ส้วมบิน (Flying latrines)
ส้วมบิน (Flying latrines) หมายถึงวัฒนธรรมที่พบในสลัมในอัฟริกา
คนถ่ายใส่ในถุงพลาสติก แล้วก็กำจัดโดยเอาไปโยนให้ไกลตัวเอง
หรือบ้านของตน แต่ก็ไปรบกวนที่อื่นๆ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในประเทศทางอัฟริกา
ดังประเทศ Uganda, Kenya, และ Tanzaniaจึงห้ามการผลิตและจำหน่ายถุงพลาสติกเข้าไปในสลัม
ในเมือง Nairobi เขามีคำเตือนว่า เมื่อเข้าไปเดินในสลัม
อย่าไปเหยียบถุงพลาสติก มันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า "บอมบ์" (Bomb) เพราะในสลัมในประเทศยากจนในเมืองใหญ่เหล่านี้
ไม่มีส้วมแบบใดๆใช้ ผู้คนจึงถ่ายใส่ถุงพลาสติก อาจเป็นกล่องนม
หรือขวดแตกๆ แล้วเอาไปทิ้งแบบให้ไกลๆตัว พ้นหน้าบ้านตนเอง
แต่ไปสร้างกลิ่นเหม็นในที่อื่นๆ
การระบายของโสโครกแบบนี้ เขาจึงเรียกว่า "ส้วมบิน" หรือ Flying toilets
หรืออุจจาระของมนุษย์ห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกจากการเหลือใช้
บางทีก็เรียกว่า Scud missiles หรือจรวดนำวิถี และนี้เป็นวัฒนธรรม
ของคนอัฟริกันที่ยากจนในเมืองใหญ่ ดังที่ Kibera ซึ่งมีสลัมที่มีคนอยู่
ถึงกว่า 500,000 ถึง 750,000 คน
มีบทความหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสลัมคีเบรา / Kibera ลองอ่านดูนะคะ....
แล้วจะรู้สึกว่าเมืองไทยของเราเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดเลย..
Get Organized for Human Rights
หากยืนมองจากสันรางรถไฟลงไป หลังคาของเพิงกระต๊อบนับหมื่นแสน
ที่แผ่กระจายเรียงรายเกือบสุดลูกตา คือภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า
ความกว้างขวางหนาแน่นของมันทำให้รู้สึกได้ว่า นี่ไม่ใช่ถิ่นฐานบ้านเรือน
ธรรมดา หากคือ เมืองสีน้ำตาลขนาดมหึมาที่อวดโอ่ตัวตนอยู่ใต้ฟากฟ้า
สีคราม และถ้าจะเปลี่ยนมุมแห่งการสัมผัสรับรู้ด้วยการพาสองขาเยาะเยื้อง
ลงไปเบื้องล่าง สิ่งที่รอให้พบให้เห็นก็คือ....
...ทางเปียกชื้นแฉะซึ่งคราคร่ำไปด้วยฝูงชนที่เดินขวักไขว่ยั้วะเยี้ยะ
พร้อมสรรพสำเนียงอันเอ็ดอึง เด็กน้อยผมหยิกหยองกำลังคลานคืบ
อยู่บนลานดิน ที่โตกว่าหน่อยก็วิ่งเล่นไล่กันไปมา กลุ่มสาวๆนั่งรอคิวรองน้ำ
อยู่ที่ก๊อกสาธารณะขณะที่หญิงวัยกลางคนหิ้วถังน้ำเดินเข้าไปในบ้านดิน
สานไม้ไผ่หลังซอมซ่อ แม่ค้าปลาเค็มอยู่ในลีลาโบกมือไม้เรียกลูกค้า
และปัดไล่ฝูงแมลงวันไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ยังมีบรรยากาศของร้านรวง
สารพัดชนิดที่ค้าขายกันตั้งแต่ ของกิน ของแห้ง ผักสด ผลไม้ หยูกยา
เสื้อผ้า น้ำมัน ถ่านฟืน วิทยุ ทีวี เครื่องเสียง เครื่องไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจ
บริการประเภทตัดผมเสริมสวย ร้านสุราบาร์เบียร์ และโรงฉายหนัง
ที่เก็บตังค์ค่าดูซีดีวีดีโอ...
บ่ายสามโมงเย็นของวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ผมเดินอยู่ใน “ คีเบรา / Kibera ” และพบตัวเองตกอยู่ในอาการตื่นตาตื่นใจกับสภาพสลัมที่มีขนาดใหญ่
ที่สุดในทวีปแอฟริกา จากปากคำโดยย่อของผู้นำชุมชน คีเบรา เป็นสลัมที่
“ มีชื่อมาจากภาษานูเบีย / Nubia ภาษาของชนเผ่าหนึ่งในประเทศซูดาน นูเบียแปลว่าป่า กำเนิดของชุมชนมาจากการบุกเบิกตั้งรกราก
ของทหารผ่านศึกซูดานที่ถูกเกณฑ์มาช่วยอังกฤษรบในเคนยา
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอสงครามจบทหารพวกนี้ไม่ยอมกลับบ้านเพราะตอนนั้นซูดานยังมีปัญหาภายใน อังกฤษจึงจัดที่จัดทาง
ในบริเวณนี้ให้อยู่ ซึ่งในขณะนั้นมีสภาพเป็นป่ารก
คีเบรา เริ่มมาหนาแน่นในช่วงปี 2523 ที่เริ่มมีการอพยพเข้าเมืองของชาวชนบทเคนยา
จากนั้นตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมา คีเบรา ก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นสลัม
ที่ใหญ่ที่สุดในเคนยาและในแอฟริกาตะวันออก ปี 2548 มีการจัดแบ่งเขตการปกครอง
ในคีเบราเป็น 3 เขต ( Kibera location , Line Saba location , Sara Ngdamb location ) ทั้งหมดครอบคลุมพื้นที่ราว 4 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากตั้งอยู่กลางเมือง
ใกล้ตลาด ใกล้แหล่งอุตสาหกรรม สามารถเดินไปทำงานโรงงานได้
คีเบราจึงเป็นแหล่งดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอยู่อาศัย เคนยามีชาวเผ่าทั้งหมด 42 เผ่า
แต่ที่คีเบรามีคนอยู่ 43 เผ่า คือรวมชนเผ่านูเบียของซูดานเข้าไปด้วย
ปัจจุบันมีประชากรในคีเบราราว 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่อาศัยในแบบผู้เช่า
ไม่ใช่เจ้าของบ้าน พวกเจ้าของบ้านโดยมากจะอยู่ข้างนอก เป็นพวกข้าราชการ
นักการเมือง ที่มีเอเยนต์ของตนไว้คอยเก็บค่าเช่าอยู่ในพื้นที่ ขนาดของห้องเช่า
คือกว้าง 10 ฟุต ยาว 10 ฟุต และในนั้นจะมีคนพักอาศัยเฉลี่ยถึง 7 คน ”
มีการซักถามแกนนำขณะเดินดูชุมชนว่า “ อะไรคือปัญหาหลักๆในคีเบรา ” และ “ ชาวบ้านจัดการหรือแก้ปัญหากันอย่างไร ” ซึ่งคำตอบที่ได้คือ
“ ปัญหาสำคัญสุดคือเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่นี่ขาดแคลนน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้าใช้ ถ้ามีก็แอบต่อแอบพ่วงกันเป็นส่วนน้อย
อีกปัญหาคือเรื่องส้วม ในคีเบราบ้านส่วนใหญ่ไม่มีส้วม
เพราะเป็นบ้านเช่า ตอนนี้ชาวบ้านกำลังทำโครงการส้วมสาธารณะ
มีกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันในชื่อ Tosha ทำโครงการส้วม
และที่อาบน้ำส่วนรวมเสร็จไปแล้วหนึ่งแห่งและกำลังก่อสร้าง
แห่งที่สองอยู่ โดยจะมีระบบนำของเสียจากการขับถ่ายมาหมัก
เป็นก๊าซชีวภาพไว้ขายราคาถูกให้ชาวบ้านไปใช้หุงต้ม
โครงการเหล่านี้เป็นการทำนำร่องเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ
ของคีเบรา
ด้วยทั้งเห็นด้วยตาและฟังด้วยหู ผมจึงมีความรู้สึกว่า สภาพที่นี่ช่างสาหัส
สากรรจ์จริงๆเมื่อเทียบกับสลัมในบ้านเราหรือในประเทศแถบเอเชีย
โดยเฉพาะปัญหาเรื่องส้วม ถือเป็นเรื่องระดับวิกฤตเลยทีเดียว
ถึงขนาดที่นักข่าวต่างประเทศเคยทำรายงานพิเศษเรื่อง “ Flying Toilet ”
หรือ ส้วมลอยได้ (การขับถ่ายใส่ถุงพลาสติกแล้วก็เขวี้ยงปาไปให้พ้นบ้าน
พ้นชุมชน) ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเผยแพร่สถานการณ์ความยากลำบาก
ในเรื่องสุขอนามัยของคนในคีเบรา
แม้ว่าคีเบราจะเต็มไปด้วยความลำบากแร้นแค้น ตั้งแต่เรื่องสภาพการอยู่อาศัยอย่างแออัดยัดเยียดและไม่มีความมั่นคง ความทุกข์ระทมจากการขาดแคลน
ระบบสุขอนามัย ไปจนถึงสภาวะปากกัดตีนถีบของผู้คนในทางเศรษฐกิจ
แต่ก็มีด้านดีๆเช่นกัน ผมได้เห็นถึงสัญชาตญาณการต่อสู้ดิ้นรนของชาวบ้าน
ที่นี่ เป็นต้นว่า ความพยายามสร้างงานสร้างรายได้ด้วยกิจการค้าขาย
ซึ่งมีให้เห็นตั้งแต่ระดับแบกะดินไปจนถึงปลูกสร้างเป็นร้านรวง
การขวนขวายหาน้ำดื่มน้ำใช้ การเสาะหาฟืนไฟมาใช้ในบ้านเรือนด้วยวิธีการต่างๆ เพียงแต่สัญชาตญาณแห่งการเอาตัวรอดดังกล่าวยังเป็นแค่เรื่องราว
ในระดับปัจเจกชน ยังไม่ได้พัฒนาไปสู่การเป็นพลังในระดับของกลุ่มองค์กร
ที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาของชุมชน
อย่างไรก็ตามถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว ตัวอย่างงานของกลุ่มTosha
ในโครงการด้านส้วมและที่อาบน้ำชุมชน ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ
ในเรื่องของการสร้างสรรค์พลังชุมชน แต่มันยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบ
กับปัญหาอีกมากมายในคีเบรา ความเห็นของผมก็คือ ทำอย่างไรที่จะ
แปรเปลี่ยนสัญชาตญาณการต่อสู้ในระดับปัจเจกของผู้คนให้กลายเป็นพลัง
เชิงอำนาจของชุมชน เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่ง “ สิทธิมนุษยชน ”
ในทุกมิติ ไม่ว่ามันจะหมายถึง ที่อยู่อาศัย อาหาร น้ำ ไฟ ส้วม สุขภาพ
การศึกษา การมีงานทำ เด็ก ผู้หญิง รวมถึงสิทธิทางประชาธิปไตย
สิทธิมนุษยชน ไม่ได้เป็นทรัพย์สมบัติของซีกโลกตะวันตก
หากมีรากเหง้ามาจากสัญชาตญาณในการต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิต
ของผู้คนจากทุกมุมโลก ตะวันตกเป็นเพียงแค่สถานที่ให้กำเนิด
คำประกาศ “ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ”
ที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
บทความยังมีอีกยาวค่ะ...ลองแวะไปอ่านตามลิงค์ข้างล่างนี้เลยค่ะ
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=651343
.....ขอบคุณที่มาของภาพและบทความ....
http://woondu.com/kibera-slum-worst-place-to-live-in-africa/
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=651343
http://pracob.blogspot.com/2010/01/toilet.html
เครดิต คุณอัภยุทย์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค