกลับได้ เช่น ตกที่อิฐ ผวนเป็นติดที่อก”
“คำผวน” ในสมัยก่อน สังคมมักมองว่าเป็น “คำไม่สุภาพ” “หยาบคาย” “หยาบโลน” “ลามก” หรือ “ต้องห้าม” ก็เนื่องมาจากนิยมผันคำให้กลายกลับไปเป็นคำที่ล่อแหลม โดยมากมักเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ เช่นอวัยวะเพศทั้งของชายและหญิง การร่วมรัก รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่กระเดียดไปทางเชิงสังวาส…
ทั้งที่อันที่จริงคำผวนสามารถผวนได้แม้กระทั่งคำที่ไพเราะเสนาะหู ตลอดจนคำสุภาพดีๆ ตัวอย่างเช่น…
“แร่มัก=รักแม่”
“พักรบ=พบรัก”
“รักพา=ลาพัก”
“อรีด่อย=อร่อยดี”
“สวีดัด=สวัสดี” เป็นต้น
หรือแม้แต่ชื่อคนหรือนามปากกาคนดังๆ ก็สามารถนำมาผวนกันเล่นได้ เช่น
“จักร ภูมิสิทธิ์=จิตร ภูมิศักดิ์”
“คิดลึก=คึกฤทธิ์”
“โต้ ชีริก=ติ๊ก ชีโร่”
“นมอุโด๊ต=โน๊ต อุดม”
“บ้า เดอะสตรี=บี้ The Star” เป็นต้น
และที่แน่นอนคำทุกคำสามารถผวนได้หมด (ยกเว้นการผวนอักษรเสียงเดียวกันทำไม่ได้) ขึ้นอยู่กับว่าผวนแล้วจะได้ความหมายใหม่หรือไม่นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง หากผู้คิดคำผวนสามารถคิดคำที่มีความหมายหรือใกล้เคียงความหมายได้ทั้งสองด้าน จะถือว่าเป็น “ยอดนักผวน”ที่แท้จริง…
สาเหตุที่คนนิยมผวนคำเป็น “คำต้องห้าม” วิเคราะห์ได้ว่ามีเหตุผลสองข้อดังนี้…
๑.คำหวาดเสียว หยาบคาย และลามกต่างๆ คนเราถูกสังคมกำหนดว่าไม่ควรพูด จึงไม่สามารถพูดเปล่งเสียงออกมาตรงๆได้ จึงน่าจะเก็บกดไว้ และปล่อยอารมณ์เหล่านั้นออกมาด้วยวิธีผวนคำเล่นๆ ๒.สนุกสนาน เหมือนการเล่นเกมส์ สร้างความเพลิดเพลิน ชวนหัว และคลายเครียดได้
ดังนั้นการนำคำผวนมาใช้ก็ควรต้องดูกาละเทศะเสียหน่อย หากใช้เพื่อความบันเทิงในกลุ่มเพื่อนฝูงในที่รโหฐานส่วนตัวก็ไม่ใช่ปัญหาแต่ประการใด หากแต่ถ้าจะนำมาใช้ผ่านสื่อหรือในที่สาธารณะต้องใคร่ครวญให้ดีเสียก่อนว่าสังคมที่จะนำคำผวนไปเผยแพร่นั้น เขายอมรับกันได้หรือไม่ หากเขารับกันไม่ได้ผู้พูดเองนั่นแหละจะกลายเป็นตัวตลกไป…
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่ามีมาแต่โบราณนับจากที่มีภาษาไทยใช้กันแล้ว โดยเฉพาะในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นสมัยที่ถือหลักภาษาไทยกันอย่างเคร่งครัด ครูบาอาจารย์หรือผู้หลักผู้ใหญ่ก็มักจะคอยห้ามปรามมิให้เด็กหรือเยาวชนได้ใช้คำผวน สังคมก็ยิ่งมองคำผวนเป็นสิ่งต้องห้าม…(ซึ่งจริงๆแล้วพวกผู้ใหญ่เหล่านั้นก็น่าจะชอบเล่นด้วยเหมือนกัน)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางราชการ คำผวนถูกกำหนดในข้อบัญญัติว่าห้ามใช้โดยเจตนา แต่ก็มีเล็ดลอดออกมาให้เห็นแบบไม่เจตนาก็บ่อยๆ ซึ่งราชการเองก็คงเห็นเป็นเพียง “ลหุโทษ” เท่านั้น…
มาถึงในสมัยปัจจุบันยังคงเป็นกฏของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ห้ามพิธีกร นักแสดง หรือผู้ประกาศใช้คำผวนออกอากาศ แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าไม่ค่อยจะเคร่งครัดกันนัก เพราะยังมีคำผวนเล็ดลอดออกมาอยู่อย่างเนืองๆ โดยเฉพาะในละครและรายการตลก…
อีกหนึ่งความพิเศษของ “คำผวน”ที่คนไทยควรภาคภูมิใจ ก็คือ คำผวนไม่ได้มีในทุกภาษา กล่าวคือเป็นการผวน “สลับเสียง”ระหว่างคำหรือพยางค์หน้ากับพยางค์หลัง และได้ความหมายใหม่…
“คำผวน”อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอทั้งไม่ตั้งใจหรือเจตนาให้เป็นไปเช่นนั้น เช่นพูดคำว่า “ตางตะหริด” แทนที่จะพูดว่า “ติดตะราง” พูดคำว่า “มาลันดูแก” แทนที่จะพูดว่า “มาแลดูกัน” เป็นต้น ซึ่งโดยมากมักพูดกันแบบ “ทีเล่นทีจริง”เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในบทสนทนานั้นๆเสียมากกว่าเป็นจริงเป็นจัง…
สำหรับผู้ที่รักภาษาไทยเช่นผู้เขียนแล้ว มองว่าปัจจุบันคนนิยมเล่นผวนคำน้อยลง โดยประเมินจากที่ เวลาเขียนหรือพูดคำผวนออกไปเพื่อสื่อสารกับคนอื่นๆ แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ค่อยเข้าใจ และไม่สามารถผวนกลับได้เลย จำเป็นต้องให้เราผวนกลับให้เขาฟัง…ซึ่งนั่นถือเป็นการ “เสียอรรถรส”ในการเสพคำผวนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเสพคำผวนนั้น จำเป็นต้องผวนกลับในใจด้วยตัวผู้ฟังเอง พร้อมกับตีความหมายนั้นๆแล้วขบคิดไปด้วยจึงจะสนุกสนาน โดยเฉพาะคำที่ล่อแหลมเกี่ยวกับทางเพศ ผู้ที่พูดไม่สามารถที่จะผวนกลับให้ผู้ฟังได้เลย…
“คำผวน” นอกจากจะเป็นงานประพันธ์อย่างหนึ่งแล้ว ผู้เขียนเองยังมองว่าเป็น “การละเล่น” เพื่อคลายเครียดอย่างหนึ่งของไทยเรา เป็น “กลบท”เช่นเดียวกับการเขียน “ร้อยกรอง”ต่างๆ ซึ่งมองว่าไม่แตกต่างจากการเล่น Crossword ของฝรั่ง
เพราะเนื่องจากผู้เขียนหรือผู้คิดคำผวนเหล่านี้จะต้องใช้สมาธิและปัญญาแล้ว ยังต้องใช้จินตนาการร่วม และจำเป็นที่สุดคือต้องมีความรอบรู้เรื่องคำแหละความหมายเป็นอย่างดี จึงจะเป็น “กูรู” หรือ “นักผวน”ที่ยอดเยี่ยม…
“คำผวน” จึงเป็นสิ่งที่ควรจะอนุรักษ์ไม่ให้หายสาปสูญ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรควบคุมการนำมาใช้ให้ถูกกาละเทศะ กล่าวคือคำผวนเป็น “ดาบสองคม” มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง
คุณหลวงอัตถโยธินปรีชา ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “คติภาษาไทย” ว่า วิธีสังเกตุคำผวนนั้น ได้วางระเบียบไว้เรียบร้อย ดังนี้…
๑.คำในพวกที่มีสำเนียงเป็น “สระอี” เช่น ตี ดี หวี ผี สี ฯลฯ จงระวังอย่าให้คำพวกที่มีสำเนียงเป็นตัว ห.หีบ หรือ ฮ.นกฮูก เข้ามาติดต่อข้างหน้าหรือข้างหลังคำนั้นได้ (คือเมื่อผวนแล้วจะกลายเป็นคำซึ่งหมายถึงอวัยวะเพศหญิงนั่นเอง)
๒.คำจำพวก “สระอะ” มีตัวสะกด เช่น กัก ดัก สัก หัก ผัก ฯลฯ จงระวังอย่าให้คำที่มีสำเนียงเป็นตัว บ.ใบไม้ เข้ามาติดต่อข้างหน้าหรือข้างหลังคำนั้นๆ (คือเมื่อผวนแล้วจะกลายเป็นคำซึ่งหมายถึงอวัยวะเพศชายนั่นเอง)
๓.คำจำพวก “สระออ” มีตัว ก.ไก่ สะกด เช่น ออก บอก ดอก ฯลฯ จงระวังอย่าให้คำพวกที่มีสำเนียงเป็นตัว ถ.ถุง และ ท.ทหาร เข้ามาติดต่อข้างหน้าหรือข้างหลังคำนั้นๆ (คือเมื่อผวนแล้วจะกลายเป็นคำซึ่งหมายถึงการกระทำบางอย่างกับอวัยวะเพศชายนั่นเอง)
๔.คำจำพวก “สระอู” มีตัว ด.เด็ก สะกด เช่น อูด ดูด ปูด ฯลฯ จงระวังอย่าให้คำพวกที่มีสำเนียงเป็นตัว ต.เต่า เข้ามาติดต่อข้างหน้าหรือข้างหลังคำนั้นๆ (คือเมื่อผวนแล้วจะกลายเป็นคำซึ่งหมายถึงอวัยวะส่วนก้นนั่นเอง)
๕.คำจำพวก “สระเอะ” มีตัว ด.เด็ก สะกด เช่น เล็ด เจ็ด เผ็ด เอ็ด ฯลฯ จงระวังอย่าให้คำพวกที่มีสำเนียงเป็นตัว ย.ยัก หรือ ญ.หญิง เข้ามาติดต่อข้างหน้าหรือข้างหลังคำนั้นๆ (คือเมื่อผวนแล้วจะกลายเป็นคำซึ่งหมายถึงการร่วมเพศนั่นเอง)
๖.คำจำพวก “สระแอ” มีตัว ด.เด็ก สะกด เช่น แดด แปด แผด แรด แสด ฯลฯ จงระวังอย่าให้คำพวกที่มีสำเนียงเป็นตัว ต.เต่า เข้ามาติดต่อข้างหน้าหรือข้างหลังคำนั้นๆ (คือเมื่อผวนแล้วจะกลายเป็นคำซึ่งหมายถึงส่วนหนึ่งของอวัยวะเพศหญิงนั่นเอง)
๗.คำจำพวก “สระอัว” มีตัว ย.ยักษ์ สะกด เช่น ออก บอก ดอก ฯลฯ จงระวังอย่าให้คำพวกที่มีสำเนียงเป็นตัว ข.ไข่ หรือ ค.ควาย ค.คน ฆ.ระฆัง เข้ามาติดต่อข้างหน้าหรือข้างหลังคำนั้นๆ (คือเมื่อผวนแล้วจะกลายเป็นคำซึ่งหมายถึงอวัยวะเพศชายนั่นเอง)
จะเห็นได้ว่าทั้งเจ็ดข้อที่มีในตำราภาษาไทยของคุณหลวงฯ ล้วนเขียนมาเพื่อให้ระวัง การผวนไปพาดพิงกับอวัยวะเพศและการร่วมเพศเป็นหลัก… แต่เนื่องจากที่คำผวนเป็นเหมือน“ดาบสองคม” เจ็ดข้อที่กล่าวมานี้อาจใช้เป็นตำราสำหรับมือใหม่ใช้ในการหัดเริ่มเขียนคำผวนก็ได้เช่นกัน
เมื่อหันกลับมามองอีกด้านหนึ่งของ “คมดาบ” หากจะเริ่มหัดเขียนคำผวนแบบลามกๆ ก็ไม่ยากเลย ก็แค่ตั้งโจษย์เป็นคำไม่สุภาพ คำลามก คำที่เรียกอวัยวะเพศชายหญิง คำที่แปลว่าร่วมรัก ร่วมเพศ หรืออื่นใดที่จะคิดกันได้ แล้วลองหาคำอีกหนึ่งคำมานำหน้าหรือต่อท้าย โดยมีคำกริยาอยู่ตรงกลาง แล้วลองผวนดู เมื่อได้ความหมายทั้งสองด้านจึงจะถือว่าเป็นคำผวนที่สมบูรณ์แบบ เช่น…
(ขออภัยที่ไม่สามารถเขียนคำลามกนั้นๆได้เต็ม จำเป็นต้องใช้จุดๆๆ)
ห เปลี่ยน ค…ย >>>>>>> หวย เปลี่ยน คีย์
ค…ย น่า สน >>>>>>> คน หน้า สวย
แต…โดน ดูด >>>>>>> ตูด โดน แดด
เย็… แก้ คัน >>>>>>>>>> ยันต์ แก้ เคล็ด
…ี ปรารถนา ดอ >>>>>>>> หอ ปรารถนา ดี
ลิ้น จ่อ ที่ …ี >>>>>>>>>>>> ลิ้นจี่ ที่ หอ
ค…ย ร้อน รน >>>>>>>>>> คน ร้อน รวย
หรืออีกวิธีการหนึ่ง คือเอาคำที่ไม่ลามกที่เราต้องการมาตั้งเป็นโจษย์ แล้วพยายามหาคำที่สามารถผวนกลับไปเป็นคำลามก เช่น…
สวย ริม คลอง >>>>>>>>>>> สอง ริม ค…ย
หาญ มโห รี >>>>>>>>>>>>> ห มโห ฬาร
เป็ด น้ำ เยอะ >>>>>>>>>>> >>เปรอะ น้ำ เย็…
หอย ไม่มี หมี >>>>>>>>>> >>ห ไม่มี หม..ย
เจ็ด เรือ ยอร์จ >>>>>>>>>>>>>จอด เรือ เย็…
หอม น่าดม ดี >>>>>>>>>>>>>>>ห น่าดม ดี
ดี ข้าง หอ >>>>>>>>>>>>>>>> ดอ ข้าง ห
ผี จับ หัว >>>>>>>>>>>>>>>>>ผัว จับ ห
จากตัวอย่างข้างบน จึงมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากฝึกเล่นคำผวน หรือ “มือใหม่หัดผวน”ได้ดังนี้…
๑.ควรหัดสลับอักษรพยางค์หน้ากับพยางค์หลัง ให้เคยชิน
๒.โปรดสังเกตุคำตรงกลางจะอยู่นิ่งๆไม่ได้ผวนไปด้วยเลย บางคนสับสนคิดว่าคำตรงกลางต้องผวนด้วย จึงคิดว่ามันยาก
๓.ฝึกใหม่ๆควรเริ่มที่ คำสองพยางค์ สามพยางค์ หรือไม่เกินสี่พยางค์ หากคล่องแล้วค่อยผวนประโยคยาวๆ (ในกรณีผวนประโยคยาวๆหากผู้ฟังไม่เข้าใจก็จะไม่สนุกเช่นกัน เพราะประโยคยาวๆมักเข้าใจยากกว่า) และ
๔.ถ้าจะฝึกเล่นคำผวน ควรล้างสมองตัวเองเสียก่อนว่า การเล่นกับภาษาแบบนี้ก็แค่ศิลปะการเล่นคำ แม้จะพาดพิงไปถึงเรื่องทางเพศบ้าง แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไรกันนักหนา ถ้ายังมัวเล่นไป อ่านไปแล้วยังอายหน้าแดง หรือยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับเรื่องคำผวน อยู่ล่ะก็ขอแนะนำว่าอย่าเล่นเลย เพราะมันจะไม่ “สะใจ”ครับ…
ในฐานะที่ผู้เขียนเองเป็นผู้ก่อตั้งเพจ “ร้อยกรองคะนองเพลงยาว”ใน Facebook ก็เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่า หากเรานำคำผวนมาเขียนเป็นบทร้อยกรองจะเป็นเช่นไร
ก็เลยเริ่มลองเขียนดู โดยเริ่มจาก “กลอนแปด” หรือ “กลอนเก้า” ซึ่งมีวรรคย่อยๆทีละสามพยางค์อยู่แล้วก็เลยลงตัวสำหรับการผวนเป็นวรรคๆไป
ปรากฏว่าเขียนได้ และค้นพบว่ากลอนผวนก็เป็นศิลปะด้านร้อยกรองอีกแบบหนึ่ง
และแถมยังมีผู้สนใจอ่านมากกว่าการเล่นคำผวนธรรมดาๆเสียอีก จึงนับว่า “กลอนคำผวน”แบบนี้เป็น “กลอนกลบท”อีกแบบหนึ่ง ในหลายๆกลบทที่มีปรากฏอยู่แล้วในตำราอยู่แล้ว
แต่ก็ยากกว่าการเขียนกลอนธรรมดาหลายเท่า เพราะจำเป็นต้องคิดกลับไปกลับมา กว่าจะได้คำที่ต้องการและเหมาะสมกับเนื้อความในกลอน ไหนจะต้องพะวงกับฉันทลักษณ์ไปพร้อมๆกันด้วย…
ตัวอย่างกลอนที่ผวนก็มีดังนี้…
ในวงการวรรณกรรมไทย มีวรรณกรรมเล่มหนึ่งชื่อว่า “สรรพลี้หวน”
เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นทางภาคใต้ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ประพันธ์ สันนิษฐานกันว่าคงจะเป็นปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา…
ลักษณะการประพันธ์ เป็นแบบ นิทานคำกลอน หรือ กลอนสุภาพหรือ กลอนแปดตามขนบนิยม แต่ในเนื้อหาเป็นคำผวนเกี่ยวกับเรื่องทางเพศและอวัยวะเพศ มีเนื้อหาชวนให้ขบขันมากกว่าก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศ มีความยาว 197 บท
ควรอ่านด้วยสำเนียงทางภาคใต้ จึงจะได้อรรถรสในสำเนียงคำผวนชัดเจนยิ่งขึ้น
ซึ่งในเนื้อหาดังกล่างเขียนค้างไว้เหมือนยังไม่จบสมบูรณ์…
สรรพลี้หวนสำนวนเก่าพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 โดยผู้ใช้นามปากกาว่า “ขุนพรหมโลก”
ดังตัวอย่างที่มานำเสนอไว้นี้...
สนใจอ่าน "สรรพลี้หวน"ฉบับสมบูรณ์ โปรดลิ้งค์ไปที่หน้านี้...http://www.facebook.com/note.php?note_id=248167251865992
ซึ่งผู้พิมพ์ให้ความเห็นไว้ว่า ผู้แต่งอาจเป็นชาวนครศรีธรรมราช แต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2425 - 2439 ต่อมามีผู้แต่งเลียนแบบขึ้นอีกหลายสำนวน ในหอพระสมุดเองมีหนังสือเรื่องหนึ่งชื่อ "ศัพท์ลี้หวน" ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน
นอกจากคำผวนนำไปประพันธ์เป็น “กลอน”ได้แล้ว ยังสามารถนำ “คำผวน”ไปประพันธ์ร้อยกรองในรูปแบบอื่นๆได้ทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของกวีแต่ละท่าน…
ในประวัติศาสตร์ ท่านสุนทรภู่บรมครูแห่ง “กลอนแปด”ได้ถูกสบประมาทว่าท่านนั้นแต่งเก่งได้แต่กลอน แต่ไม่สามารถแต่งโคลงได้ ท่านสุนทรภู่จึงบังเกิดความโกรธ แล้วก็ได้เขียนโคลงบทนี้ด่าผู้ที่กล่าวหานั้นไปดังนี้…
ขออ้างอิงถึงบทความของคุณหลวงอัตถโยธินปรีชา ท่านได้กล่าวไว้ว่า…
คำพูดที่พูดกันอยู่เสมอๆในชีวิตประจำวันกันจนคุ้นเคย แต่ถ้าลองผวนดูแล้วกลับกลายเป็นคำลามกอย่างไม่ตั้งใจ ท่านได้แนะนำว่าหากจำเป็นต้องใช้คำเหล่านี้อย่างเป็นทางการเช่น นำไปพูดผ่านสื่อ หรือพูดในที่สาธารณะ ก็ควรดัดแปลงเสียใหม่ให้เหมาะสม
มี๑๐คำอันตรายดังนี้…
๑. “ตากแดด” ควรใช้ว่า “ผึ่งแดด”
๒. “คนป่วย” ควรใช้ว่า “คนเจ็บ” “คนไข้” หรือ “ผู้ป่วย”
๓. “คุณสวย” ควรใช้ว่า “คุณงาม”
๔. “คุณด้วย” ควรใช้ว่า “คุณอีกคนหนึ่ง”
๕. “สี่หน” ควรใช้ว่า “สี่ครั้ง” “สี่คราว”
๖. “สี่แห่ง” ควรใช้ว่า “สี่ที่” “สี่ตำบล”
๗. “เจ็ดอย่าง” ควรใช้ว่า “เจ็ดประการ” “เจ็ดสิ่ง”
๘. “แปดตัว” ควรใช้ว่า “สี่ตัวสองหน” (แต่วลีนี้ก็สามารถผวนเป็น “สี่ตนสองหัว”ได้นะ)
๙. “สมควรด้วย” ควรใช้ว่า “สมควร” (ไม่ต้องมี “ด้วย”ก็ได้)
๑๐. “เห็นควรด้วย” ควรใช้ว่า “เห็นควร” (ไม่ต้องมี “ด้วย”ก็ได้)
ท้ายนี้ขอให้ท่านได้สนุกสนานกับการเล่น “คำผวน”อย่างสร้างสรรค์กันนะครับ
“เจ้าคุณอู๋”
๒๗ มิถุนายน ร.ศ.๒๓๐